รู้รอบโลก ตอน ศาลโลก ตัวแทนแห่งสันติภาพบนโลกใบนี้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 5.2K views



เรื่อง: ญดา สัตตะรุจาวงษ์  ภาพประกอบ: อาภารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ


ศาลโลก

ตัวแทนแห่งสันติภาพบนโลกใบนี้
 

ในโลกใบเล็กที่หมายถึงบ้านและโรงเรียน หากเกิดความขัดใจระหว่างเพื่อนหรือพี่น้อง อาจต้องใช้คนกลางช่วยเคลียร์ให้เรื่องจบด้วยดี ส่วนความขัดแย้งในโลกภายนอก ถ้าตกลงกันเองไม่ได้ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคือตำรวจและศาล ก็จะทำหน้าที่ชำระความไกล่เกลี่ย หรือตัดสินลงโทษฝ่ายที่กระทำผิด แต่ถ้าความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างคนต่อคน แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ ศาลยุติธรรมนานาชาติ หรือ ศาลโลก จะออกโรงเป็นคนกลางผู้หยิบยื่นความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย


ในประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ สงครามมักเกิดขึ้นมาจากความไม่มั่นคงในชาติและความไม่เชื่อใจระหว่างสองประเทศ ยิ่งถ้าหากไม่มีคนกลางเข้าระงับเหตุการณ์ ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็มักนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง กว่าจะเคลียร์กันรู้เรื่องก็ภายหลังการทำสนธิสัญญาสงบศึก เรียกว่าแพ้หมดท่ากันไปข้างหนึ่ง แต่เดิมผู้ที่จะมาทำหน้าที่คนกลางคือชาติเป็นกลางในสงคราม แต่เนื่องจากรบกันบ่อยครั้งจนหาประเทศที่เป็นกลางได้ยาก หลังการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมีการก่อตั้งองค์การกลางด้านยุติธรรมเพื่อจัดการเรื่องต่างๆ ระหว่างประเทศ ในที่สุด อนุญาโตตุลาการโลก และศาลโลก จึงกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2489 มีฐานะเป็นองค์กรหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ

 

ศาลโลก (International Court of Justice) มีหน้าที่ตัดสินเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่อาจถูกยื่นฟ้องมาโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือเป็นความขัดแย้งที่องค์การสหประชาชาติเป็นคนกลางเสนอให้มีการตัดสิน เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ในปัจจุบันความขัดแย้งที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทส่วนใหญ่ยังเป็นประเด็นเกี่ยวกับดินแดนและน่านน้ำ เพราะต่างคนต่างถือสิทธิเหนือพื้นที่นั้นๆ ภาระหนักจึงตกมาที่ศาลโลก ที่จะต้องพิจารณาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และส่วนมากจะเสนอให้ทั้งสองประเทศเปิดการเจรจาเพื่อหาขอยุติระหว่างกันอย่างสันติ

 

กรณีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นความขัดแย้งตกทอดจากยุคอาณานิคมระหว่างไทยกับกัมพูชา เกิดจากประเด็นการระบุเขตแดนในเอกสารกับแผนที่ไม่ตรงกัน ทำให้แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ โดยศาลโลกได้รับฟังคำชี้แจงของทั้งสองประเทศ และอยู่ในขั้นตอน “Pending Case” หรือคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล สามารถติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของศาลโลก ที่ www.icj-cij.org/docket/index.php?p1=3&p2=1&code=&case=151&k=89 ซึ่งนอกจากนี้ยังมีข้อมูลการตัดสินคดีประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศอื่นๆ รวบรวมเอาไว้ ตัวอย่างเช่น การตัดสินให้ออสเตรเลียกับอินโดนีเซียมีสิทธิเท่าเทียมกันในการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในช่องติมอร์ ที่เป็นอาณาบริเวณทะเลระหว่างติมอร์ตะวันออกกับออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2538

 

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาควรเป็นบทเรียนราคาแพงของมนุษยชาติว่าการใช้ความรุนแรงไม่ได้ช่วยยุติปัญหาได้ ศาลโลกเป็นจึงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างยุติธรรม การเจรจา กระบวนการทางการทูต และการร่วมมือกันพัฒนาเท่านั้นที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติบนโลก

 



คลิป YouTube แปลไทย เกี่ยวกับกรณีพิพาทไทย-กัมพูชา
www.trueplookpanya.com/true/knowledge_youtube.php?youtube_id=713

 

 ที่มา : นิตยสาร pook ฉบับที่ 31 เดือนกรกฏาคม 2556