ระบบกล้ามเนื้อกระดูก และข้อ ของผู้สูงอายุ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.8K views






ระบบกล้ามเนื้อกระดูก และข้อ 

กล้ามเนื้อ 

แรงหดตัวของกล้ามเนื้อลดน้อยลง เนื่องมาจากปริมาณกล้ามเนื้อโดยรวมลดลง การไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานานๆ ทำให้เกิดการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ แต่ยังสามารถให้การบำบัดฟื้นฟู เพื่อให้มีแรงหดตัวดีขึ้นได้ เช่น การฝึกยกขาในท่าเข่าเหยียดตรง จะเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อต้นขา และเมื่อร่างกายเสียสมดุล จะทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย เพราะกล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัว เพื่อปรับการทรงตัวได้ทัน 

กระดูก 

มีการสูญเสียเนื้อกระดูก ทั้งกระดูกชั้นนอกที่แข็ง และชั้นในที่เป็นรูพรุน โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว เมื่อเกิดอุบัติเหตุแม้เพียงเล็กน้อย เช่น การหกล้ม ก็จะทำให้กระดูกหักได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง ที่มีปริมาณของกระดูกชั้นในเป็นรูพรุนมากกว่ากระดูกท่อนอื่น ซึ่งนำไปสู่อาการหลังค่อมได้ในที่สุด นอกจากนี้อาจพบกระดูกหักได้ง่าย ที่กระดูกข้อสะโพก และข้อมือ ซึ่งสาเหตุที่เนื้อกระดูกลดลงขึ้นกับ ๒ ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ จำนวนมวลเนื้อกระดูก ที่สะสมไว้เดิมสูงสุด ซึ่งขึ้นกับเชื้อชาติ หรือกรรมพันธุ์ ตลอดจนการสะสมกระดูกในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น ผู้ที่มีพฤติกรรมในการส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูกที่ดีตั้งแต่วัยนี้ ก็จะมีมวลเนื้อกระดูกตั้งต้นที่มากกว่า โอกาสเกิดโรคกระดูกพรุน เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจึงน้อยกว่า ปัจจัยที่ ๒ คือ การสูญเสียเนื้อกระดูก พบว่า ความเสื่อมจากความชรา ทำให้การสร้างวิตามินดีจากไตลดลง โดยวิตามินดีจะทำหน้าที่ดูดซึมแคลเซียมจากในลำไส้และไต เก็บสะสมไว้ในเนื้อกระดูกต่อไป การที่เซลล์ที่สร้างกระดูกลดลง เมื่อมีกระดูกหักกระบวนการซ่อมแซมจะทำงานช้าลง 

ข้อต่อ 

มีการสูญเสียความยืดหยุ่นของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อต่อ ปริมาณน้ำในกระดูกอ่อนโดยรวมลดลง ทำให้เกิดการบาดเจ็บของข้อได้ง่าย นำไปสู่ภาวะข้อเสื่อม โดยเฉพาะความอ้วน ทำให้ข้อเข่าเสื่อมลงเร็ว


Credit : https://kanchanapisek.or.th