ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ของผู้สูงอายุ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 9.6K views






ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม   

อาหารที่ผู้สูงอายุควรรับประทานก็เหมือนกับกลุ่มอายุอื่นคือ ควรได้รับสารอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ อันประกอบด้วย 

๑) อาหารพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว เผือก ขนมปัง ซึ่งประกอบด้วยสารอาหารหลัก และให้พลังงานแก่ร่างกาย มากกว่าสารอาหารกลุ่มอื่น ผู้สูงอายุจึงควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้แต่พออิ่ม ไม่มากจนเกินไป เนื่องจากความต้องการพลังงานลดลง ส่วนที่เกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามที่ต่างๆ ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ 

๒) อาหารประเภทโปรตีน นอกจากเนื้อสัตว์ ยังพบในพืชจำพวกถั่วชนิดต่างๆ อาหารกลุ่มนี้เป็นส่วนสำคัญ ในการซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อ ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังต้องมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อเดิมที่สูญสลายไปตลอดเวลา เนื้อสัตว์ที่ผู้สูงอายุควรรับประทานคือ เนื้อไก่ที่ลอกหนังออกแล้ว เพราะหนังไก่จะมีไขมันมากเกินไป และเนื้อปลาซึ่งมีกรดไขมันชนิดโอเมกา-๓ สามารถป้องกันเส้นโลหิตแข็งอันจะนำไปสู่โรคหัวใจได้ รวมทั้งยังมีแร่ธาตุ ที่ผู้สูงอายุต้องการอีกด้วย ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ก็เป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก แต่มีคุณค่าไม่แพ้เนื้อ-สัตว์ ทั้งยังมีกากเส้นใยทำให้ลำไส้บีบตัวดี ป้องกันท้องผูกได้ และเป็นแหล่งของแคลเซียม ซึ่งจำเป็นต่อการป้องกันภาวะกระดูกพรุน 

๓) อาหารประเภทไขมัน ได้แก่ น้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหาร กะทิ หรือไขมันจากสัตว์ เช่น หนังไก่ หนังหมู ไข่แดง อาหารกลุ่มนี้จะให้พลังงานสูงมากที่สุด แต่ถ้ารับประทานมากเกินไป จะเป็นผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เส้นโลหิตแข็ง และโลหิตไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ ที่สำคัญลดลง เช่น สมองและหัวใจ ผู้สูงอายุจึงควรรับประทานไขมันแต่น้อย น้ำมันพืชที่ทำจากถั่วเหลืองหรือข้าวโพดจะดีกว่าน้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว เพราะมีกรดไขมันชนิดที่ไม่อิ่มตัว ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเนื้อเยื่อ ชนิดต่างๆอยู่ด้วย 

๔) อาหารประเภทเกลือแร่ แร่ธาตุที่ผู้สูงอายุต้องการคือ ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก และธาตุสังกะสี พบว่า ธาตุแคลเซียมเป็นส่วนสำคัญ ในการเสริมสร้างกระดูก โดยมีมากในนม ผัก และผลไม้ ถั่วต่างๆ และกระดูกสัตว์ เช่น ปลาป่น หรือปลากระป๋อง ผู้สูงอายุจึงควรรับประทานนมบ้าง แต่ควรเป็นนมชนิดพร่องไขมันเนย เพื่อลดปริมาณของไขมันที่ไม่จำเป็นออกไป ธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อการ สร้างเม็ดเลือดแดง ถ้าหากมีการสูญเสีย เลือดเรื้อรังแม้เพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน ก็จะทำให้ขาดธาตุเหล็กได้ ส่วนธาตุสังกะสีซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ ข้าวกล้อง อาหารทะเล มีความจำเป็นต่อร่างกายหลายระบบ โดยเฉพาะ ระบบภูมิคุ้มกันโรคและผิวหนัง 

๕) อาหารประเภทวิตามิน วิตามินมีหลายชนิด แต่วิตามิน ที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะขาดคือ วิตามินบี ๑ ซึ่งมีมากในข้าวกล้อง เมล็ดพืชชนิดต่างๆ เช่น เมล็ดบัว ถั่ว สารโฟเลต ซึ่งมีมากในผักใบเขียวทุกชนิด วิตามินอี ซึ่งมีมากในน้ำมันพืช ถั่ว ผักใบเขียว และวิตามินซี ซึ่งมีมากในผลไม้จำพวกส้ม ผักใบเขียว นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อยู่แต่ภายในบ้าน ไม่ออกไปรับแสงแดดบ้าง มักจะขาดวิตามินดีซึ่งมีผลให้กระดูกไม่แข็งแรง ทั้งนี้เพราะแสงแดดสามารถกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างวิตามินดีขึ้นเองได้


Credit : https://kanchanapisek.or.th/