ดร.ฟรานซิส บี. แซร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 146.4K views



 ประวัติและผลงานที่สำคัญ     

                พระยากัลยาณไมตรี เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ที่มลรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้เป็นศาสตราจารย์วิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ก่อนที่จะเข้ามารับราชการในประเทศไทยในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๘

     ดร.แซร์ มีบทบาทสำคัญในการปลดเปลื้องข้องผูกพันตามสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยทำไว้กับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔ และสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันที่ไทยทำไว้กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายไทยเสียเปรียบมากในเรื่องที่คนในบังคับต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลไทย และไทยจะเก็บภาษีจากต่างประเทศเกินร้อยละ ๓ ไม่ได้ ประเทศไทยพยายามหาทางแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ปรากฏว่ามีเพียง ๒ ประเทศที่ยอมแก้ไขให้โดยยังมีข้อแม้บางประการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยอมแก้ไขใน พ.ศ. ๒๔๓๖ และญี่ปุ่นยอมแก้ไขใน พ.ศ. ๒๔๖๖

     เมื่อ ดร.แซร์ เข้ามาประเทศไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศในยุโรป ดร.แซร์ เริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานใน พ.ศ. ๒๔๖๗ การเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเต็มที่ แต่เนื่องจาก ดร.แซร์ เป็นผู้มีวิริยอุตสาหะ มีความสามารถทางการทูต และมีความตั้งใจดีต่อประเทศไทย ประกอบกับสถานภาพส่วนตัวของ ดร.แซร์ ที่เป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา จึงทำให้การเจรจาประสพความสำเร็จ ประเทศในยุโรปที่ทำสนธิสัญญากับไทย ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี และเบลเยี่ยม ยินยอมแก้สนธิสัญญาให้เป็นแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกายอมแก้ให้

     ดร.แซร์ ถวายบังคมลาออกจากหน้าที่กลับไปสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ แต่ก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ดังเช่นใน พ.ศ. ๒๔๖๙ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ดร.แซร์ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ตามที่ทรงถามไป และยังได้ร่างรัฐธรรมนูญถวายให้ทรงพิจารณาด้วย

     จากคุณงามความดีที่ ดร.แซร์ มีต่อประเทศไทย จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๑ รัฐบาลไทยได้ตั้งชื่อถนนข้างกระทรวงต่างประเทศ (วังสราญรมย์) ว่าถนนกัลยาณไมตรีพระยากัลยาณไมตรีถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ อายุได้ ๘๗ ปี

เรื่องน่ารู้

     ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นชาวตะวันตกคนที่ ๒ ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรีชาวตะวันตกคนแรกที่เป็นพระยากัลยาณไมตรี เป็นคนอเมริกันเช่นเดียวกับ ดร.แซร์ มีนามเดิมว่า เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด (Jens Iverson Westengard) เข้ามารับราชการในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ โดยใน พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๒๔๕๑ เป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หลังจากนั้นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงกราบถวายบังคมลาออกกลับไปสหรัฐอเมริกา เวสเตนการ์ดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ และถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ อายุ ๔๗ ปี

ที่มา : https://www.thaigoodview.com/node/84545