ขั้นตอนในการผลิตยา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 2K views






ขั้นตอนในการผลิตยา


เครื่องมือสำหรับการสกัดยา
เครื่องมือสำหรับการสกัดยา


การผลิตยามีหลักใหญ่ๆ คือ ถ้าเป็นยาจากพืช ต้องสืบสวนให้แน่นอนเสียก่อนว่า พืชนั้นสามารถรักษาโรคได้จริง ส่วนไหนของพืชทีมีแก่นยา (ยาหลัก) มากที่สุด ก็นำมาแยกด้วยขบวนการทางฟิสิกส์ และเคมี จนได้ยาบริสุทธิ์ จัดการหาสูตรโครงสร้าง แล้วสังเคราะห์ขึ้นใหม่เลียนแบบยาธรรมชาติ อาจสังเคราะห์เพียงกึ่งหนึ่ง หรือสังเคราะห์ตั้งแต่ต้น บางคราวก็ใช้การแยกแก่นยาบริสุทธิ์จากพืชโดยตรง ทั้งนี้แล้วแต่ว่า วิธีใดได้ผลดีที่สุด กล่าวคือ ได้ยาปริมาณมาก ยานั้น บริสุทธิ์ และสิ้นเปลืองรายจ่ายน้อยที่สุด นี่เป็นหลัก กว้างๆ และเป็นขั้นเริ่มต้นในการผลิตยาแผนปัจจุบัน ทางอุตสาหกรรม 

การผลิตยาแผนโบราณโดยใช้เครื่องจักร มี ๒๕ วิธี คือ

  • ยาตำเป็นผงแล้ว ปั้นเป็นลูกกลอนกลืนกิน
  • ยาตำเป็นผงแล้ว บดให้ละเอียดละลายน้ำกระสายต่าง ๆ กิน
  • ยาสับเป็นท่อนเป็นชิ้น บรรจุลงในหม้อเติมน้ำต้น รินแต่น้ำกิน
  • ยาดองแช่ด้วยน้ำท่า หรือสุรา แล้วรินแต่น้ำกิน
  • ยาสกัดด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์ หยดลงน้ำกิน
  • ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างนั้นแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำกิน
  • ยาเผาให้เป็นด่าง เอาด่างนั้นแช่น้ำไว้ แล้วรินแต่น้ำด่างนั้นกิน
  • ยาเผาหรือเผาให้ไหม้ ตำเป็นผงบดให้ละเอียดละลายน้ำกระสายต่างๆ กิน
  • ยากลั่นเอาน้ำเหงื่อ เช่น กลั่นสุราเอาน้ำเหงื่อกิน
  • ยาประสมแล้ว ห่อผ้าบรรจุลงในกลัก เอาไว้ใช้ดม
  • ยาประสมแล้ว ตำเป็นผง กวนให้ละเอียดใส่กล่องเป่าทางจมูก และใน ลำคอ เช่น ยานัตถุ์
  • ยาหุงด้วยน้ำมัน เอาน้ำมันใส่กล้องเป่าบาดแผล
  • ยาประสมแล้ว ติดไฟใช้ควันใส่กล้องเป่าบาดแผล และฐานฝี
  • ยาประสมแล้ว มวนบุหรี่สูบเอาควัน เช่น บุหรี่
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำบ้วนปาก
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำอาบ
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำแช่
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำชะ
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาไอรม
  • ยาประสมแล้ว ใช้เป็นยาทา
  • ยาประสมแล้ว ทำเป็นลูกประคบ
  • ยาประสมแล้ว ใช้เหน็บ
  • ยาประสมแล้ว ต้มเอาน้ำสวน
  • ยาประสมแล้ว ทำเป็นยาพอก
  • ยาประสมแล้ว ทำเป็นขี้ผึ้งปิดแผล ซึ่งเรียกว่ายากวน

การทดสอบคุณสมบัติทางเคมี
การทดสอบคุณสมบัติทางเคมี 

ส่วนยาแผนปัจจุบัน เมื่อได้ยาที่บริสุทธิ์แล้ว ต้องนำมาทดสอบคุณสมบัติทางฟิสิกส์ และเคมี เช่น ดูการละลายของยาในน้ำ และในตัวทำละลายอินทรีย์อื่นๆ การหลอมเหลว การกลายเป็นไอ ความคงทนของตัวยาต่อภาวะต่างๆ จากนั้นนำยามาทดสอบผลทางสรีรวิทยาว่า มีผลอย่างไรต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ตรวจสอบผลทางเภสัชวิทยาว่า ยามีข้อดีอย่างไรต่อร่างกาย ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกาย รวมทั้งการทำลาย และการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย


ที่มา https://kanchanapisek.or.th