สมัยอยุธยา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 19.3K views



สมัยอยุธยา ตอน 1
สมัยอยุธยา ตอน 2
สมัยอยุธยา ตอน 3
สมัยอยุธยา ตอน 4

กรุงศรีอยุธยาสภาปนาขึ้นโดยพระรามาธิปดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.1893 และถูกทำลายโดยกองทัพพม่า ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 อยุธยาเป็นเมืองหลวงของสยามเป็นเวลานานถึง 417 ปี มีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 34 พระองค์ โดยมาจาก 5 ราชวงศ์ คือ อู่ทอง สุพรรณบุรี สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพลูหลวง อยุธยามีพุทธศาสนาแบบหินยาน เป็นศาสนาประจำอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเชื่อด้านวิญญาณนิยม และพุทธศาสนาแบบมหายานอยู่ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของอยุธยานั้น ยังใช้พิธีกรรมที่เป็นฮินดูและพราหมณ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างอำนาคลึความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการผสมระหว่างหลักของความเชื่อเรื่อง “ธรรมราชา” ตามแนวของพุทธศาสนาและหลักของ “เทวราชา” ตามแนวของฮินดูและพราหมณ์

ในเรื่องของการปกครองนั้น อาณาจักรอยุธยาใช้ระบบ “ศักดินา” เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ซึ่งมีการแบ่งชั้นของเจ้า – ขุนนาง – พระสงฆ์ – ราษฏร ออกเป็นหมวดหมู่และชนชั้นอย่างชัดเจนว่าเป็น “ผู้ปกครอง” และผู้อยู่ใต้การปกครอง” นอกจากนี้ก็ยังมีการเกณฑ์แรงงาน “ไพร่” (ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไป) และการเก็บภาษีอากรในรูปที่เรียกว่า “ส่วย” อันหมายถึงผลิตผลและตัวเงินและในด้านการค้ากับต่างประเทศนั้น พระเจ้าแผ่นดินทรงผูกขาดการค้าในรูปของกิจกรรมของ “พระคลังสินค้า”

อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบป้องกันข้าศึก อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสถาพภูมิศาสตร์คือตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน คือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบป้องกันศัตรู มีกำแพงรอบเกาะยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ปัจจุบันกำแพงนี้ถูกทำลายลงราบกลายเป็นถนนรอบเกาะ อยุธยาเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเพาะปลูกข้าว และยังอยู่ใกล้ทะเลพอสมควร ทำให้สามารถทำการค้าต่างประเทศได้โดยสะดวก ดังนั้นอยุธยา จึงมีลักษณะผสมผสานของการเป็นอาณาจักรในแผ่นดิน (ควบคุมการเกษตร) และอาณาจักรทางทะเล (ควบคุมการค้าทางทะเล)

ดินแดนที่กลายมาเป็นที่ตั้งของอาณาจักรอยุธยานั้น เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง นักวิชาการถือกันว่าอยู่ในกลุ่มของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3.5 เมตร โดยที่ตอนล่างสุดต่อกับดินดอนสามเหลี่มปากแม่น้ำใหม่ คือ บริเวณที่อยู่ติดทะเล ดังนั้นดินแดนนี้ก็เป็นที่ราบกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งถูกขนาบด้วยที่ราบสูงโคราชทางด้านตะวันออก และทิวเขาตะนาวศรีทางตะวันตก และมีภูเขาสูงอยู่ทางภาคเหนือ

สภาพทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ ทำให้แม่น้ำสำคัญหลายสายที่ได้รับน้ำจำนวนมากจากฤดูมรสุม นำน้ำฝนที่ตกมาและไหลเหนือลงสู่ใต้ ไปออกปากอ่าวไทย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา สร้างเขื่อนต่างๆ เพื่อกักน้ำ แม่น้ำเหล่านี้จะนำน้ำไหลบ่าท่วมท้นที่ราบภาคกลางในเขตลุ่มเจ้าพระยา และนำปุ๋ยธรรมชาติลงมาทำให้เหมาะสมอย่างยิ่งกับประชากรจำนวนมากๆ และฐานทางการเกษตรนี้เอง ที่ทำให้การก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาสำเร็จขึ้นมาได้ในที่สุด

ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าอยุธยาตั้งอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 90 กิโลเมตร ทางตอนบนของอ่าวไทย ซึ่งทำให้ดูประหนึ่งว่าอยุธยานั้นห่างไกลจากเส้นทางเดินเรือทะเลของนานาชาติ แต่จากหลักฐานคำให้การของชาวกรุงเก่า ปรากฏว่าการค้าทางทะเลของราชสำนักอยุธยา ทำรายได้ประมาณปีละ 400,000 บาท หรือ เทียบเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินรายได้ 1,500,00 บาท เมื่อพุทธศตวรรษที่ 23

เรือกำปั่นฝรั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา นอกจากนี้ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่มาถึงประเทศสยามเมื่อ ปี พ.ศ.2230 ได้กล่าวไว้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงเป็น “พ่อค้าใหญ่” ด้วยดังนั้นการค้าขายทางทะเลจึงนับได้ว่าเป็นรายได้หลักของราชสำนักอยุธยา การค้าทางทะเลทำให้ราชสำนักมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่หรูหราได้ กล่าวได้ว่าอยุธยานอกจากจะเป็นเมืองหลวงแล้ว ก็ยังเป็นเมืองท่าอีกด้วย

ท่าเรือพาณิชย์ของอยุธยามีลักษณะเป็นท่าเรือนานาชาติคือ เป็นศูนย์กลางในการรวมผลิตภัณฑ์ ซึ่งตามปกติจะกระจายกันอยู่ตามแหล่งต่างๆที่อยู่ในดินแดนที่ลึกเข้าไปในแผ่นดินทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก การที่กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ตรงบริเวณที่แม่น้ำทั้งสามสายมาบรรจบกัน กล่าวคือแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลโค้งมาทางตะวันตก แล้ววกอ้อมเกาะเมืองมาจนถึงด้านตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นแม่น้ำที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นแม่น้ำสายใหญ่ และเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของไทยมาเป็นเวลานาน ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากภาคเหนือจะล่องผ่านแม่น้ำสายนี้มาถึงราชธานี

ด้วยเหตุนี้ อยุธยาจึงเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ นำสินค้าและของป่าจากดินแดนทางตอนเหนือ และดินแดนด้านตะวันออก (เฉียงเหนือ) นำมารวมไว้เพื่อส่งเป็นสินค้าออกด้วยระบบของ “พระคลังสินค้า” ซึ่งเมื่อผนวกกับความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและดินแล้ว อยุธยาจึงกลายเป็นอาณาจักรโบราณที่มัความมั่งคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ทั้งยังมีอำนาจทางการเมืองและการทหารอีกด้วยในสมัยตอนปลายของอยุธยา น่าเชื่อว่าประชากรของเมืองหลวงมีจำนวน 190,000 คน และประชากรทั้งสยามประเทศน่าจะมีไม่เกิน 2,000,00 เท่านั้นเองซึ่งก็เป็นลักษณะปกติธรรมดาของประเทศและอาณาจักรทั่วไปในดินแดนแถบนี้ที่มีจำนวนประชากรต่ำหากจะเปรียบเทียบกับพื้นที่อันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์

มีบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาว่า อยุธยามีกำแพงและป้อมปืนตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญ 22 ป้อม ประตูทั้งหมด 99 ประตูนั้น เป็นประตูบกถึง 18 ประตู ช่องกุด 61 ช่อง และประตูน้ำ 20 ประตู ถนนและคลองตัดขึ้นไปตามแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้ เป็นเครือข่ายการคมนาคมในเมือง ผ่านพระบรมมหาราชวังย่านการค้า สถานที่ราชการที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ต่างตั้งอยู่อย่างเป็นระบบและสัดส่วน มีตลาดบกเรียงรายอยู่สองฟากถนนในกำแพงเมืองกว่า 40 แห่ง และนอกเมืองกว่า 30 แห่ง และเนื่องจากเป็นเมืองท่าค้าขายนานาชาติ จึงมีตลาดน้ำขนาดใหญ่อยู่ถึง 4 แห่ง และตลาดน้ำขนาดย่อมอีกมากมายทั้งสองฝั่งของแม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนสลับกับวัดวาอารามอย่างต่อเนื่อง ถัดออกไปคือผืนนากว้างใหญ่

ส่วนพื้นที่นอกเมืองทางทิศใต้ เป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ มีคลังสินค้า และเรือสินค้าของชาติต่างๆจอดแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างหนาแน่น ความรุ่งเรืองของอยุธยามีหลักฐานปรากฏให้เห็นไม่ว่าจะเป็นระเบียงผังเมือง ซากวัดและวัง ตลอดจนคติความเชื่อในด้านต่างๆ ก่อนจะล่มสลายไป และได้รับการสืบมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในบางด้านโดยกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ

ปัจจุบัน ราชธานีของราชอาณาจักรอยุธยานั้น อยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ห่างจากกรุงเทพฯไปทางเหนือ 76 กิโลเมตร ยังคงปรากฏร่องรอยซากโบราณสถาน ที่บ่งบอกถึงอารยธรรมและความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา จนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ.2534

ที่มา https://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/content/view/15/32/