เด็กฝึกงาน : เด็กฟิสิกส์ตะลุยเซิร์น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4.4K views



เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก


 เด็กฟิสิกส์ตะลุยเซิร์น 
 

เด็กฝึกงาน : เด็กฟิสิกส์ตะลุยเซิร์น


High School Visit Program at CERN ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ หนึ่งในโครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น (CERN: The European Organization for Nuclear Research) ภายใต้พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่องค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือ เซิร์น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน ม.ปลาย ในการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งรับการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้และพัฒนาตนเองต่อไป
 

หลงใหลในฟิสิกส์
ด้วยข้อมูลขั้นต้น “เซิร์น” จึงเป็นความใฝ่ฝันของเด็กไทยที่หลงใหลในวิชาฟิสิกส์ สำหรับ แบงค์-บรรณวิชญ์ พิมพานุวัตร จาก รร.ยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ก็เช่นกัน เขาเล่าว่า “ผมชอบฟิสิกส์อยู่แล้วครับ มีความสนใจเรื่องฟิสิกส์อนุภาคด้วยส่วนหนึ่ง เพราะในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีการวิจัยหรือไม่ค่อยมีใครรู้จัก สถาบันเซิร์นเองก็เรียกได้ว่าเป็นสถาบันวิจัยระดับโลก ก็เลยสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ”

การคัดเลือกเริ่มต้นจากการพิจารณาใบสมัครที่ระบุความสนใจในฟิสิกส์อนุภาคและเซิร์น ด่านต่อไปคือการสอบสัมภาษณ์ พลช-พลช เธียรธัญญกิจ รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม อีกหนึ่งหนุ่มนักเรียนไทยที่ผ่านการคัดเลือก เปิดเผยว่า “อย่างแรกคือไหวพริบของเรา เขาจะถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์ ด้านการวิจัยต่างๆ อย่างที่สองคือการเตรียมตัวศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเซิร์น งานวิจัยต่างๆ ที่เซิร์นทำ อย่างเรื่องเครื่องเร่งอนุภาค ทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวกับโฟโตอิเล็กทริก การเอากฎของไอน์สไตน์หรือกฎของนิวตันมาวิเคราะห์ว่าขาดอะไรไป อย่างเช่น ไอน์สไตน์กับนิวตันพูดถึงมวลแต่ไม่ได้บอกว่ามวลมาจากไหน”

ประสบการณ์จริงที่เซิร์น
8 วันที่เซิร์น แยกออกเป็น 5 วันสำหรับการเรียนรู้ภายในองค์กร “พลช” สรุปให้ฟังว่าตารางงานในตอนเช้าจะเป็นการฟังบรรยายโดยศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นการออกไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ

“เราได้ไปชม ATLAS Visitor Center โดย ATLAS คือเครื่องตรวจวัดอนุภาคเครื่องหนึ่งที่อยู่ใน LHC (Large Hadron Collider) ซึ่งเป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก วันที่สองมีเล็คเชอร์เรื่อง ‘Higgs boson and beyond’ อนุภาค Higgs boson นี้เป็นเหมือนที่มาของสสารครับ ตอนบ่ายไปเที่ยวชมสถานที่สำหรับตรวจสอบและซ่อมแซมแม่เหล็กที่ใช้งานภายในอุโมงค์ของ LHC ในวันที่สามจะเป็นการเรียนเรื่อง ‘Introduction to particle physics’ ด้านการทดลองเรื่องการทำงานของเครื่องเร่งอนุภาค จนถึงการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ต้องลงไปใต้ดินดูเครื่องตรวจวัดอนุภาค CMS

วันต่อมามีการบรรยายเรื่อง ‘Medical Physics applications of accelerators’ เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของเครื่องเล่นอนุภาคในทางการแพทย์ เป็นความพยายามหาวิธีใหม่ๆ ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งรวมถึงการวิเคราะห์โรค พอถึงช่วงบ่ายเราก็ไปเยี่ยมชม CLOUD Experiment เกี่ยวกับการศึกษาผลของอนุภาคที่มาจากอวกาศ ซึ่งมีผลต่อการก่อตัวของเมฆในชั้นบรรยากาศ วันสุดท้ายในตอนเช้าฟังเล็คเชอร์ ‘Introduction to accelerator Physics’ เป็นหลักการฟิสิกส์ที่ใช้สำหรับการสร้างเครื่องเร่งอนุภาค พูดง่ายๆ ว่าเราถ้าจะสร้างเครื่องเร่งอนุภาคขึ้นบ้างต้องทำอย่างไร” “แบงค์” เล่าเสริมอย่างละเอียด

แรงบันดาลใจในการต่อยอด
ด้วยใจรักในฟิสิกส์รวมกับประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางในครั้งนี้ ยิ่งทำให้ทั้งสองเกิดความประทับใจและแรงบันดาลใจ “พลช” เล่าว่า “ผมรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นเครื่องตรวจจับ detector CMS ของเซิร์นมากที่สุดครับ ถ้าเป็นคนที่ศึกษาเกี่ยวกับอนุภาคจะรู้ว่า CMS เป็นเครื่องตรวจจับอนุภาคที่มีชื่อเสียงมากครับ”

สำหรับ “แบงค์” เขาตั้งใจที่จะศึกษาต่อด้านฟิสิกส์อย่างจริงจัง “ผมตั้งใจจะเรียนต่อทางด้านฟิสิกส์อยู่แล้วครับ และผมเพิ่งได้ทุน พสวท.ไปเรียนต่อที่อังกฤษ เลยจะต่อยอดในด้านการเรียนของผมเอง และถ่ายทอดให้เพื่อนๆ และน้องๆ ที่สนใจครับ”


Did you know?
ปี พ.ศ. 2552 เซิร์นได้สร้างปรากฏการณ์ในการเดินเครื่องเร่งอนุภาค LHC เพื่อศึกษาถึงผลของการชนกันของลำอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ที่เป็นจุดกำเนิดของจักรวาล โดยคาดว่าจะทำให้ค้นพบอนุภาคที่เป็นที่มาของอนุภาคมูลฐานของสสารได้ อันนำไปสู่การไขความลับการกำเนิดจักรวาล

 

ที่มา: นิตยสาร Plook ฉบับที่ 44 เดือนสิงหาคม 2014