การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อร่างกายเจ็บป่วย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4K views



การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อร่างกายเจ็บป่วย

การเจ็บป่วยเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนต้องประสบ โดยธรรมชาติสุขภาพของคนจะแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้

    - กลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง
    - กลุ่มเจ็บป่วยเล็กน้อย
    - กลุ่มป่วยเป็นโรคทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง

กลุ่มมีปัจจัยเสี่ยง ควรดูแลสุขภาพของตนเองเหมือนคนมีสุขภาพดี และเน้นลดหรืองดพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

การเจ็บป่วยจะมีอาการต่างๆ ที่แสดงให้เห็น ดังนี้

๑. อาการไข้

คือ อาการตัวร้อน อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า ๓๗.๘ องศาเซลเซียส

สาเหตุที่พบบ่อย เกิดจากไข้หวัด ไข้ออกผื่น ไทฟอยด์ ไข้มาลาเรีย ถ้าหากอาการไม่ชัดเจน และมีไข้ไม่เกิน ๗ วัน ให้ดูแลตนเอง คือ รักษาตามอาการ เพราะอาจจะเกิดจากไวรัส เป็นหวัด หรือสาเหตุอื่นๆ ที่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม

    - นอนพักผ่อนมากๆ
    - ดื่มน้ำมากๆ
    - ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ
    - ห้ามอาบน้ำเย็น
    - ถ้าเบื่ออาหาร ให้กินน้ำหวาน ข้าวต้ม
    - ถ้าเจ็บคอให้ใช้น้ำเกลือกลั้วคอ
    - กินยาลดไข้

ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นใน ๔ วัน หรือมีไข้เกิน ๗ วัน หรือมีอาการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ เช่น หายใจหอบ ปวดศีรษะมาก ปวดท้องมาก อาเจียน กินไม่ได้ ซีด เหลือง มีจุดแดงจ้ำ ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปรึกษาแพทย์

๒. อาการไอ 

มีอาการไอและอาการอื่นๆ ไม่ชัดเจน ให้ดูแลตนเอง คือ รักษาตามอาการ เพราะอาจเกิดจากไวรัส เป็นหวัด หรือสาเหตุอื่นๆ ที่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม

    - พักผ่อน
    - ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
    - กินยาแก้ไอหรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว
    - กินยาแก้แพ้ ถ้าคัดจมูกและงดน้ำแข็ง บุหรี่ เหล้า อาหารทอด อาหารมันๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน ๒ สัปดาห์ ให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปรึกษาแพทย์

๓. อาการปวด

ปวดศีรษะ

มีอาการปวดหนัก ปวดตื้อ หรือปวดตุบๆ ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของศีรษะ รอบดวงตา หรือใบหน้า สาเหตุที่พบบ่อย คือ ปวดศีรษะจากความเครียดไมเกรน ไซนัสอักเสบ เป็นหวัด สายตาผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ถ้าหากอาการปวดศีรษะไม่ชัดเจน  ให้ดูแลตนเองคือรักษาตามอาการ เพราะอาจเกิดจากความเครียด หรือเป็นหวัด หรือสาเหตุอื่นๆ ที่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น

    - นอนพักในห้องที่เงียบและมืด
    - นวดต้นคอ หรือขมับ หรือทานวดด้วยยาหม่อง
    - หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ปวด เช่น การดื่มเหล้า หิวเกินไป เหนื่อยเกินไป นอนไม่เพียงพอ
    - กินยาแก้ปวด

หากมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปรึกษาแพทย์

    - กินยาแล้วไม่หายปวด และยังปวดติดต่อกันนาน ๒๔ ชั่วโมง
    - กินยาแล้วหายปวดชั่วคราว แต่กลับปวดรุนแรงและถี่มากขึ้นทุกวันนาน ๗ วัน
    - ปวดมากตอนดึกหรือเช้ามืด จนทำให้สะดุ้งตื่น
    - ปวดศีรษะข้างเดียวรุนแรงในคนที่มีอายุมากกว่า ๔๐ ปี
    - เป็นๆ หายๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ

ปวดท้อง

มีอาการปวดท้อง จุกแน่น ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดบิดเป็นพักๆ อาจเป็นเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วท้องก็ได้ สาเหตุที่พบบ่อยคือ อาหารไม่ย่อย กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องเดิน ปวดประจำเดือน ไส้ติ่งอักเสบ นิ่วในท่อไต

ถ้าอาการปวดไม่ชัดเจนให้ดูแลตนเองคือ รักษาตามอาการ เพราะอาจเกิดจากอาหารไม่ย่อย หรือสาเหตุอื่นๆ ที่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น

    - กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม
    - กินยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ้าจุกแน่นท้อง
    - ประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน
    - กินยาแก้ปวดท้อง

ถ้าปวดติดต่อกันนาน ๖ ชั่วโมง หรือกดเจ็บ หรือซีด หรือถ่ายอุจจาระดำ หรือเมื่อลุกนั่งจะเป็นลม หรืออาเจียนมาก หรือเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง ให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปรึกษาแพทย์

ปวดข้อ

มีอาการปวดขัดในข้อ หรือข้อปวด บวม แดง ร้อน บริเวณข้อส่วนหนึ่งส่วนใดในร่างกาย เช่น ต้นคอ ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า อาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้

สาเหตุที่พบบ่อย คือ ข้อแพลง ข้อเสื่อม เส้นเอ็นอักเสบ โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ไข้รูมาติกส์ ถ้าอาการไม่ชัดเจนให้ดูแลตนเอง คือ รักษาตามอาการ เพราะอาจเกิดจากข้ออักเสบ ข้อแพลง หรือสาเหตุอื่นๆ ที่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น

    - พักข้อ ลดการเคลื่อนไหว
    - ประคบด้วยน้ำเย็น ถ้าเพิ่งเริ่มปวด หรือประคบน้ำร้อนถ้าเป็นเรื้อรัง
    - กินยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์

ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน ๑ สัปดาห์ หรือมีไข้ร่วมเกิน ๗ วัน หรือน้ำหนักลด หรือข้อบวมแดงร้อนมาก หรือปวดรุนแรง ให้รีบพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือปรึกษาแพทย์

๔. ผื่นคัน

คือ ผิวหนังเป็นผื่น ตุ่ม หรือวงด่าง ซึ่งมีอาการคัน สาเหตุที่พบบ่อยคือ ลมพิษ ผื่นแพ้จากการสัมผัส ผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์ ยุง แมลงกัดต่อย ผด กลาก หิด ถ้าอาการไม่ชัดเจน ให้ดูแลตนเองคือ รักษาตามอาการ เพราะอาจเกิดจากผื่นแพ้ หรือสาเหตุอื่นๆ ที่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น

    - หาสาเหตุอาการแพ้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วหลีกเลี่ยงสาเหตุนั้น
    - ทายาแก้แพ้ ผด ผื่นคัน หรือครีมสเตียรอยด์

เครดิต : https://kanchanapisek.or.th