portfolio: ออกแบบ แฟลตดินแดง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4.7K views



เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก


 ออกแบบ แฟลตดินแดง 
 

A PARASITE (UN) FLAT DINDAENG

นับวันพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองหลวงจะลดน้อยลง โครงการประกวด ASA International Design Competition ในหัวข้อ DENSITY | DENSE CITY ตั้งคำถามปลายเปิดว่า เราจะสามารถใช้สถาปัตยกรรมเสมือนหนึ่งเป็นเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปในใจกลางความหนาแน่นของเมือง เพื่อที่จะเบียดแทรกพื้นที่สาธารณะอย่างใหม่เข้าไปอย่างไรได้บ้าง


งานออกแบบเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณะของแฟลตดินแดง ที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อ “A PARASITE (UN) FLAT DINDAENG” ผลงานของนิสิตม.เกษตร หมวย-นิจวรีย์ จันทร์ธนวงษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 5 คว้ารางวัลชมเชย Honorable Mentions มาได้ท่ามกลางผู้แข่งขันหลากหลายประเทศ

A PARASITE (UN) FLAT DINDAENG


“แฟลตดินแดงเป็นโครงการที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อยแห่งแรกในประเทศไทย สภาพแฟลตดินแดงปัจจุบัน โดยรอบมีความเป็นเมืองมาก รู้สึกว่าแฟลตดินแดงก็เป็นคาแรคเตอร์อย่างหนึ่งของเขตดินแดง เราคิดว่าถ้าทุบแฟลตดินแดงแล้วทำอาคารสูง สิ่งต่าง ๆ บางอย่าง เรื่องของคน เรื่องของวิถีชีวิตอาจจะหายไป อันนี้เป็นสิ่งที่เริ่มมองตั้งแต่แรกที่ยังไม่ได้ดีไซน์ แค่รู้สึกว่าอยากจะเก็บอะไรตรงนี้ไว้ แต่ต้องเปลี่ยนหน้าที่ไปคืนประโยชน์ให้กับเมืองบ้าง ตอบอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับพื้นที่โดยรอบ” หมวยย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบ


หมวยเล่าให้เราฟังว่า Parasite คือการสอดแทรก ซึ่งหมายถึงการแทรกพื้นที่บางอย่างเข้าไป ก่อนหน้านี้ดินแดงเป็นพื้นที่ชานเมือง และเมื่อเมืองถูกพัฒนาขึ้นมา แฟลตจึงมีการเปลี่ยนตัวเองให้ตอบรับกับความเจริญรอบตัว “A PARASITE (UN) FLAT DINDAENG” ออกแบบให้เป็นทั้งพื้นที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สาธารณะของเมือง โดยแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไปภายในที่พักอาศัยด้วย ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

A PARASITE (UN) FLAT DINDAENG


“แฟลตดินแดงมีรูปแบบ single load corridor คือเป็นทางสัญจรทางเดียวเข้าห้องพัก ส่งผลให้แต่ละห้องพักมีลักษณะค่อนข้างยาวและไม่มีการกั้นห้อง เพราะฉะนั้นเรื่องของแสง อากาศตรงกลางห้องจะไม่ค่อยมี และด้วยความที่ไม่ได้เผื่อพื้นที่ส่วนเก็บของไว้ เลยทำให้ห้องในแฟลตดินแดงไม่ได้ถูกใช้เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางข้างล่างด้วย ปล่อยให้ใต้ถุนโล่ง และถูกนำไปใช้โดยไม่ได้วางแผนไว้”


จากห้องพักที่ยาวและลึก หมวยออกแบบให้ห้องมีขนาดสั้นลง เป็นรูปตัวแอล เพื่อให้อากาศเข้าไปถึงกลางห้อง และยังเพิ่มวอลลุ่มแบบดับเบิ้ลสเปซ รวมความเป็นส่วนตัวกับส่วนที่เป็นพื้นที่สาธารณะไว้ด้วยกัน “เรายังเก็บรักษาวัฒนธรรมหรือคาแรคเตอร์บางอย่างในพื้นที่ไว้ แต่ก็ยังให้ประโยชน์ของเมืองในการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สาธารณะ”


เป็นการนำเสนอทางเลือกใหม่ในการจัดการและพัฒนาพื้นที่ชุมชนในเมืองอีกหนทางหนึ่ง

 

ที่มา: นิตยสาร Plook ฉบับที่ 54 เดือนมิถุนายน 2015