20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 8.8K views



วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ

 

เยาวชนเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะต้องปรับสภาพของตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เข้ามากระทบ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่จะปลูกความคิด อ่าน นิสัยใจคอที่ดี เนื่องจากเป็นวัยที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ง่าย เข้าทำนองที่ว่า ” ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” เด็กจะดีหรือเลวจึงขึ้นอยู่กับวัยนี้


คำว่า “เยาวชน” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่าคือ บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่เป็น ผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส นอกจากนี้ คำว่าเยาวชน ตามความหมายขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความหมายไว้คือ คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี

วันเยาวชนแห่งชาติ มีความเป็นมาสืบเนื่องจากคำประกาศขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ “Participation, Development and Peace” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ที่เยาวชนไทยทุกคนสามารถนำไปถือปฏิบัติได้ คือ

ร่วมแรงแข็งขัน (Participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องของตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส และพึงพอใจที่จะใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น ถือเป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

ช่วยกันพัฒนา (Development) คือ การพัฒนานั้นสามารถมองได้ 2 มิติ มิติแรกคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล มิติที่สองคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ และอีกด้านหนึ่งการพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย ดังนั้น กระบวนการพัฒนาทั้ง 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน เนื่องจากในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ

ใฝ่หาสันติ (Peace) สันติภาพถือเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้เกิดสันติภาพ เยาวชนทุกคนจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วนสันติ และสร้างสานึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝัง อบรมสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดทนอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพพื้นฐาน และที่สำคัญเยาวชนไทยควรกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองและประพฤติตนให้เป็นประโยชน์สุขต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ


การที่ทางราชการกำหนดวันเยาวชนแห่งชาติขึ้นมานั้น มีเป้าหมายที่สำคัญ 3 ประการด้วยกันคือ
1. เพื่อให้เยาวชนไทยในช่วงอายุระหว่าง 15-25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศ
2. เพื่อให้ประชาชนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนของชาติให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติ ทั้งในด้านคุณภาพและคุณธรรม
3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนของชาติได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสัมฤทธิ์ผล


นอกจากเป้าหมายแล้ว ยังได้กำหนดคุณสมบัติของเด็กและเยาวชนที่พึงประสงค์ ดังนี้
1. มีความผูกพันในครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีทักษะในอาชีพและการดำรงชีวิตที่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น
2. มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรงและรู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติด
3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม คุณธรรมและมีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบตามวัย
4. มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในการทำงานสุจริต
5. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
6. รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาทางราชการได้ส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนของชาติให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งปลูกฝังสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ การพัฒนาเยาวชนของชาติ จะเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย ในด้านการฝึกอาชีพ การให้งานทำ จะสามารถช่วยให้เยาวชนมีรายได้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ที่สำคัญที่สุดคงเป็นสถาบันครอบครัว ถ้าเด็กได้รับความรัก ความอบอุ่น การอบรมสั่งสอนที่ดีจากครอบครัวแล้ว ก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพต่อไปในอนาคต


ขอน้อมนำหลักธรรม 10 ประการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จากหนังสือการ์ตูนบุญเจิมกับใบตองกับการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้แก่เด็กเยาวชนสามารถนำหลักธรรมดังกล่าวมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นหนทางนำพาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทั้งของตนเองและของประเทศชาติได้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงมีหลักธรรม 10 ประการ ที่ทรงยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในการพระราชวินิจฉัยแก้ปัญหา เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์และความสุขโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีที่เยาวชนไทยควรน้อมนำมาปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป ซึ่งหลักธรรม 10 ประการ มีดังนี้

1. ทำงานอย่างผู้รู้จริงและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ การทำงานทุกอย่างเราต้องมีความรอบรู้ ถ้าไม่รู้ก็ต้องเปิดหูเปิดตาให้รอบรู้ และรอบคอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นการเป็นผู้รู้จริง ก่อนที่จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนในทุกเรื่อง ทรงศึกษาหาความรู้เป็นอันดับแรก โดยทรงค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด เมื่อพร้อมแล้วจึงค่อยลงมือทำ ดังนั้น เยาวชนไทยจะต้องฝึกหัดใฝ่หาความรู้ให้เป็นผู้รู้จริงในการทำงาน เพื่อให้ผลงานเป็นที่ยอมรับและเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย

2. มีความอดทน มุ่งมั่น ยึดธรรมะและความถูกต้อง คือ เยาวชนทุกคนควรรู้จักอดทนจนเป็นนิสัย ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเข้ามาในชีวิตทั้งทุกข์หรือสุข เราต้องเผชิญด้วยใจสงบ ไม่ตื่นเต้นหรือกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ หากเกิดปัญหาเราต้องฝึกทำจิตใจให้รู้สึกท้าทายกับปัญหานั้น เห็นปัญหาแล้วกระโดดเข้าใส่ ถือว่าท้าทายสติปัญญา อย่ากลัว

3. ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่ายและประหยัด ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เยาวชนไทยควรตระหนักอยู่เสมอ ดังเช่น ภาพยาสีฟันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านใช้จนหมดหลอด ถือเป็นต้นแบบแห่งความรู้จักประหยัดใช้ของอย่างคุ้มค่าและพอเพียงที่เยาวชนไทยควรนำมาเป็นแบบอย่าง หากเราใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เรียบง่ายและประหยัด ชีวิตเราก็จะมีแต่ความสุขในจิตใจ

4. มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก การทำงานทุกอย่างเยาวชนพึงระลึกอยู่เสมอว่าต้องมุ่งประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ และต้องร่วมแรงร่วมใจกันงานจึงจะออกมาสำเร็จ ดังเช่น ในการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์จะทรงยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตัวอย่างเช่น โครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นการดำเนินโครงการที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ก็ไม่ได้ละเลยคนส่วนน้อยที่ต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เมื่อส่วนรวมได้ประโยชน์คนส่วนรวมก็ต้องช่วยคนกลุ่มเล็กที่เสียสละอย่างเต็มที่ เมื่อทุกคนนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลักแล้ว เราก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

5. รับฟังความเห็นของผู้อื่นและเคารพความคิดที่แตกต่าง ในการทำงานทุกอย่างอาจจะมีบ้างที่ความคิดเห็นแตกต่างกัน ทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ต่างๆ จะทรงทำประชาพิจารณ์ทุกครั้งโดยวิธีการของพระองค์เป็นวิธีที่เรียบง่ายตรงไปตรงมา โดยจะทรงถามถึงความต้องการของประชาชน ความสมัครใจและให้ตกลงกันเองในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์และกลุ่มที่ต้องเสียสละ จากนั้นจะทรงเรียกผู้นำท้องถิ่นมารับทราบและดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้นโครงการ นี่แหละถือเป็นหัวใจของการทำงาน ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่ดีและประสบความสำเร็จและยังทำให้เกิดวัฒนธรรมประชาธิปไตยในชุมชนด้วย

6. มีความตั้งใจจริงและขยันมั่นเพียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมุ่งมั่นในเรื่องที่ทรงปฏิบัติมาก ทรงงานทุกวันไม่มีวันหยุด ซึ่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ โดยเฉพาะข้าราชการจึงต้องมีจิตสำนึกในการบริการ และตั้งใจปฏิบัติงานเพื่อประชาชน เยาวชนไทยก็ต้องตระหนักในหน้าที่ของตนเองด้วย เหมือนอย่างที่พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานว่าตนเองมีหน้าที่ในการเรียนหนังสือ ก็ต้องมีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียรเรียนให้จบ เพื่อเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป

7. มีความสุจริตและความกตัญญู ทรงแสดงให้ประจักษ์ในเรื่องของความกตัญญูต่อพระราชมารดา และความสุจริตต่อแผ่นดิน ทรงเตือนให้ยึดสิ่งนี้ไว้เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่ง เยาวชนไทยก็เช่นกันต้องมีความกตัญญูรู้คุณแก่บิดามารดาที่ท่านได้เลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนเราจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ จะต้องมีความสุจริตในหน้าที่การงานและต่อแผ่นดินไทยด้วย โดยไม่คดโกงและเอารัดเอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่าเรา และไม่ยึดถือประโยชน์ของตนเองเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

8. พึ่งตนเอง ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง หากเยาวชนไทยรู้จักพึ่งตนเอง และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้ ตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสอนว่า “เราต้องยืนบนขาตนเองให้ได้ ไม่ให้หกล้ม ไม่ต้องยืมของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน” ประเทศไทยของเราก็จะเข้มแข็งมีความเจริญมั่นคง

9. รักผู้อื่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรักประชาชนและทำงานเพื่อประชาชน เราเองในฐานะคนไทย ก็ควรน้อมนำหลักธรรมข้อนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการรู้จักเห็นใจคนอื่น ให้ความรักความจริงใจแก่กัน สังคมไทยของเราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

10. การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ต้องนึกถึงคนอื่นบ้าง อย่าคิดถึงแต่ตัวเอง เห็นแก่ตัวอย่างเดียวอยู่ไม่รอด ต้องรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม

เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติที่จะถึงนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนให้เยาวชนไทยทุกคนและประชาชนทั่วไป น้อมนำหลักธรรมตามรอยพระยุคลบาท 10 ประการ มาสู่การปฏิบัติ แต่ที่สำคัญที่สุดหากผู้ใหญ่น้อมนำหลักธรรมตามรอยพระยุคลบาทมาปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน เยาวชนไทยก็จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพ เท่ากับเป็นการวางรากฐานให้สังคมไทยของเราเข้มแข็งต่อไปในอนาคต


ปัจจุบันสังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับเยาวชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเยาวชนจะเป็นพลังคลื่นลูกใหม่ที่จะมาพัฒนาประเทศชาติในอนาคต แต่ทั้งนี้เด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะดีหรือเลวนั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ด้วย ที่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีและดูแลอบรมสั่งสอนเด็กให้มีคุณธรรม จริยธรรม

นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออมและประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นอกจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันทีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนา คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ ดูแล ทนุถนอม ให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งจะพาประเทศชาติให้เจริญรุงเรืองต่อไปในภายภาคหน้า


แนวทางการในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดแก่เยาวชนไว้ดังต่อไปนี้

• เยาวชนต้องการความรัก ความเข้าใจ และยอมรับความคิดเห็นที่เป็นเหตุเป็นผลหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ ควรให้โอกาสเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น และโต้แย้งได้ในสิ่งที่ถูกต้อง

• เยาวชนมีความต้องการสนุกสนานเพลิดเพลิน การได้รับการยอมรับเข้ากลุ่ม ให้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือเข้ากลุ่มตามสมควร โดยไม่เข้มงวด มีการยืดหยุ่นบ้างตามสมควร

• เยาวชนต้องการความเป็นอิสระ ในเรื่องเพศและเรื่องคนต่างเพศ ไม่ควรปิดบังเรื่องเพศ ควรสอนความรู้เรื่องเพศตามความเป็นจริงให้เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาโดยไม่ใช่สอนแบบยั่วยุ ส่วนเรื่องเพื่อนต่างเพศก็ยอมให้คบหาสมาคมถ้าไม่เป็นการเสียหายอะไร อย่างน้อยเยาวชนหญิง และชายต่างจะได้รู้จักซึ่งกันและกัน ดีกว่าให้ไปคบหากันอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ โดยที่ผู้ใหญ่ไม่รับรู้

• เยาวชนต้องการได้รับการยกย่อง ต้องการมีชื่อเสียง วัยนี้เป็นวัยที่อยากให้สังคมยอมรับหรือชมเชย ขณะเดียวกันการให้คำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องสำคัญ การแนะนำอาจจะทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็สอนด้วยวาจา ทางอ้อมก็เป็นแบบอย่างที่ดี

• เยาวชนมีอุดมคติสูง เป็นวัยที่เรียนรู้ทางทฤษฎี และยังไม่เคยออกไปประสบกับสภาพความเป็นจริง จึงละเลยมองข้ามความเป็นจริงไปบ้าง การให้เสรีภาพตามควรแก่วัย ไม่ควรปล่อยให้อิสระมากเกินไป ซึ่งเยาวชนเป็นวัยที่ทำอะไรไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ไม่จำกัดเสรีภาพมากเกินไปด้วย

• ให้เยาวชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ โดยให้รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และสิ่งใดที่เป็นส่วนที่พึงมีพึงได้

• การปลูกฝังให้เยาวชนมีความซื่อสัตย์ อบรมสั่งสอนทำตัวอย่างให้เห็น ยกย่องคนซื่อสัตย์ให้ปรากฏเหมือนกับคำที่ว่า ทำดีได้ดี เป็นต้น

• การปลูกฝังเยาวชนมีระเบียบวินัย ให้รู้จักสิทธิและหน้าที่อันชอบ โดยชักจูงให้ปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง รู้จักกฎเกณฑ์ รู้จักว่าอะไรควร อะไรไม่ควร โดยถ้าใครมีระเบียบวินัยดีก็ชมเชย ให้การยกย่อง ส่วนผู้ใดไม่ทำตามระเบียบวินัยก็ควรหาทางแก้ไข เพราะระเบียบวินัยของคนส่วนมากในปัจจุบันมักจะไม่เข้มงวด เช่น การเข้าแถวในการใช้บริการต่าง ๆ การข้ามถนนในทางข้ามที่จัดไว้ เป็นต้น

• เยาวชนต้องการแบบอย่างที่ดี เพื่อให้เยาวชนเกิดความศรัทธา และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าผู้ใหญ่ในวันนี้ดี ก็คงจะช่วยให้เยาวชนได้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้าได้

• การปลูกฝังเยาวชนให้รู้จักช่วยตัวเอง ผู้ใหญ่ควรจะช่วยในสิ่งที่ควรช่วย โดยการแนะแนวทางในบางสิ่งบางอย่างที่เยาวชนสามารถทำได้เอง เพื่อเป็นการสอนให้รู้จักช่วยตัวเองหรือรับผิดชอบตัวเองในวันข้างหน้า

• การส่งเสริมให้เยาวชนใช้สติปัญญา ความสามารถอย่างถูกต้อง โดยไม่ให้เยาวชนตกเป็น เครื่องมือของผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ ให้เยาวชนใช้พลังความสามารถในทางที่ถูกที่ควร

• การสอนให้เยาวชนรู้จักการประหยัด โดยการให้ใช้เงิน หรือทรัพยากรในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเหมาะสม ไม่ส่งเสริมให้นิยมความฟุ้งเฟ้อ หรือเห่อเหิม อันจะเป็นผลเสียต่อตัวเองและชาติในที่สุด


การพัฒนาเยาวชนของชาติเริ่มจากสถาบันครอบครัว ซึ่งผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจเอาใจใส่ดูแล ทะนุถนอมให้ความรักและความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้อง ก็จะมีส่วนในการนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม เพื่อเยาวชนไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะได้เป็นผู้นำที่ดีในการนำพาประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า


ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ
ข้อ 1. เด็กและเยาวชนพึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคมทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม

ข้อ 2. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษอันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน

ข้อ 3. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้มีชื่อ และมีสัญชาติ แต่กำเนิด

ข้อ 4. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความมั่นคงทางสังคม และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็กควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ และภายหลังเมื่อคลอดแล้วโดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย

ข้อ 5. เด็กและเยาวชนที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึงการดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ

ข้อ 6. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความรัก และความเข้าใจอันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา มารดาของเด็กเอง และในทุกกรณีเด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบคร้ว หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่าง ๆ

ข้อ 7. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่ว ๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่น ๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับควาาามสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย

ข้อ 8. เด็กและเยาวชนจะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี

ข้อ 9. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใดจะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใด ๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาติเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาาจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง

ข้อ 10. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยกไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใด ๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา " ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่าง ๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพลกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"


กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ
1. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ
2. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ

ที่มา https://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=654