หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.3K views



หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย l เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และคำบอกเล่า

มีความเป็นมาอย่างไร

     จากการศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลเป็นจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเอกสารต้นฉบับและการมีแหล่งสืบค้นข้อมูล
     กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงร่วมกันก่อตั้ง "หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย (หพสท.)" ขึ้น โดยให้สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นหน่วยงานบริหารจัดการและดำเนินงานโครงการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2551 เพื่อให้สังคมการแพทย์และสาธารณสุข สถาบันการศึกษาและการวิจัยตลอดจนสาธารณชนได้ศึกษาเรียนรู้และเกิดความเข้าใจถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์สุขภาพในสังคมไทย สามารถมองงานด้านสุขภาพไปในทิศทางก้าวหน้า

ภารกิจหลักคืออะไร
     รวบรวม จัดระบบ บำรุงรักษาวัสดุและเอกสารหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการของระบบสุขภาพในสังคมไทยมิให้เสื่อมสลายหรือสูญหายไป
     เป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์สุขภาพในสังคมไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาการทางสังคมและการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลูกฝังการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชนในมิติทางประวัติศาสตร์สุขภาพ
     ส่งเสริมการวิจัย การศึกษาค้นคว้า การเรียนรู้เรื่องราวจากอดีต เพื่อสร้างความเข้าใจในมิติทางสังคมและประวัติศาสตร์สุขภาพไทย
     เสริมสร้างจิตสำนึกและคุณค่าด้านการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์สุขภาพในสังคมไทย เพื่อก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความรู้ ความภาคภูมิใจ และสร้างความเข้มแข็งในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพ

จะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
     ร่วมบริจาคเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุที่สะท้อนเหตุการณ์สุขภาพทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทย หรือบอก/ชี้แหล่งข้อมูลของบุคคลสำคัญ เอกสารและวัตถุจดหมายเหตุให้กับหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย เพื่ออนุรักษ์เป็นสมบัติส่วนร่วม
     โดยเอกสารและวัตถุจดหมายเหตุได้รับการดูแลรักษาซ่อมแซมตามหลักวิชาการ มีการจัดระบบเพื่อให้บริการศึกษา ค้นคว้า และใช้ประโยชน์ทางวิชาการ รวมถึงการนำไปจัดแสดงเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้บริการสาธารณชนต่อไป

เข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร
     - สืบค้นผ่านเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุฯ https://www.nham.or.th
     - สืบค้นที่หอจดหมายเหตุฯ เปิดให้บริการอ่านเอกสารไมโครฟิล์ม แถบบันทึกภาพ สำหรับผู้สมัครเป็นสมาชิก ทำการ วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00 - 16.00 น.

จัดเก็บเอกสารและวัตถุประเภทไหน
     ลายลักษณ์อักษร เช่น เอกสารโต้ตอบ เอกสารประชุม แผนงาน โครงการ รายงาน บทความ สมุดบันทึก ฯลฯ/ โสตทัศน์ เช่น ภาพถ่าย โปสเตอร์ ปฏิทิน บัตรอวยพร แถบบันทึกเสียง / ภาพ ฟิล์มภาพยนตร์ สไลด์ ฯลฯ / แผนที่ แผนผัง เช่น แผนที่ แผนผัง แบบแปลน พิมพ์เขียว ฯลฯ / วัสดุคอมพิวเตอร์ เช่น แผ่นดิสก์ ซีดี วีซีดี ดีวีดี ฯลฯ วัตถุสำคัญในทางประวัติศาสตร์สุขภาพ เช่น กล้องถ่ายรูป / เครื่องฉายหนังสื่อสุขศึกษา กระติกวัคซีน รางบดยาสมุนไพร เป็นต้น
     เอกสารหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ โรงพยาบาลต่างๆ มูลนิธิสาธารณะสุขกับการพัฒนา กองทุนนายแพทย์ธารา อ่อนชมจันทร์ เป็นต้น
     เอกสารส่วนบุคคล ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาสุขภาพไทย จากทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว  นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย ปราชญ์ชาวบ้าน หรือประชาชนผู้ริเริ่มและมีบทบาทด้านสุขภาพกับสังคมไทย
     เอกสารโครงการพิเศษและเหตุการณ์สำคัญ เช่น โครงการสาธารณสุขมูลฐาน ปูมประวัติศาสตร์ มหิดลเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น
     เอกสารอ้างอิงและหนังสือหายาก เช่น ตำราการแพทย์พื้นบ้าน หนังสือประถมศาริรศาสตร์หรือวิชาฝ่ายร่างกายของมนุษย์ (เขียนโดย หมอยอช แมกฟาแลน) เป็นต้น

หอประวัติศาสตร์สุขภาพ
     พิพิธภัณฑ์และส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรและหมุนเวียนภายใต้แนวคิด "ร้อยบุคคล ร้อยความคิด ร้อยสิ่งประดิษฐ์ ร้อยเรื่องราว" เป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์สุขภาพที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ได้จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างสรรค์สื่อความรู้ผ่านศาสตร์และศิลป์ งานออกแบบให้ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงสู่การจินตนาการใหม่

กิจกรรมอื่นๆ มีอะไรบ้าง
    
งานการสัมมนาผู้รู้ผู้เห็นทางประวัติศาสตร์ (Witness Seminar)
     เป็นการริเริ่มนำระเบียบวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์จากต้นแบบประเทศอังกฤษ เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำของผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ หรือร่วมรู้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการผลิตหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ยังอยู่ในห้วงความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้อง
     งานวิชาการประวัติศาสตร์สุขภาพ
     พัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและสถาบันการศึกษาที่สนใจ โดยจัดเวทีวิชาการ ศึกษาค้นคว้า และเขียนบทความเผยแพร่ ตามประเด็นที่มีข้อเสนอ
     งานกิจกรรมสร้างการเรียนรู้สู่สังคม
     จัดอบรมงานพิพิธภัณฑ์สุขภาพ / จัดกระบวนการเรียนรู้งานออกแบบและจัดแสดงนิทรรศการ / จัดอบรมมัคคุเทศก์งานพิพิธภัณฑ์และสุขภาพ / ผลิตสื่อความรู้งานหอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ และประวัติศาสตร์สุขภาพ

หอประวัติศาสตร์สุขภาพ (Museum of Health and Medical History)
     หอประวัติศาสตร์สุขภาพ นำเสนอเรื่องราวและข้าวของหลากหลายเกี่ยวกับความเป็นมา ประวัติศาสตร์และความทรงจำทางสังคมเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ผ่านห้วงเวลาต่างๆ เป็นเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาการเรียนรู้ และการใช้ภูมิปัญญาที่แตกต่างไปตามบริบททางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ของระบบสุขภาพกับสังคมที่เชื่อมโยงกันอย่างมีพลวัตและน่าสนใจยิ่ง

การดำเนินงานร่วมกับหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย (Cooperation with National Health Archievs and Museum)
     หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย เป็นสถานที่รวบรวมเก็บรักษาเอกสารจดหมายเหตุและวัตถุที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และรองรับการศึกษา ค้นคว้าวิจัยในด้านประวัติศาสตร์สุขภาพ อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็น "หลังบ้าน"  ของหอประวัติศาสตร์สุขภาพอีกด้วย

ในหอประวัติสุขภาพจะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้
     - จักรวาลภายใน จักรวาลภายนอก (Internal and External Universes) ในแต่ละสังคมได้พยายามอธิบายการดำรงอยู่ของตัวเองเข้ากับจักรวาลในความเชื่อของสังคมนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามสร้างความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
     - ชีวิตความเป็นอยู่ (Everyday Life) ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์นั้นสัมพันธ์กับวิถีสุขภาพ การกลับมาหาความสมดุลพอดี ไม่เพียงแต่ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น แต่ยังลดการแก่งแย่งและการทำลายล้างธรรมชาติอีกด้วย
     - พหุลักษณ์ทางการแพทย์ (Medical Pluralism) ค่านิยม ความคิด ความเชื่อที่ต่างกัน ผันแปรไปตามบริบทของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จึงเกิดเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสุขภาพ
     - ภูมิปัญญาสุขภาพ (Wisdom of Health) หมอไทย-ยาไทย เป็นภูมิปัญญาที่คนไทยได้สั่งสมสืบทอดผ่านประสบการณ์และบทเรียนจนกลายเป็น "ระบบความรู้" ที่สะท้อนปรัชญาความเข้าใจธรรมชาติและเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวัฒนธรรมไทย
     - การแพทย์ในสถานการณ์วิกฤต (Medicine in Critical Events) ในสถานการณ์คับขัน การแพทย์จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทไม่เพียงแต่ความรู้ทางการแพทย์ในการเยียวยารักษาผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทักษะในการจัดการสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นด้วย
     - สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) คำถามเชิงปรัชญาที่ปรากฏในทุกจารีตภูมิปัญญาทุกศาสนาและวัฒนธรรม ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของชีวิต และจะไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้นได้อย่างไร
     - รอยเวลาเส้นทางสุขภาพไทย (Thai Health Historical Timeline) สะท้อนถึงแนวคิดและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการแพทย์ในแต่ละยุคสมัย ตลอดจนพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
     - ความตายและวาระสุดท้ายของชีวิต (Death and Dying) ไม่ว่าการแพทย์และระบบการดูแลสุขภาพจะพัฒนาไปมากเท่าใด ก็ไม่เคยเอาชนะความตายได้ การเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การตายเป็น "สุขคติ" อย่างแท้จริง
     - สุขภาพกับสังคม (Social Health) ทิศทางและนโยบายการพัฒนาประเทศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การสร้างสังคมสุขภาวะจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย
ชั้น 3  สถาบันบำราศนราดูร ถนนติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ / โทรสาร 0-2951-1009 อีเมล์ nham.thailand@gmail.com

สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (ส่วนบริหารจัดการ)

ชั้น 3 อาคารคลังพัสดุ 88/37 ซ.สาธารณสุข 6 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ 0-2590-2365
โทรสาร 0-2590-1498

หอประวัติศาสตร์สุขภาพ
ชั้น 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซ.สาธารณสุข 6 กระทรวงสาธารณสุข ติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

รถประจำทาง (ด้านติวานนท์)
สาย 18, 32, 63, 97 รถปรับอากาศ สาย 32, 63, 97, 114

รถประจำทาง (ด้านงามวงศ์วาน)
สาย 134, 134 ก, 191, 166 รถปรับอากาศ สาย 134, 191, 166, 505

ขอบคุณข้อมูลจาก หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย