พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น บุคคลดีเด่นของชาติสาขาเผยแพร่เกียรติภูมิด้านสถาปัตยกรรมไทย ปี 2553
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 7.5K views



พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น

          พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น (22 มีนาคม พ.ศ. 2485 - ) ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประยุกต์ศิลป์) สาขาย่อย สถาปัตยกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย อดีตอธิบดีกรมศิลปากร หัวหน้าผู้ออกแบบพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงานก่อสร้างพระเมรุมาศ ทรงปราสาทจตุรมุขยอดเกี้ยว ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ท้องสนามหลวง รวมทั้งได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณปฏิสังขรณ์ โบราณสถานแห่งชาติที่สำคัญหลายแห่ง

ชีวิตและการทำงาน

          พลอากาศตรี อาวุธ เกิดที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชโอรส เมื่อ พ.ศ. 2499 ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนช่างศิลป และศึกษาสถาปัตยกรรมไทยจนได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2507 ซึ่งในสมัยนั้นยังมิได้สถาปนาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ดังเช่นปัจจุบัน

          เมื่อจบการศึกษาและทำงานเป็นผู้ออกแบบเล็กๆ น้อยๆ กับสถาปนิกรุ่นพี่มาระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ค่อยมั่นคงจึงสมัครเข้ารับรับราชการเป็นสถาปนิกประจำกองทัพอากาศอยู่นาน 9 ปี จนติดยศเรืออากาศเอก โดยพลอากาศตรี อาวุธ ได้เคยเล่าเกร็ดชีวิตทหารให้ฟัง ในวันงานเลี้ยงเชิดชูเกียรติ โดยสภาสถาปนิกครั้ง หนึ่งว่า เป็นโชคร้ายหรือโชคดีก็ไม่ทราบ ที่ในเช้าวันหนึ่ง เกิดมองไม่เห็นทหารชั้นนายพลผู้บังคับบัญชาที่เดินสวนมา จึงไม่ได้ยืนตรงทำความเคารพ เลยถูกสั่งขังเสียหลายวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ได้โอนมาเป็นนายช่างศิลป์ สังกัดกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2518 เมื่อถึงปี พ.ศ. 2521 ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบูรณะปฏิสังขรณ์ ในกองสถาปัตยกรรมไทย ในกรมศิลปากรนั้นเอง และได้เจริญเติบโตเรื่อยมา จากที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบูรณะปฏิสังขรณ์ ระดับ 9 จนเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2544 และมาดำรงตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบสถาปัตยกรรมไทย และบูรณะปฏิสังขรณ์สถาปนิกระดับ 10 เมื่อ พ.ศ. 2545 และเกษียณอายุราชการในปีนั้น

          พลอากาศตรี อาวุธ มีผลงานมากมาย โดยเฉพาะผลงานสำคัญ ด้านการอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ และออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมไทย เช่น งานบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์, งานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง, งานออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระเมรุมาศ และอาคารรายรอบที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2538 ดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบ และควบคุมการก่อสร้าง พระที่นั่งสันติชัยปราการ ในสวนสันติชัยปราการ, พระอุโบสถ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นต้น ล่าสุด ได้เป็นหัวหน้าคณะทำงานออกแบบ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการขอพระบรมราชวินิจฉัย และงานอื่นๆ ที่ได้มีส่วนร่วมอยู่หลายงาน เช่น พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นต้น

          ในด้านการเผยแพร่วิชาความรู้ ด้านสถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์ พลอากาศตรี อาวุธ ได้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่เป็นกำลังสำคัญ ที่ภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย ให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่จบการศึกษามา นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้บรรยาย และเป็นวิทยากรในกิจกรรมทางวิชาการมากมาย

เกียรติคุณที่ได้รับ

          อาจารย์อาวุธ ได้รับการยกย่อง เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2539 ซึ่งในปีเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ในปี พ.ศ. 2540 ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนาวาอากาศเอก ในปีต่อมาก็ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปสถาปัตยกรรม (สถาปัตยกรรมไทย) และในปี พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลอากาศตรี

          อาจารย์อาวุธ ได้รับเชิดชูเกียรติจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศาสตราภิชาน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2554 ในสาขาสถาปัตยกรรม

 

ข้อมูลจาก wikipedia