พวงมโหตร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 160.3K views



พวงมโหตร

ไปเพชรบุรี เก็บเรื่องดีๆ มาเล่าให้ฟัง
พวงมโหตร (พวง-มะ-โหด) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒ อธิบายว่า เป็นพวงอุบะ ซึ่งห้อยประดับอยู่ที่คันดาลฉัตร ทำด้วยผ้าตาดทอง
แต่พวงมโหตรที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นพวงมโหตรแบบพื้นแบบที่ห้อยระย้าตามงานบวชงานบุญ มีให้เห็นตามวัดในชนบท ทำด้วยกระดาษหลากสีติดอยู่กับธงราวที่ตอกเป็นลายนักษัตร ปัจจุบันหาดูได้ยากเต็มที
ที่บอกเป็นคุ้งเป็นแควก็เพราะไปเจอเยาวชนกลุ่มลูกหว้า ซึ่งเป็นลูกหลานคนเมืองเพชรบุรี ในศาลาหลังย่อมๆ ใกล้ทางขึ้นลงรถรางไฟฟ้า พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี ใช้เวลาว่างวันเสาร์มาจัดกิจกรรมเผยแพร่วิธีทำพวงมโหตรแก่นักท่องเที่ยว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อมและเมื่อทำได้ ก็มอบให้เอาติดมือกลับบ้านเป็นของที่ระลึก โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วยสร้างความสำเร็จและภาคภูมิใจในฝีมือตนเอง ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ภายในเวลาไม่กี่นาที
ถ้ามีโอกาสไปเที่ยวเพชรบุรี อย่าลืมแวะไปทำดู เพราะนี่คือการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ไว้ให้

พวงมโหตรและธงราวลายสิบสองนักษัตร สื่อพื้นบ้านสร้างสุข
กลุ่มลูกหว้า จัดกิจกรรมสาธิตตอกลายกระดาษ และตัดพวงมโหตร ทุกวันเสาร์ เวลา ๘.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ที่ศาลาเชิงเขา เขาวังเคเบิลคาร์ รถรางไฟฟ้าขึ้นเขาวัง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ติดตามข่าวและชมภาพกิจกรรมของกลุ่มลูกหว้าได้ที่
https://dekphetch.blogspot.com (ปี ๒๕๕๒) และ
https://phetchaburi.blogspot.com (ปี ๒๕๕๓)

พวงมโหตร
พวงมโหตร (พวง-มะ-โหด) คำที่หลายคนไม่ทราบความหมาย ไม่เคยได้ยิน ทั้งที่อาจจะเคยผ่านตามาแล้วก็ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542 อธิบายว่า เป็นพวงอุบะ ซึ่งห้อยประดับอยู่ที่คันคาลฉัตร ทำด้วยผ้าตาดทอง ส่วนคันดาลฉัตร คือคันฉัตรที่มีรูปเป็นมุมฉาก 2 ทบอย่างลูกดาล เพื่อปักให้ฉัตรอยู่ตรงเศียรพระพุทธรูป (พวงอุบะ แปลว่า พวงดอกไม้)
แต่...พวงมโหตรในที่นี้ หมายถึงพวงมโหตรแบบบ้านๆ ที่ติดอยู่ตามธงราว ห้อยระย้าตามสถานงานมงคล งานบุญ มีให้เห็นบ้างตามวัดในชนบท ทำด้วยกระดาษสีตอก ลายเป็นรูปนักษัตร ปัจจุบันหาดูได้ยาก กระดาษที่ใช้ทำพวงมโหตร ก็คือกระดาษว่าวรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พับให้เป็นสามเหลี่ยมแล้วใช้กรรไกรตัด จากนั้นก็นำมาซ้อนกัน ร้อยด้ายแขวนประดับ เป็นพวงอุบะ หรือดอกไม้ ใช้ร่วมกับธงราว

ธงราว
ธงราวที่กล่าวในที่นี้ หมายถึง ธงที่คนเมืองเพชรใช้สำหรับตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง หรืองานบุญ เช่น งานบวชนาค งานเทศน์มหาชาติ งานประเพณี ฯลฯ ทำด้วยกระดาษว่าว ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1 ใน 8 ของกระดาษว่าวแผ่นใหญ่ที่มีขายตามท้องตลาด ตัวผืนธงจะฉลุลายเป็นรูปต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นลายสิบสองนักษัตร ซึ่งเป็นรูปสัตว์ 12 ชนิด ที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนปรินิพพาน ทั้งนี้อาจเพื่อเป็นสื่อเตือนสติเป็นข้อคิดแก่ผู้คนว่า แม้สิงสาราสัตว์ยังรู้จักฟังเทศน์ฟังธรรม
คนเมืองเพชรมักใช้วิธีตอกลายเพราะจะได้ธงที่มีลวดลายสวยงาม ประณีต ในการตอกลายนั้นต้องใช้สิ่ว ซึ่งเป็นเครื่องมือเฉพาะไม่มีขายตามท้องตลาด ต้องทำขึ้นมาเอง มีทั้งสิ่วปากตัด สิ่วโค้ง และสิ่วแบบฟันปลาขนาดที่เล็กใหญ่แตกต่างกันหลายขนาด
ธงที่ตอกลายนั้น จะนิยมทำแนวตั้ง เพื่อนำมาติดไว้กับเชือกเส้นเล็กๆ ขนาดเชือกสายว่าวโดยใช้กาวหรือแป้งเปียกทาที่เชือกแล้วนำธงกระดาษไปติด เรียงสลับสีและสลับลาย ระยะต่อแผ่นเว้นแผ่น การขึงธงราวนี้อาจขึงในแนวระนาบ หรือแนวเฉียงก็ได้ นอกจากนี้ยังนิยมแขวนพวงมโหตร รวมไว้กับธงราวด้วย

กลุ่มลูกหว้า
เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มเยาวชนลูกหลานคนเมืองเพชร เพื่อทำกิจกรรมสืบสานงานสกุลช่างของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีความเชื่อร่วมกันว่าการที่จะสืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชรให้ยืนยาวได้นั้น ต้องได้มีโอกาสได้เรียนรู้กระบวนการงานช่างและได้สัมผัสงานแต่ละงานด้วยการปฏิบัติจริง ซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้อย่างยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างดียิ่งจากผู้ใหญ่ใจดีทั้งภาครัฐและเอกชน
เยาวชนกลุ่มลูกหว้า ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านงานทำพวงมโหตรและการตอกลายกระดาษจากคุณครูพิทยา ศิลปศร และคุณครูยุวันดา ศิลปศร ครูช่างเมืองเพชร ปัจจุบัน กลุ่มลูกหว้าจัดกิจกรรมเผยแพร่งานตอกลายกระดาษสู่นักท่องเที่ยวกันทุกวันเสาร์ ณ เขาวังเคเบิลคาร์รถรางไฟฟ้าขึ้นเขาวัง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
นำเสนอโดย กลุ่มลูกหว้า ชุมนุมสืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชร โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี โทร. 0812908091 (อ.จำลอง)
สนับสนุนโดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เขาวังเคเบิลคาร์ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี และโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี

พวงมโหตร ทำเองได้ง่ายจัง
อุปกรณ์
1.กระดาษว่าว สีต่างๆ อย่างน้อย 3 สี
2.ด้าย หรือ เชือกสายป่านว่าว สียาวประมาณ 1 ฟุต
3.กระดาษแข็งรูปวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 นิ้ว เจาะรูตรงกลางร้อยด้าย
4.กรรไกรตัดกระดาษ (ต้องเตรียมเองนะคะ)

วิธีทำ
1.ขั้นตอนแรกต้องตัดกระดาษว่าวออกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อน เอาสีละ 1 แผ่น 3 สี ก็ 3 แผ่น ถ้าต้องการพวงมโหตรขนาดใหญ่ก็ต้องใช้กระดาษที่ใหญ่ขึ้น
2.ต่อไปก็พับกระดาษที่ตัดไว้ให้เป็นสามเหลี่ยม แล้วพับครึ่งสามเหลี่ยมนั้นต่ออีก 2 ครั้ง
3.คราวนี้หมุนยอดสามเหลี่ยมเอาด้านสัน(ด้านที่เปิดไม่ได้) ไปไว้ทางขวามือ แล้วพับสันทับเข้าไปจนดูคล้ายสามเหลี่ยม 2 รูปซ้อนทับกันอยู่(ระวังพับผิดด้านนะคะ)
4.ต่อไปก็ใช้กรรไกรตัดกระดาษสามเหลี่ยมนั้นสลับฟันปลา โดยตัดจากยอดบนลงล่างจนเกือบถึงชายด้านล่าง ให้มีระยะห่างเท่าๆกัน ตัดให้ลึกจนเกือบขาดได้เลยค่ะ ทำทั้ง 3 แผ่นเลยนะคะ
5.เมื่อตัดกระดาษครบแล้วก็คลี่กระดาษออกเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วนำทั้ง 3 แผ่นมาวางซ้อนกัน
6.ใช้ปลายกรรไกรเจาะรูกลางแผ่นกระดาษทั้งสามเพื่อร้อยด้าย อย่าลืมเจาะรูกระดาษแข็งรูปวงกลมรองด้านในก่อน จากนั้นจึงร้อยด้าย
7.ใช้มือจับแต่งให้กระดาษที่ซ้อนกันอยู่นั้นให้เป็นทรงจอมแห แล้วจับด้ายที่โผล่ขึ้นมาด้านบนสะบัดแรงๆ สี่ ห้า ครั้งก็จะได้พวงมโหตรที่สวยงามแล้วละค่ะ ลองทำดูสิคะ ง่ายๆแค่นี้เอง
เคล็ดลับ เวลาใช้กรรไกรตัดกระดาษ ถ้าตัดเฉียงขึ้นบนและตัดถี่ๆ ตัดให้เกือบขาดได้มากที่สุด ก็จะยิ่งเพิ่มความงามให้กับพวงมโหตรได้อีกด้วย แต่ต้องระวังอย่าตัดเพลินจนกระดาษขาดเสียนะคะ

กลุ่มลูกหว้า
กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ ลูกหลานคนเมืองเพชร
https://dekphetch.blogspot.com
จัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม สืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชร และสื่อพื้นบ้าน เช่น พวงมโหตร ธงสิบสองนักษัตร ลูกยอด ใบตาลสานสนุก และอื่นๆ
เยี่ยมชมกิจกรรมได้ทุกวันเสาร์ตั้งแต่ ๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ณ เขาวังเคเบิลคาร์ รถรางไฟฟ้าขึ้นลงพระนครคีรี เพชรบุรี
สอบถามรายละเอียด โทร.๐๘๑๒๙๐๘๐๙๑
E-mail: chumlong@yahoo.com