Classroom : The Best Lecture ปราดเปรื่องเรื่องจด (ตอนจบ)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4.8K views





หลังจากตอนที่แล้วครูป๊อปได้นำทุกคนสร้างบรรยากาศการจดกันแล้ว (อ่านย้อนหลังได้ที่...) เป็นที่รับรู้กันว่าการจดเป็นเพียงการสร้างหลักฐานให้กับข้อมูลชุดหนึ่งที่เราสั่งจากจิตใต้สำนึกว่ามันจำไม่ไหว ดังนั้นเราควรมีเทคนิคการจดที่สนุกเพื่อให้จดจำเนื้อหาได้มากขึ้น มาต่อกันเลยครับ


เราต้องแยกคำว่า “การจด” กับ “การลอก” ออกจากกันให้ได้ก่อน การลอกคือการบันทึกทุกอย่างที่ขวางหน้า จากสไลด์ จาก powerpoint หรือคำพูดแบบเป๊ะ ๆ ของผู้บรรยาย การลอกเป็นเพียงการจดเพื่อสื่อให้รู้ว่าคนบรรยายเอาอะไรมาให้เรา (give) ซึ่งตรงนี้แหละที่เราจะเบื่อและจำไม่ได้เพราะมันไม่มี “ตัวเราอยู่” แต่ “การจด” คือการบันทึกการเรียนรู้ หรือสภาวะ “การได้รับ” (get) เข้ามาในตัวเรา ดังนั้นการจดที่มีประสิทธิภาพพอในขณะจดจะช่วยพัฒนาปัญญาขึ้นมาด้วย เป็นความอิ่มเอมราวกับได้ค้นพบอะไรบางอย่าง ซึ่งตรงนี้จะทำให้เราหลั่งสารความสุขออกมาด้วย


The Best Lecture มีเทคนิค 6 ข้อ ดังนี้ครับ

1. ไม่ควรจดด้วยตัวอักษรสีและขนาดเดียวกันเป็นพืด ๆ ให้จดแยกเป็นประเด็น เป็นข้อ ๆ และเป็นข้อย่อย ๆ โดยใช้หนึ่งสีต่อหนึ่งประเด็น ถ้าคิดว่าตรงไหนต้องการเน้นย่้า ให้เขียนอักษรตัวโต ๆ แทนการขีดเส้นใต้หรือไฮไลท์

2. หากสมองของเราประมวลได้เร็ว ให้จดออกแบบเป็นแผนภาพ เป็นตาราง เป็นซีก ๆ ซ้าย ขวา บน ล่าง เพราะมันคือการ สร้างระบบและจัดประเภทข้อมูลไปในตัว

3. ใช้ภาพสัญลักษณ์ช่วย ไม่ว่าจะเป็น emoji สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม ดาว ฯลฯ ด้วยสีที่แตกต่างเพื่อให้สะดุดตา

4. อาจแยกเรื่องที่ลอกอยู่ด้านซ้ายมือ และเรื่องที่จดอยู่ด้านขวามือ เพื่อให้จำแนกว่าผู้บรรยาย give อะไรแล้วเรา get อะไร

5. Post-it เอาไว้ใช้เฉพาะกรณีที่เรายังคิดไม่ออกว่าเรื่องที่ฟังมาเก่ียวอะไร เราก็จดใส่แปะไว้ก่อน หรือในกรณีที่เราต้องการเน้นว่า อย่าลืมนะ เขียนโน้ตตัวโต ๆ แล้วแปะไว้ นอกจากนี้คุณครูหรือผู้บรรยายบางคนชอบแฝงไว้ด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต เราก็ควรจดด้วยกระดาษแผ่นใหม่่หรือใน Post-it ก็ได้

6. เราอาจจะแยกเป็นการจดเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว (ก็ต้องจด เพราะเอาเข้าจริงเรื่องที่รู้ อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่ใช่ความจำระยะยาว) กับเรื่องที่ยังไม่รู้ และเรื่องที่ต้องศึกษาเพิมเติม

แค่เราเปลี่ยนวิธีการจดใหม่ ชีวิตการเรียนและการเรียนรู้ก็ต่างออกไปจากเดิม เพราะการจดที่มี "ตัวเอง” อยู่ในนั้นคือการสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าของตัวเอง


เรื่องโดย : ณัทธนัทธ์ เลี่ยวไพโรจน์
“ครูป๊อป” ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาความรู้สังคมศึกษา “ครูป๊อป” มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการสอนสังคมศึกษา (Pedagogy in Social Studies Teaching) และมีความสนใจด้านปรัชญาสังคม การเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา สามารถร่วมชั้นเรียนวิชาสังคมกับครูป๊อป ในรายการสอนศาสตร์ ทรูวิชั่นส์ 6
ภาพประกอบ : https://pixabay.com/th/ 
ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 53 เดือนพฤษภาคม 2558