รู้จัก ซายูริ ซากาโมโต กับพรสวรรค์ธรรมชาติ ในฐานะนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดในเมืองไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7K views



           การตั้งคำถามต่อวาระสุดท้ายของโสเครติส นักปราชญ์กรีกคนสำคัญที่ต้องโทษประหารเพราะแนวคิดทางปรัชญา  ที่แม้เป็นเรื่องหนัก แต่ไม่น่าเชื่อว่ามาจากความคิดของ "ซายูริ ซากาโมโตะ" เด็กหญิงวัยเพียง 7ขวบ

          การสร้างคำถามพร้อมหาบทสรุปให้กับเรื่องราวต่างๆ จากหนังสือที่ได้อ่านหรือประสบการณ์ที่ได้เจอ แม้เป็นถ้อยคำที่ไร้เดียงสา แต่เด็กหญิงกลับมีวิธีลำดับเรื่อง ไม่ต่างจากโครงสร้างงานเขียนเรื่องสั้นของผู้ใหญ่ ซึ่งยังสะท้อนมุมมองต่อโลกตามความเป็นจริง ที่ไม่ใช่เพียงจินตนาการเลื่อนลอย พรสวรรค์และวิธีคิดที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ทำให้ไดอารีตลอด 1 ปี ที่ซายูริเขียนขึ้นผ่านโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือ “บันทึกส่วนตัวซายูริ” ในนามนักเขียนด้วยวัยเพียง 7-8 ปี 

       มารู้จักตัวตนนักเขียนน้อย กับพรสวรรค์ที่ทำทุกอย่างตามธรรมชาติและคงความมีระเบียบวินัยกันค่ะ 


 

"ซายูริ ซากาโมโตะ" เจ้าหญิงตัวน้อยแห่งสวนอักษร
 

            คุณว่าจะมีสักกี่คนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนแล้วได้เป็นนักเขียนจริง ๆ บรรทัดต่อจากนี้ไปอาจฟังดูน่าเหลือเชื่อ เมื่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ รักการขีดๆเขียนๆลงในสมุดบันทึกส่วนตัว กระทั่งวันหนึ่งแววของความเป็นนักเขียนในตัวเธอได้ส่องประกายเตะตาบรรณาธิการรุุ่นใหญ่ นำไปสู่การฝึกฝนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนสองวัย เปี่ยมด้วยมิตรภาพ ความหวัง และความสุข  
 

          เรื่องราวของเด็กหญิง "ซายูริ ซากาโมโตะ" วัย 8 ขวบ นักเขียนที่อายุน้อยที่สุดของเมืองไทยกับพ็อคเกตบุ๊กเล่มแรกในชีวิตชื่อ“บันทึกส่วนตัวซายูริ” ภายใต้การปลุกปั้นของมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2555 

 

 

 


ดาวดวงใหม่แห่งวงการน้ำหมึก

            ซายูริ ซากาโมโตะ อายุ 8 ขวบ นักเรียนชั้น ป.2 ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น ผู้กำลังจะคว้าตำแหน่งนักเขียนอายุน้อยที่สุดของไทย หลังจากพ็อคเกตบุ๊กของตัวเองเล่มแรกที่ชื่อว่า “บันทึกส่วนตัวซายูริ” กำลังจะวางแผงในเร็ว ๆ นี้ เธอเริ่มจดบันทึกตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบ เธอเล่าประวัติตัวเองผ่านสมุดบันทึกอย่างน่าสนใจว่า

          "เธอไม่ใช่ลูกครึ่ง เพราะครึ่งคือการแบ่งออกจากกันเป็นสองซีก แต่เธอไม่ได้แบ่งออก เธอเกิดจากการผสมกัน ซายูริจึงเป็นลูกผสมระหว่างแม่ที่เป็นคนไทยและพ่อที่เป็นชาวญี่ปุ่น" 

          นั่นคงเป็นเสน่ห์ของข้อความที่ชวนให้ผู้ใหญ่คิดตามไปกับความคิดอันใสซื่อและลีลาการเขียนอันไหลลื่นเป็นธรรมชาติของซายูริ ทั้งหมดมาจากความเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ 

          “หนูชอบอ่านหนังสือมากค่ะ และจดบันทึกทุกสิ่งที่อยากจะเขียน สิ่งที่ครอบครัวของหนูเบื่อหนูมากที่สุดก็คือหนูแอบอ่านหนังสือถึงตี 5 อยากอ่านหนังสือเล่มใหม่ยังไม่เคยอ่าน มันจะตื่นเต้นจนวางไม่ลงเลยค่ะ หนูชอบอ่านประวัติบุคคล เช่น อเล็กซานเดอร์ เจงกิสข่าน กับขี่ม้าได้ แต่สู้ไม่ได้เพราะดาบหนักเกินไป (หัวเราะ)” น้ำเสียงกลั้วหัวเราะ 
 

 


            จิตรดา ซากาโมโตะ คุณแม่ของซายูริหรือที่เธอเรียกว่า “โอก้า”  เล่าว่าซายูริเป็นลูกคนเดียว นิสัยร่าเริงและเป็นเด็กที่ชอบหนังสือ เธอสังเกตว่าหนังสือเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ลูกนิ่งได้ จึงพาเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ และลูกจะพกสมุดบันทึกไปทุกที่ที่ได้ไป เวลาปิดเทอมจะพาเที่ยวหาประสบการณ์ตลอด โดยจะพาลูกเที่ยวแบบลำบากไม่ให้เที่ยวแบบสบาย 
 

 

   นิสัยน่ารักๆของซายูริคือ ชอบแกล้งหลับ หลังจากพ่อแม่นอนเรียบร้อย จึงค่อยลุกขึ้นมาอ่านหนังสือ 

            “เมื่อก่อนนี้ลูกเป็นเด็กที่เวลาทำอะไรมักจะลงมือก่อนที่จะพูดออกมา เหมือนกับว่าเขาเป็นคนคิดเร็วแต่พูดไม่ทัน เขาเริ่มวาดรูปและเขียนสมุดบันทึกตังแต่เขียนหนังสือเป็นคำ ๆ ได้ แล้วก็กลายมาเป็นประโยค และเริ่มเป็นเด็กที่เรียบเรียงคำพูดออกมาได้ดีกว่าเดิม 

            ซายูริได้เสนอบันทึกของตัวเองเมื่อสำนักพิมพ์ผีเสื้อจัดโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ รุ่นแรก เมื่อปีที่แล้ว และทางสำนักพิมพ์เองให้ส่งรูปถ่ายจากเรื่องในบันทึกที่ลูกเขียน ตุลาคมเดือนเดียวกันนั่นเอง อาจารย์มกุฏ อรฤดี บก.สำนักพิมพ์ก็ติดต่อขอเจอตัวซายูริ 
 


          มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เผยว่าวันแรกที่เจอซายูริ รู้สึกได้ทันทีว่าเด็กคนนี้ไม่ธรรมดา เพราะจะมีเด็กอายุ 7 ขวบสักกี่คนที่นั่งคุยกับผู้ใหญ่วัยเกษียณได้ถึง 4 ชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่รู้สึกเบื่อ ทั้งยังช่างพูด ช่างซักถาม ชอบเขียน เลยตัดสินใจนับแต่นั้นว่าจะปลุกปั้นให้เด็กคนนี้มีหนังสือเป็นของตัวเองให้ได้ 

         "บันทึกของซายูริเป็นตัวอย่างพิเศษจากสมุดบันทึกทั้ง 1,100 เล่มในโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ รุ่นแรก ปี 2557  ถึงแม้จะมีบันทึกส่งกลับมาไม่กี่เล่ม แต่มันก็คุ้มค่า

            การเขียนบันทึกมันกระตุ้นอยากให้เด็กอ่านหนังสือ เพื่อเรียนรู้ว่าคนอื่นเขียนอย่างไรและจะเขียนอย่างไรให้ดีเหมือนเขา เราฝึกให้เด็กอ่านหนังสือมากขึ้นการเขียนทำให้เด็กอยากอ่าน เป็นการวิจัยอย่างหนึ่งที่เราพยายามรณรงค์เรื่องการอ่าน ที่ทำมาอย่างจริงจังมาแล้วกว่า 10 ปี เรากำหนดไว้ว่า บันทึกไม่ใช่การบังคับ ถ้าบันทึกเป็นการบังคับเมื่อไหร่เราก็จะไม่ได้ความจริง 
 

 


          สำหรับผมบันทึกของซายูริ มันข้ามไปมากกว่าจินตนาการ มันเป็นปรัชญา วิธีคิดและวิธีเขียนในสมุดบันทึกมันบอกอะไรที่เขียนเกี่ยวกับตัวเขาได้มากทีเดียว  ผมว่าน่าเสียดายที่ซายูริจะเติบโตขึ้นตามอายุโดยที่ไม่มีใครเห็นเลยว่าซายูริมีความสามารถพิเศษในด้านการประพันธ์ อาจจะไม่เห็นเลยก็ได้ หรือไปแสดงที่ไหนก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่สุด การมีสมุดบันทึกหนึ่งเล่มที่ให้เขาไปราคาไม่กี่บาท มันเป็นเครื่องบอกเราว่า เด็กคนนี้พิเศษจริงๆ

         ฐานะที่เราอ่านต้นฉบับมามาก เรารู้ทีเดียวว่า เด็กคนนี้มีความสามารถพิเศษในการลำดับเรื่องและจินตนาการ คิดเรื่องที่คนอื่นไม่คิด ข้อเขียนสั้นๆ ของซายูริ พอเริ่มอ่านไปๆ มันเหมือนไฮกุบทกวีของญี่ปุ่น ใช้ถ้อยคำคล้องจองสั้นกระชับมีความหมาย และจบบทสรุปทุกครั้ง

           ซายูริเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่ทราบว่าในประเทศไทยจะมีอีกกี่คน ที่แสดงให้เราเห็นว่า เด็กอายุเท่านี้คิดซับซ้อนและมีวิธีการเขียนที่เป็นนักเขียน” นั่นเป็นการค้นพบสิ่งที่ควรค่าแก่พิมพ์บันทึกของซายูริ 
 

 


บันทึกส่วนตัวซายูริ

           จากวันที่นักเขียน ป.2  ยินยอมให้สำนักพิมพ์ผีเสื้อเผยความลับในสมุดบันทึกของเธอ หลังจากนั้นเธอก็เป็นผู้สร้างสีสันและเสียงหัวเราะให้กับกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เพราะต้องเข้าออกเพื่อส่งงานเขียนและร่วมออกแบบหนังสือเล่มแรกกับอ.มกุฏหรือคุณตามกุฏ เนื้อหาบันทึกส่วนตัวของซายูริ แฝงไปด้วยอารมณ์นึกคิดที่เขียนออกมาจากหัวใจอันบริสุทธิ์ของเด็กที่เล่าเรื่องในชีวิตแต่ละวัน ทั้งตลกเฮฮา สนุกสนาน เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน เศร้า ชวนให้คิด ตั้งคำถาม และแสดงความคิดเห็นตอนท้าย

           ซายูริบอกว่า แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกว่า เขียนสิ่งที่รอบตัวที่เราอยากเล่าให้สมุดบันทึกฟัง เราจะไม่โกหกสมุดบันทึก สมุดบันทึกจะบอกความจริงกับเรา และเราจะต้องทำให้สมุดบันทึกมีตัวต 
 

 


          “เวลาจะทำให้สมุดบันทึกมีชีวิต หนูก็จะไปแอบบนห้องนอนแล้วก็จะชอบคุยกับหนังสือบันทึก แล้วก็เขียนลงไปด้วย ส่วนใหญ่จะเขียนเกี่ยวกับเรียน ไปเที่ยว ความลับบ้าง หนังที่เคยได้ดู แล้วก็เรื่องของหนูกับพ่อแม่ค่ะ อาจเขียนเฉพาะเรื่องที่เราอยากจดจำ 

           หนูมีสมุดบันทึกทั้งหมดที่บ้าน 5 เล่ม แต่ละเล่มบางครั้งก็แยกเล่มที่เขียนค่ะ หนูจะวาดภาพตามที่เราเขียนในวันนั้นด้วย วาดรูปตัวเองด้วยบางทีก็อ้วนบางทีก็ผอม (หัวเราะ) เคล็ดลับการเขียนบันทึก เราต้องเขียนสะกดให้ถูกต้อง ไม่ต้องเขียนตัวบรรจงก็ได้ ถ้าคำไหนเราเขียนไม่ถูก เราก็จะให้คุณตามกุฏ เขียนแก้ให้ค่ะ บางครั้งเราไม่รู้คุณตาก็บอกว่าเราสะกดผิด” ซายูริเผยแรงบันดาลใจงานเขียนของเธอด้วยจินตนาการ 

 

  นักเขียน 8 ขวบ เล่าว่า อยากให้ทุกคนเขียนบันทึก เพราะจะทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมกับเผยเคล็ดลับการเขียนบันทึกว่า ต้องเขียนอย่างจริงใจและมองว่าสมุดบันทึกเป็นเพื่อน เริ่มเขียนจากความจริงใจ ไม่ว่าจะเขียนเรื่องราวในอดีตหรือว่าเขียนเรื่องในปัจจุบัน 

ซายูริยังฝากถึงแฟนหนังสือของเธอว่า เมื่อได้บันทึกของเธออยู่ในมือแล้วขอให้เก็บรักษามันดีๆ ให้รู้สึกว่าหนังสือเล่มนั้นมีชีวิตเหมือนอย่างที่เธอรู้สึก

 

จากใจบรรณาธิการรุ่นปู่

        มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ.2555 กล่าวชื่นชมนักเขียนตัวน้อยว่า

เป็นนักเขียนที่มีระเบียบมาก สามารถทำต้นฉบับได้ถึง 3 ฉบับภายในหนึ่งปี ขณะต้นฉบับของผู้ใหญ่หลายคนต้องตรวจแก้หลายครั้ง เล่มหนึ่งอาจใช้เวลาหลายปี

ซายูริไม่เคยเขียนบันทึกอย่างทิ้งๆขว้าง ๆ แต่จะเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็น ความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ จินตนาการที่สวยงาม นี่คือสิ่งพิเศษของลูกศิษย์คนโปรดคนนี้ 

       “เราไม่เคยเห็นวิธีเขียนที่มันออกมาจากข้างในอย่างเป็นธรรมชาติแบบนี้ วิธีเขียนของผู้ใหญ่มักเขียนด้วยทฤษฎีต่าง หักมุมบ้าง ผูกปมบ้าง

          ถ้าจะว่าไปแล้วทฤษฎีเหล่านั้นมันอาจจะอยู่ในบันทึกซายูริทั้งหมด นั่นคือทฤษฎีของธรรมชาติ เรื่องมันเกิดอย่างไรก็เขียนไปอย่างนั้น เรื่องที่มันมีปรัชญาอย่างไรก็แสดงออกไปอย่างนั้น โดยที่ไม่มีใครสอนเขาเลย

          เขาเอาชนะนักเขียนทังสิ้นทั้งปวงในบรรดาที่ผมรู้จักนักเขียนส่วนใหญ่ทำต้นฉบับไม่ได้ขนาดนั้น สาเหตุที่ซายูริทำได้ขนาดนี้ เพราะเขามีระเบียบวินัย ไม่เคยหยุดเขียนบันทึกเลยสักวัน” 
 

 
      นอกเหนือความสามารถที่เป็นธรรมชาติแล้ว ในการตีความจากหนังสือที่อ่าน ซายูริมีความเก่งเป็นพิเศษตรงที่ว่าเขาตีความ สรุปความในหนังสือที่อ่านได้

          เช่น เมื่ออ่านประวัติโสเครติส เขาตั้งคำถามว่าความขลาดคืออะไร
          แล้วตอบว่าความขลาดคือการหลบหนีความตาย ซึ่งผู้ใหญ่ยังไม่กล้าสรุปอะไรขนาดนั้น แต่เด็ก 7 ขวบสรุปอย่างนั้นได้ นั่นแสดงว่ามีความพิเศษบางอย่างในระบบความคิดการถ่ายทอดของเขา ซึ่งถ้าไม่มีพื้นที่ให้เขาเขียนมันน่าเสียดาย 

        “ผมตัดสินใจไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่เห็นบันทึกวันแรกของเขาว่าซายูริเป็นนักเขียน เพียงแต่ว่าเราดึงความเป็นนักเขียนของเขาออกมาได้อย่างไร ข้อไหนบ้างที่ให้เขาเอาออกมา เรายังนึกไม่ออกเท่านั้นเอง

          แต่เรารู้แล้วว่าถ้าเขาเขียนอย่างนี้ได้ในหนึ่งหน้าด้วยความรู้สึกจริงๆ แล้วมันออกมาอย่างนี้ นี่มันแสดงว่าเขาเป็นนักเขียน บางวันเราอ่านเพียงสี่บรรทัด เรานั่งซึมเลย น้ำตาจะไหล มันมีอะไรบางอย่างซึ่งมันเศร้า บางครั้งมันรื่นเริงมาก เราหาไม่ได้จากนักเขียนหนึ่งคน แต่นี่มันอยู่ในเด็กที่ชื่อซายูริคนเดียว ไม่ว่าอนาคตซายูริจะเป็นอะไรแต่ผมมั่นใจว่าเขาจะเป็นนักเขียนที่ดี” คุณตามกุฏกล่าวถึงนักเขียนรุ่นหลาน  

 

 

 

 

ภาพและเนื้อหา จาก โพสต์ทูเดย์ 
เรื่อง...ศศิธร จำปาเทศ  / ภาพ...สำนักพิมพ์ผีเสื้อ

https://news.thaipbs.or.th/