การใช้คำว่า "อาทิ, เช่น, เป็นต้น, ได้แก่"
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 276.2K views



คำว่า "อาทิ, เช่น, เป็นต้น, ได้แก่"

          คำว่า อาทิ, เช่น, เป็นต้น, ได้แก่ มีหลักเกณฑ์หรือวิธีใช้อย่างไรหรือไม่ เป็นคำถามหนึ่งที่ราชบัณฑิตยสถานมักได้รับจากครูอาจารย์ผู้ที่ต้องเขียนตำรับตำรา นักเขียน หรือสำนักพิมพ์ ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงการใช้ตามความนิยมและตามเหตุผลเฉพาะตัวบุคคลที่ยังมีการใช้ว่า "เช่น...เป็นต้น", "อาทิเช่น", ได้แก่...ฯลฯ" ว่าเป็นเรื่องผิดหรือถูกหรือเหมาะสมไม่เหมาะสมประการใดหรือไม่ เพราะหากผู้ใช้ยืนยันการใช้ด้วยมีเหตุผลและความนิยมเฉพาะตัว ย่อมอยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ทางภาษาที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดและมีแบบแผนไว้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ประธานคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ข้อมูลว่า ราชบัณฑิตยสถานมีหลักเกณฑ์การใช้คำดังกล่าวเป็นแบบแผนสืบเนื่องมาจนปัจจุบันว่า

          คำว่า "เช่น" ใช้ยกตัวอย่างซึ่งตัวอย่างดังกล่าวไม่ได้อยู่ในชุด กลุ่มของเรื่องเดียวกัน และไม่ต้องเรียงตามลำดับ เช่น "มีสัตว์เลี้ยงอยู่ที่บ้าน เช่น สุนัข แมว เป็ด ไก่ ฯลฯ" ทั้งนี้คำว่า "เช่น" ที่ใช้ในกรณีนี้ไม่มีคำว่า "เป็นต้น" ปิดท้ายตัวอย่าง ส่วนเครื่องหมายไปยาลใหญ่คือ ฯลฯ นั้น จะใช้ปิดท้ายตัวอย่างนั้นหรือจะไม่ใช้ก็ได้

         คำว่า "ได้แก่" ใช้ระบุถึงสิ่งที่อยู่ในชุดเดียวกับครบทั้งชุด เช่น "อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค"

          คำว่า "เป็นต้น" อยู่ท้ายตัวอย่างคำที่อยู่ในชุดเดียวกัน ซึ่งเรียงลำดับจากลำดับแรกเป็นต้นไป แต่ไม่ต้องแสดงตัวอย่างทั้งหมด เช่น "อริยสัจ ๔ มี ทุกข์ สมุทัย เป็นต้น"

          คำว่า "อาทิ" มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "เป็นต้น" แต่คำว่า "อาทิ" ตามด้วยตัวอย่างในลำดับแรก เช่น "อริยสัจ ๔ อาทิ ทุกข์" อย่างไรก็ตาม คำว่า "อาทิ" ที่อยู่ท้ายตัวอย่างก็มี ซึ่งตัวอย่างนั้นต้องเป็นตัวอย่างลำดับแรก เช่น "อริยสัจ ๔ มีทุกข์เป็นอาทิ"

          หลักเกณฑ์และแบบแผนนี้ถือเป็นมติของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยแห่งราชบัณฑิตยสถาน และนักวรรณศิลป์ซึ่งเป็นนักวิชาการของราชบัณฑิตยสถานได้ใช้เป็นแบบแผนสืบเนื่องมาในการทำงานวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน ตลอดจนนำไปใช้ในการตอบคำถามเพื่อให้บริการประชาชนที่สงสัยในเรื่องดังกล่าว.

โดยคุณสุปัญญา ชมจินดา
https://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1814