โรคหัวใจและหลอดเลือด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 8K views



โรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากทั้ง ๔ โรค ที่ได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านี้ โดยเมื่อมีการอักเสบของหลอดเลือด จากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจาก การดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ก็จะมีระดับไขมันในเลือด สูงผิดปกติ ไขมันขนาดเล็กที่เรียกว่า แอลดีแอลคอเลสเตอรอล ก็จะมีระดับมากขึ้น และสะสมอยู่ด้านในของผนังหลอดเลือด โดยเข้าไปอยู่ใต้เซลล์เยื่อบุผนังด้านในของหลอดเลือด ต่อมา จะมีโมเลกุลของออกซิเจนเข้าไปเกาะ เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (free radical) ซึ่งเป็นพิษ ร่างกายก็จะส่งเม็ดเลือดขาวโมโนไซต์ ไปยังผนังหลอดเลือดส่วนที่มีความเสียหาย เพื่อเข้าไปกินสารพิษเหล่านี้ ต่อมาโมโนไซต์ก็จะตาย กลายเป็นแผลที่เกิดจากการอักเสบ (Plaque) ติดอยู่ที่ผนังด้านในของหลอดเลือด ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดตีบลง และความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง เป็นสาเหตุหนึ่ง ของโรคความดันโลหิตสูง แผลอักเสบเหล่านี้ กระจายอยู่ทั่วไป ตามหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ หากมีการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และหัวใจวายได้


ปัจจุบัน สามารถตรวจวัดความหนาของหลอดเลือด เพื่อบอกถึงความรุนแรงได้ โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ ที่สอดใส่เข้าไปในหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery) ที่เรียกว่า intravascular ultrasound (IVUS)

สถานการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือด

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ใน พ.ศ. ๒๕๔๖ อัตราการป่วยจากโรคหัวใจเท่ากับ ๓๙๗ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน และมีอัตราการตายเท่ากับ ๒๗.๗ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ถือเป็นอันดับ ๔ รองจากโรคเอดส์ โรคมะเร็ง และอุบัติเหตุ ตามลำดับ 

จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า การมีคราบไขมันบนผนังหลอดเลือดนั้น เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เด็กวัยรุ่นร้อยละ ๒๐ ในบางประเทศเริ่มมีคราบไขมันแล้ว ซึ่งต่อมา จะทำให้หลอดเลือดแดงตีบได้ ในระยะเวลาไม่นานนัก โดยเฉพาะในกลุ่มประชากร ที่มีการบริโภคอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และน้ำตาล ในปริมาณมากเกินความต้องการ 

 

เครดิต : https://kanchanapisek.or.th