สี สี สี ดีกับชีวิต กำหนดรสนิยม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 9.4K views



E-book.jpg

 

 

åใบความรู้

รายวิชา ศ 32102 ศิลปะ 2                                                                          ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3   เรื่อง ทฤษฎีสี                                                           20  คาบ

 

สีคืออะไร

              คำว่า “สี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความไว้ว่า “ลักษณะความเข้มของแสงที่เข้ามากระทบสายตาของเรา  ทำให้เรามองเห็นสีต่างๆ การที่เรามองเห็นวัตถุเป็นสีต่างๆได้ก็เนื่องจากว่าวัตถุนั้นๆ สะท้อนแสงออกมา หรือจะกล่าวให้เข้าใจยิ่งขึ้นนั่นหมายความว่าสีที่เรามองเห็นนั้นเป็นสีแสงที่ออกมาจากวัตถุหรือสีของวัตถุกับสีแสงจากที่อื่นมากระทบวัตถุแล้วสะท้อนแสงออกมาเข้าตาเรา”

              สิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้นับตั้งแต่สิ่งมีชีวิต  สิ่งที่ไม่มีชีวิต  สิ่งที่มองเห็นและสิ่งที่มองไม่เห็น ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเองตามวิสัยของโลก ซึ่งเรารียกว่า “ธรรมชาติ” และสิ่งหนึ่งที่เราเรียกว่า แสงจะทำให้มองเห็นเป็นสีสันต่างๆ สีมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์

             นักปราชญ์ทางศิลปะค้นพบว่าสีต่างๆ ที่มองเห็นตามธรรมชาตินี้ย่อมมีบ่อเกิดมาจากการผสมสีต่างๆ โดยสามารถจำแนกตามลักษณะของการใช้งานประเภทใหญ่ๆได้ดังนี้

1. สีช่างเขียน

2. สีวิทยาศาสตร์

3. สีจิตวิทยา

1. สีช่างเขียน  คำว่าช่างเขียน หมายถึงผู้สร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ เช่น ช่างเขียนภาพที่เกี่ยวกับศิลปะการค้า ได้แก่ ภาพโฆษณา  ภาพประกอบเรื่องราว ฯลฯ สีของช่างเขียนนี้นักเคมีได้เป็นผู้กำหนดชื่อเรียกว่า แม่สีวัตถุธาตุ มี 3 สีได้แก่  แดง  เหลือง  น้ำเงิน 

 

2. สีวิทยาศาสตร์  นักฟิสิกส์ได้กำหนดขึ้นและนำไปใช้ประโยชน์ตามเทคนิควิธีการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ในวงการทางศิลปะและการแสดงละครก็ยังได้นำสีนี้ไปใช้ประกอบการแสดง เพราะเป็นสีที่มีการผสมผสานกันด้วยแสง สีที่เกิดขึ้นเหมือนจริงตามธรรมชาติสีนี้เรียกว่า “แม่สีวิทยาศาสตร์” ได้แก่สีส้ม  สีม่วง  สีเขียว

 

3. สีจิตวิทยา  นักจิตวิทยาได้กำหนดขึ้นเป็นสีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์  มีด้วยกัน4 สีเรียกว่าแม่สีจิตวิทยาได้แก่ แดง  เหลือง  น้ำเงิน  เขียว คนทั่วไปมักจะรู้สึกชอบสีหนึ่งมากกว่าอีกสีหนึ่ง  ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเคยชินในสภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็ก  จึงทำให้ชอบสีนั้นๆเป็นพิเศษ  และทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆได้ นอกจากนี้ สียังทำให้เกิดความรู้สึกในด้านของขนาด  น้ำหนัก ความแข็งแรง อุญหภูมิ และความสะอาดเช่น

 

ด้านขนาด

  1. สีอ่อน ทำให้รู้สึกกว้าง และใหญ่ขึ้น
  2. สีเข้ม ทำให้รู้สึกแคบ และเล็กลง

ด้านน้ำหนัก

               1.    สีอ่อน สีเย็น ทำให้รู้สึกเบา

               2.    สีเข้ม สีร้อน ทำให้รู้สึกหนัก

ด้านความแข็งแรง

               1.    สีร้อนทำให้รู้สึกแข็งแรงขึ้น

               2.    สีเย็นทำให้รู้สึกแข็งแรงน้อยลง

ด้านอุณหภูมิ

               1.    สีร้อน ทำให้รู้สึกเร้าร้อน ไม่สบายใจ

               2.    สีเย็น  ทำให้รู้สึกเย็น สบายใจ

ด้านความสะอาด

               1.    สีอ่อน เช่น  สีขาว  สีเหลือง  สีเขียวเหลือง  ซึ่งนิยมใช้กับเครื่องมือรักษาความสะอาด

สีวัตถุธาตุ

                นักปราชณ์ทางศิลปะได้จัดหมวดหมู่ของสีไว้อย่างเป็นระเบียบและได้ค้นพบว่าในบรรดาสีทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีบ่อเกิดมาจากการผสมสีเพียง 3 สี จึงเรียกว่า “แม่สี” หรือ “ สีขั้นที่ 1” ที่เรียกว่าแม่สีนั้นหมายถึง สีที่ได้จากธรรมชาติเป็นสีที่นำมาผสมกันในจานสีได้  และจากการผสมของแม่สี และสีขั้นที่ 1 นี้ จะได้เป็นสีขั้นที่ 2 จำนวน 3 สี และจากการผสมสีของสีขั้นที่ 1 กับสีขั้นที่ 2 จะได้สีขั้นที่ 3 อีก 6 สี รวมทั้งหมด 12 สี

สีขั้นที่ 1

               สีขั้นที่ 1ได้แก่ แม่สีวัตถุธาตุ มี สีเหลือง  สีแดง  สีน้ำเงิน หากนำสีวัตถุธาตุทั้ง 3 สี ในปริมาณที่เท่ากันมาผสมเข้าด้วยกันก็จะเกิดเป็น สีกลาง ซึ่งแยกไม่ออกว่าเป็นสีอะไร

 

สีขั้นที่ 2

               สีขั้นที่ 2 เป็นการนำสีขั้นที่ 1หรือแม่สีมาผสมกันที่ละคู่ในปริมาณที่เท่ากัน จนครบทุกสีจะได้สีเกิดใหม่อีก 3 สีคือ

               สีเหลือง      ผสมกับ    สีแดง      จะได้   สีส้ม

               สีแดง          ผสมกับ    สีน้ำเงิน   จะได้   สีม่วง             

               สีน้ำเงิน      ผสมกับ    สีเหลือง   จะได้   สีเขียว

 

สีขั้นที่ 3

               เป็นการนำเอาสีขั้นที่ 1 หรือแม่สีมาผสมกันในปริมาณที่ไม่เท่ากันประมาณ70:30 จะได้สีที่เกิดขึ้นใหม่ 6 สี คือ

              สีเหลือง   70%    ผสมกับ        สีน้ำเงิน    30%    จะได้        สีเขียวเหลือง

              สีเหลือง   70%    ผสมกับ        สีแดง        30%    จะได้        สีส้มเหลือง

              สีแดง       70%    ผสมกับ        สีเหลือง    30%    จะได้        สีส้มแดง

              สีแดง       70%    ผสมกับ        สีน้ำเงิน    30%     จะได้        สีม่วงแดง

              สีน้ำเงิน    70%    ผสมกับ        สีแดง       30%     จะได้        สีม่วงน้ำเงิน

              สีน้ำเงิน    70%    ผสมกับ        สีเหลือง   30%     จะได้        สีเขียวน้ำเงิน

 

              จากการผสมของแม่สีวัตถุธาตุ  สีขั้นที่ 1  สีขั้นที่ 2 และสีขั้นที่ 3 ทำให้เกิดสีทั้งหมด  12 สี  นักปราชญ์ทางทฤษฎีสี ได้นำสีเหล่านี้ มาจัดเรียงลำดับสีอ่อน-แก่ให้สอดคล้องกับลักษณะของสีตามธรรมชาติ  ในรูปแบบของวงกลม เรียกว่า “วงจรสีธรรมชาติ” (colour  wheel) ถ้าเรียงลำดับน้ำหนักสีจากสีอ่อนไปก็จะได้ดังนี้

          เหลือง   เขียวเหลือง   เขียว   เขียวน้ำเงิน  น้ำเงิน   ม่วงน้ำเงิน   ม่วง   ม่วงแดง   แดง   ส้มแดง   ส้ม   ส้มเหลือง  

 

 

 

 

 

       

และจากวงจรสีธรรมชาตินี้  เราสามารถแบ่งสีออกเป็น 2 วรรณะคือ

          

 

 

 

 

  1.  วรรณะร้อน( warm  tone)  ประกอบด้วยสีเหลือง  ส้มเหลือง  ส้ม  ส้มแดง  แดง  ม่วงแดง                   ม่วง

 

       

 

 

 

    2.  วรรณะเย็น(cool  tone)  ประกอบด้วยสีเหลือง  เขียวเหลือง  เขียว  เขียวน้ำเงิน  น้ำเงิน  ม่วงน้ำเงิน  ม่วง

 

          เราจะสังเกตได้ว่าสีเหลืองและสีม่วงจะอยู่ทั้งสองวรรณะเพราะสีทั้งสองสามารถให้ความรู้สึกในการมองเห็นได้ทั้งร้อนและเย็นจึงสามรถจัดอยู่ได้ทั้งสองวรรณะ

กลุ่มสีร้อนสีเย็นที่ไม่อยู่ในวงสี

          สีร้อนสีเย็นอาจไม่ใช่สีสดๆที่อยู่ในวงสีก็ได้เพราะสีในธรรมชาติจริงๆแล้วย่อมมีสีที่อ่อนแก่แตกต่างจากวงสีอีกมากถ้าหากสีใดค่อนไปทางสีแดงหรือมีส่วนผสมของสีต่างๆในวรรณะร้อนเป็นส่วนใหญ่ก็จัดเป็นสีร้อนเช่นสีน้ำตาล  สีเทาอมแดง  สีชมพู  ทำนองเดียวกันถ้าหากสีใดค่อนไปทางสีน้ำเงิน  สีเขียว  หรือสีที่มีส่วนผสมของสีต่างๆในวงสีที่เป็นสีเย็นเป็นส่วนใหญ่  ก็จัดให้สีเหล่านั้นเป็นสีเย็นเช่นสีเทาอมเขียว  สีเทาอมน้ำเงิน  สีเขียวเข้ม  สีฟ้า  เป็นต้น

         ส่วนสีขาวบริสุทธิ์และสีดำบริสุทธิ์ที่ไม่มีสีร้อนสีเย็นผสมอยู่เลยไม่จัดอยู่ในกลุ่มของวรรณะร้อนและวรรณะเย็น

หลักการใช้สีวรรณะร้อนและวรรณะเย็น

         การใช้สีวรรณะร้อนและสีวรรณะเย็น เพียงอย่างเดียวย่อมทำได้หากความจำเป็น  แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อได้  ศิลปินและนักออกแบบมักใช้ทั้งสีวรรณะร้อนและสีวรรณะเย็นในสัดส่วนที่เหมาะสม ละไม่ใช้สีวรรณะร้อนและวรรณะเย็นอย่างละเท่าๆกันเพราะจะทำให้ดูตัดกันอย่างรุนแรง

หากเราใช้สีส่วนรวมหรือสีหลักเป็นสีเย็นควรใช้สีร้อนเป็นสีรองเพียงบางส่วน   ในทางกลับกันหากใช้สีหลักเป็นสีร้อนก็ควรใช้สีเย็นเป็นสีรอง   โดยทั่วไปจะนิยมใช้ในอัตราส่วนสีหลักต่อสีรองประมาณ 75% ต่อ 25%  เพราะในธรรมชาติย่อมมีทั้งสีร้อนและสีเย็นประกอบกัน  ในธรรมชาติรอบตัวจะพบสีสันมากมายทั้งสีร้อนและสีเย็น   ศิลปินได้ถ่ายทอดความงามในสีสันของธรรมชาติลงบนงานจิตรกรรมซึ่งสามารถกำหนดสอดแทรกความงามวิจิตรลงไปในผลงานมากกว่าภาพถ่ายอารมณ์และความรู้สึกของศิลปินจาถูกถ่ายทอดลงในผลงานทั้งความสดชื่น  สงบเย็น  หรือร้อนแรง

ค่าสี

           ค่าสี(value) หมายถึงความอ่อนแก่ของสีซึ่งสามารถแบ่งเป็นระดับความเข้มมากน้อยต่างกันตามลักษณะของผลงาน เช่น ถ้าค่าของสีมีน้ำหนักต่างกันมากก็จะเหมาะกับผลงานที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวล   สงบเป็นต้น  นอกจากนี้การนำค่าของสีมาใช้กับงานออกแบบยังช่วยสร้างมิติให้เกิดขึ้นในลวดลายได้เป็นอย่างดี  ในทางปฏิบัติจะใช้สีดำ  ขาว  หรือเทาผสมกับสีแท้ (Hue) สีใดสีหนึ่งทำให้เกิดค่าน้ำหนักตามที่ต้องการซึ่งทำให้สีหม่นลงโดยมีชื่อเรียกดังนี้

          Tint  หมายถึง  สีแท้ทั้ง  12  สีที่ผสมด้วยสีขาว  ทำให้ผลงานดูนุ่มนวล  อ่อนหวานสบายตา

          Tone หมายถึง  สีแท้ทั้ง  12  สีที่ผสมด้วยสีเทา  ทำให้ความเข้มของสีลดลงให้ความรู้สึกที่สงบ  ราบเรียบ

          Shade  หมายถึง  สีแท้ทั้ง 12  สีที่ผสมด้วยสีดำ  ทำให้ความเข้มของสีลดความสดใสลง  ให้ความรู้สึกขรึม  ลึกลับ

 

ความเข้มของสี  ( Intensity)

          หมายถึงสีแท้หรือสีบริสุทธิ์ที่แสดงถึงความเด่นชัดความสดใสเปล่งประกายออกมาอย่างชัดเจนมากกว่าสีอื่นๆ ที่อยู่ล้อมรอบซึ่งสีบริสุทธิ์ดังกล่าวจะมีความสดใสมากหากสีนั้นอยู่ท่ามกลางสีหม่น  นักออกแบบสามารถใช้การเน้นความสดใสของสีด้วยวิธีต่างๆได้หลายวิธีเช่น

  1. ใช้สีที่มีความสดใสที่สุดเป็นศูนย์กลางความสนใจของลวดลายแล้วใช้สีหม่นล้อมรอบลวดลายที่ไม่ใช่จุดเน้น  สีหม่นจะช่วยขับให้สีที่มีความเด่นอยู่แล้วเด่นยิ่งขึ้น
  2. ใช้คู่สีที่อยู่ตรงกันข้ามในวงจรสี  สีดำ  หรือสีเข้ม  ตัดเส้นขอบของลวดลายหรือเส้นขอบระหว่างรอยต่อของสีที่ปรากฏในลวดลายนั้นก็จะให้สีที่ระบายดูสดใสขึ้น
  3. หากมีการใช้สีสดใสในพื้นที่ของลวดลายมากหรือหลายสี   ควรมีการตัดเส้นระหว่างรอยต่อของสีด้วยสีเข้ม  สีดำ  สีทอง  หรืออาจเน้นสีขาวแทนการตัดเส้นก็ได้
  4. ใช้กลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกันระหว่างรูปและพื้น  เช่น  กลุ่มสีเจิดจ้าร่วมกับกลุ่มสีสงบ  เป็นต้น

 

 

 

 

 

สีเอกรงค์ ( monochrome )

            หมายถึง  การใช้สีใดสีหนึ่งเพียงสีเดียวในผลงานแล้วเพิ่มแล้วลดค่าของสีให้เกิดค่าน้ำหนักอ่อน-แก่ตามต้องการ  หรืออาจใช้แม่สีเป็นสีหลักในการระบายและมีสีอื่นประกอบอยู่ด้วยไม่เกิน  5  สี  เพราะถ้านับจากแม่สีไปถึงสีที่  7  ในวงสีธรรมชาติก็จะเป็นสีตัดกันทันที   ซึ่งสีเอกรงค์จะไม่มีการตัดกันในโครงสีของลวดลายที่ออกแบบการใช้สีเอกรงค์จะให้ลวดลายมีความกลมกลืนงดงาม

 

สีกลมกลืน (Colors  Harmony)

              หมายถึง  กลุ่มสีที่ปรากฏในผลงานมีสภาพส่วนรวมที่ให้ความรู้สึกไม่บาดตา  ดูแล้วมีความกลมกลืนไม่แข็งกระด้างโดยอาจใช้หลักการแบ่งสีกลมกลืนได้ดังนี้

  1. การใช้สีข้างเคียงกันในวงจรสี ( Analogous  Harmonies )หมายถึงการนำเอาสีที่อยู่ข้างเคียงกันในวงจรสีตั้งแต่ 2-4 สีมาใช้ร่วมกันในผลงานด้วยวิธีการต่างๆดังนี้

1.1     การใช้สีติดกันในวงจรสี  หมายถึง  การใช้กลุ่มสีที่อยู่ติดกันในวงจรสีตั้งแต่

2-4  สีมาประกอบในผลงาน  ซึ่งถ้าเกินจาก  4  สีจะทำให้ดูไม่กลมกลืนได้  กลุ่มสีที่ใช้เช่น

กลุ่มสีเหลือง  เขียวเหลือง  เขียว  เขียวน้ำเงิน

กลุ่มสีน้ำเงิน  ม่วงน้ำเงิน  ม่วง  ม่วงแดง

กลุ่มสีแดง  ส้มแดง  ส้ม  ส้มเหลือง

 

                        

    1.2   การใช้สีในสกุลเดียวกัน  หมายถึง  กลุ่มสีที่มีส่วนผสมของแม่สีเป็นหลักและ   

                                  ให้ความรู้สึกคล้ายๆกันซึ่งแบ่งได้เป็น 3  สกุลดังนี้

                                 -  สกุลสีแดง ประกอบด้วยสี 7 สี ได้แก่ ส้มเหลือง  ส้ม  ส้มแดง  แดง  ม่วงแดง

                                    ม่วง  และม่วงน้ำเงิน

                                 - สกุลสีเหลือง  ประกอบด้วยสี 7 สี  ได้แก่ ส้มแดง  ส้ม  ส้มเหลือง  เหลือง 

                                    เขียวเหลือง  เขียว  และเขียวน้ำเงิน

                                 -  สกุลสีน้ำเงิน  ประกอบด้วยสี 7 สีได้แก่  เขียวเหลือง  เขียว  เขียวน้ำเงิน 

                                    น้ำเงิน  ม่วงน้ำเงิน  ม่วง  และม่วงแดง

 

                              1.3  การใช้สีคู่ผสม  หมายถึงการใช้แม่สี 2 สี  ร่วมกับสีที่เกิดจากการผสมของ

                                    แม่สี 2 สีนั้นรวมเป็น 3 สีประกอบในผลงานก็จะได้กลุ่มสีดังต่อไปนี้

                                  -  เหลือง  แดง  ส้ม

                                  -  แดง  น้ำเงิน  ม่วง

                                  -  น้ำเงิน  เหลือง  เขียว

 

      

       2.    การใช้สีคู่ตรงกันข้ามในวงจรสี ( Complementary  Harmonies )

                              หมายถึงการใช้สีคู่ตรงกันข้ามในวงจรสีมาทำให้เกิดความกลมกลืน  ซึ่งวิธีการนี้

                     จะยากกว่าการใช้สีข้างเคียงกันในวงจรสีเพราะสีคู่ตรงกันข้ามจะให้ความรู้สึกที่ตัดกัน

                     อย่างรุนแรง  แต่หากใช้ในบริเวณที่พอเหมาะก็จะทำให้ผลงานดูน่าสนใจและมีความ

                     กลมกลืนกันได้เช่นใช้ในอัตราส่วน 30 : 70 หรือ 20 : 80 เป็นต้นสีคู่ตรงข้าม

                     มีทั้งหมด 6 คู่ดังนี้

  1. สีเหลือง             ตัดกับ         สีม่วง
  2. สีแดง                 ตัดกับ         สีเขียว
  3. สีน้ำเงิน              ตัดกับ         สีส้ม
  4. สีเขียวน้ำเงิน      ตัดกับ         สีส้มแดง
  5. สีเขียวเหลือง      ตัดกับ         สีม่วงแดง
  6. สีม่วงน้ำเงิน       ตัดกับ         สีส้มเหลือง

 

สีส่วนรวม ( Tonality )

                   หมายถึงสีหนึ่งสีใดที่มีอิทธิพลครอบงำสีอื่นๆ  ที่อยู่ใกล้เคียงกันหรือผลงานเดียวกันให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปกับสีนั้น  เช่น  เราเห็นน้ำทะเลมีสีน้ำเงิน   ฟ้า  เขียว  สีส่วนรวมจึงเป็น

สีน้ำเงิน  เป็นต้น

                    สีส่วนรวมแบ่งได้เป็น  6  กลุ่มดังนี้

  1. สีส่วนรวมสีแดง ( Tonality  Of  Red )
  2. สีส่วนรวมสีเหลือง ( Tonality  Of  Yellow )
  3. สีส่วนรวมสีน้ำเงิน ( Tonality  Of  Blue )
  4. สีส่วนรวมสีส้ม ( Tonality  Of  Orange )
  5. สีส่วนรวมสีเขียว (Tonality  Of  Green )
  6. สีส่วนรวมสีม่วง ( Tonality  Of  Violet )

 

 

สีตัดกัน ( Discord )

                  หมายถึง  สีทีอยู่ตรงกันข้ามในวงจรสี  หรือเป็นคู่สีที่ไม่มีเนื้อสีผสมอยู่ในกันและกัน   จึงมีลักษณะที่ตัดกันหรือขัดแย้งกันอย่างรุนแรง  การใช้สีตัดกันจะต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อให้ผลงานเกิดความเป็นเอกภาพและดูไม่ขัดตาจนเกินไปโดยอาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้   

  1. ใช้สีคู่ตัดกันในบริเวณที่แตกต่างกัน  คือ  ให้สีใดสีหนึ่งเด่นเพียงสีเดียว
  2. ใช้การปรับค่าของสีให้จางหรือหม่นลงด้วยการผสมคู่สีเข้าไปในกันและกัน                             

หรือใช้สีใดสีหนึ่งผสมเข้าไปในสีคู่ที่ตัดกัน

  1. ใช้สีกลาง คือ สีขาว  สีเทา  หรือสีดำ  ผสมกับคู่สีตัดกัน จะทำให้ลดความ

สดใสของสีลงได้

  1. ใช้ลวดลายสอดแทรกลงในพื้นที่ที่ออกแบบจะช่วยให้จุดเด่นของคู่สีตัดกัน

ลดน้อยลง

 

ระยะของสี ( Perspective  of  Colors )

                   หมายถึง  ระยะใกล้-ไกลของสีแต่ละสีที่เปล่งความเข้มแตกต่างกันทำให้เกิดความรู้สึก

ในเรื่องของมิติตื้น-ลึกไม่เท่ากันซึ่งส่วนใหญ่จะแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้

  1. ระยะหน้า (Fore  Ground ) เป็นระยะที่อยู่ใกล้ตามากที่สุด
  2. ระยะกลาง ( Middle  Ground ) เป็นระยะที่อยู่กลางๆซึ่งมักจะมีค่าความเข้ม

ของสีไม่อ่อนหรือแก่เกินไป

  1. ระยะหลัง ( Back  Ground ) เป็นระยะที่อยู่ไกลสุด  ซึ่งจะมีค่าของสีอ่อนมาก

ที่สุด

 

 

 

 

การใช้สีกับการออกแบบตกแต่ง

                    การใช้สีในการออกแบบตกแต่งเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างยิ่งเพราะนอกจากสีจะมีประโยชน์ด้านความสวยงามแล้ว  ยังมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้พบเห็นอีกด้วย

      1.  การออกแบบตกแต่งภายใน  นักออกแบบสามารถใช้ความรู้สึกที่มีต่อสีช่วยสร้าง

            บรรยากาศในห้องต่างๆให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ดังนี้

1.1     ห้องรับแขก  ควรแต่งด้วยโครงสีร้อนที่มีการลดความสดลงเป็นสีอุ่น  เพื่อสร้าง

บรรยากาศในการต้อนรับด้วยความรู้สึกอบอุ่นสดชื่น  ไม่ควรใช้สีสดรุนแรงเพราะจำทำให้รู้สึกเครียด  รวมทั้งไม่ควรใช้สีหม่นทึบเพราะจะทำให้รู้สึกหดหู่

 

 

1.2     ห้องนั่งเล่น  ห้องพักผ่อน  ควรแต่งด้วยโครงสีเย็นที่มีความเข้มน้อยเพื่อให้เกิดความรู้สึกสบาย  ผ่อนคลาย

 

1.3     ห้องนอน  ควรแต่งด้วยโครงสีเย็น  โดยพื้นห้องควรเป็นสีเข้มเพื่อสร้างความรู้สึกมีน้ำหนัก  สงบนิ่ง  ผนังและเพดานเป็นสีอ่อนเพื่อความรู้สึกผ่อนคลาย  ทำให้หลับได้ง่ายขึ้น

 

1.4     ห้องครัว  ห้องอาหาร  ควรแต่งด้วยโครงสีร้อนที่ไม่ฉูดฉาดมากเพื่อให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว  อยากรับประทานอาหาร  และไม่ควรใช้สีอ่อนเกินไป  เนื่องจากมีโอกาสเปรอะเปื้อนง่าย  ทำให้ดูแลทำความสะอาดอยาก

 

 

 

 

1.5     ห้องน้ำ  ควรแต่งด้วยโครงสีเย็นและขาวเพื่อสร้างความรู้สึกเย็นสบายและสะอาดสดชื่น

 

 

 

  1. 2.            การออกแบบตกแต่งภายนอก

              การใช้สีตกแต่งภายนอกอาคารโดยทั่วไปนิยมใช้สีขาวหรือสีอ่อนเป็นหลักเนื่องจากสีในงานตกแต่งภายนอกอาคารต้องใช้เป็นบริเวณกว้าง  สีอ่อนจะทำให้อาคารดูสะอาด  สว่าง  สดใสสบายตา  อีกทั้งยังสามารถสะท้อนความร้อนจากแสงแดดได้ดีกว่าสีเข้มอีกด้วย  อย่างไรก็ดี  ในปัจจุบันมีการใช้กระจกกรุเป็นผนังตามอาคารขนาดใหญ่เป็นจำนวนมากกระจกที่ใช้มักเป็นสีเย็นค่อนข้างเข้มเพื่อกรองแสงแดดที่ส่องเข้าอาคาร  สำหรับกระจกเคลือบสารสะท้อนแสง  ซึ่งทำให้เห็นสีของท้องฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานั้น  แม้ว่าจะมีความสวยงามเป็นพิเศษ  แต่มีปัญหาเรื่องการสะท้อนแสงแดดทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนได้   นอกจากนั้นในบางกรณีจำเป็นต้องใช้สีฉูดฉาดเพื่อวัตถุประสงค์ในการดึงดูดความสนใจเป็นพิเศษ  เช่นร้านขายของเด็กเล่น  สถานบันเทิงยามราตรี  เป็นต้น

 

           สำหรับการใช้สีในการจัดสวนนั้นควรคำนึงถึงการเลือกสีของพรรณไม้ดอก  ไม้ใบ  และวัสดุตกแต่งสวน  เช่น หิน  กรวด  ตุ๊กตาหิน  สะพาน  โคมไฟ  ฯลฯ  ให้มีสีสันและสัดส่วนที่เหมาะสมกันโดยนำสีที่ตัดกันโดยน้ำหนักมาใช้  ในการจัดสวนเพื่อให้เกิดความเด่นชัดของสีส่วนน้อยที่อยู่ในสีส่วนมาก เช่น  สีเหลืองกับสีแดง  สีขาวกับสีเขียว ฯลฯและควรใช้สีที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันเพื่อให้เกิดความกลมกลืนและความมีเอกภาพของสวน

 

Tag : สี