บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ ตอนที่ 1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 86.3K views




              พระสังฆราชฌัง-บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ (Bishop Jean-Baptiste Pallegoix) นับเป็นผู้มีคุณูปการอย่างมากต่อประเทศสยาม ด้วยเป็นผู้มีความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ การชุบแร่โลหะ วิชาไฟฟ้าและวิชาถ่ายรูป โดยส่วนใหญ่เกิดจากการอ่านตำรับตำราและทดลองทำด้วยตนเองจนประสบผลสำเร็จ แล้วท่านได้นำเอาวิทยาการแผนใหม่เหล่านี้เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่งผลให้ชาวสยามได้นำเอาความรู้เหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาประเทศของตนให้มีความศิวิไลซ์ (Civilization) เทียมเท่านานาอารยประเทศ
               พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ถือกำเนิดที่เมืองกอมแบรโตลท์ (Combertault) จังหวัดโกต-ดอร์ (C?te-d’Or) ในแคว้นบูร์กอญ (Bourgogne) ทางฝั่งตะวันออกของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ (พ.ศ. ๒๓๔๘)ท่านได้เข้ารับการอบรมสำหรับเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ที่บ้านเณรใหญ่ในเมืองลียง (Lyon) ขณะอายุได้ ๑๗ ปี แล้วมาเป็นอาจารย์สอนเทววิทยาของบ้านเณรซัมเบรีใน ค.ศ. ๑๘๒๔ (พ.ศ. ๒๓๖๗) โดยท่านได้อาศัยเวลาช่วงพักร้อนในห้อง ค.ศ. ๑๘๒๖ (พ.ศ. ๒๓๖๙) เขียนประวัติย่อของนักบุญฟรังซัวส์ ซาเวียร์ (Saint Francois Xavier) ผู้เผยแผ่พระคริสต์ศาสนาท่านแรกของคณะมิสซังคาทอลิกในดินแดนตะวันออกไกล 
                        เมอซิเยอร์ปัลเลอกัวซ์ได้ย้ายมาอยู่ที่สามเณราลัยคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (S'minaire des Missions'trang'res de Paris หรือนิยมเรียกอย่างย่อว่า M.E.P.) บนถนนบัค (Rue de Bac) เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๒๗ (พ.ศ. ๒๓๗๐) และท่านได้รับศีลบรรพชาเป็นพระในพระคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๒๘ (พ.ศ. ๒๓๗๑) ขณะอายุได้ ๒๓ ปี โดยทางคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสได้มอบหมายให้บาทหลวงปัลเลอกัวซ์และบาทหลวงแดส์ชาวานส์ (M. Deschavanes) เป็นธรรมทูตเดินทางไปเผยแผ่พระคริสต์ศาสนายังกรุงสยาม
              บาทหลวงปัลเลอกัวซ์และบาทหลวงแดส์ชาวานส์ ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองฮาฟร์ (Havre) ในวันที่ ๓๑ สิงหาคมศกเดียวกันนั้น โดยมาพักอยู่ที่เมืองมาเก๊า (Macao) เป็นเวลานานหลายเดือนจึงเดินทางต่อมายังเมืองสิงคโปร์ (Singapore) แล้วค่อยเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์พ.ศ. ๒๓๖๗-๙๔) เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๓๐ (พ.ศ. ๒๓๗๓) ขณะอายุได้ ๒๕ ปี บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ได้มาพำนักอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ (Assumption Church) ตำบลบางรัก ในขณะนั้นท่านยังไม่รู้ภาษาไทยเลยแม้แต่คำเดียว จึงลงทุนลงแรงเรียนรู้ภาษาไทยอยู่หลายเดือน จึงค่อยเริ่มต้นทำงานเผยแผ่พระคริสต์ศาสนาในหมู่พวกนอกรีต (gentile) ชาวจีน

พระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์พระสหายต่างศาสนา

ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้สเจ้าอยู่หัว ผู้มีส่วนสำคัญในการนำความศิวิไลซ์มาสู่ประเทศสยาม

                แต่ด้วยความที่บาทหลวงปัลเลอกัวซ์เป็นคนหนุ่มไฟแรง ก็เห็นว่าทำงานมิสซังที่เมืองบางกอกไร้ซึ่งชีวิตชีวาและไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใดๆ ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอน จะเป็นก็แต่เพียงรักษาวัดเดิมไว้เท่านั้น ท่านจึงไม่ใคร่อยากจะสอนสามเณรพื้นเมืองอยู่ที่เมืองบางกอก จึงขออนุญาตมงเซเญอร์แอ็สปรีต์ ยอแซฟ มารี ฟลอรังส์ (Monseigneur Esprit Joseph Marie Florens) พระสังฆรา ชแห่งเมืองโสโซโปลิส (Bishop of Sozopolis พ.ศ. ๒๓๕๔-๗๗) ย้ายไปทำงานมิสซังอยู่ยังเมืองกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เพราะสถานที่แห่งนั้นยังไม่มีบาทหลวงคาทอลิกเลยแม้แต่คนเดียว ตั้งแต่เมื่อครั้งเสียกรุงพระนครศรีอยุธยาให้แก่กองทัพพม่าใน ค.ศ. ๑๗๖๗ (พ.ศ. ๒๓๑๐) ส่งผลให้ชาวคริสตัง (Chr?tien) ที่เมืองกรุงเก่ามีสภาพชีวิตค่อนข้างย่ำแย่ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ
              พระสังฆราชฟลอรังส์จึงได้ซื้อที่ดินของหมู่บ้านคริสตังดั้งเดิม ที่ตำบลหัวรอกลับคืนมาใน ค.ศ. ๑๘๓๑ (พ.ศ. ๒๓๗๔) บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ก็ลงมือสร้างโบสถ์หลังใหม่ลงบนรากฐานเดิมของวัดนักบุญยอแซฟ (Saint Joseph Church) เพราะโบสถ์หลังเก่าถูกเพลิงเผาผลาญจนกลายเป็นเถ้าถ่านมาตั้งแต่ครั้งเสียกรุงพระนครศรีอยุธยา
              แต่จากการที่บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ฝ่าฝืนคำสั่งของทางการสยาม ที่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางออกนอกเขตพระนคร และยังละเมิดกฎหมายด้วยการนำเอาครูสอนพระคริสต์ธรรมและพวกคริสตังเ ดินทางไปรวมตัวกันอยู่ที่เมืองกรุงเก่า สำหรับการรื้อฟื้นกลุ่มคริสตังขึ้นมาใหม่ จึงถูกขัดขวางจากขุนนางหัวเก่าที่หวาดระแวงในตัวท่าน แม้ก่อนหน้านี้บาทหลวงปัลเลอกัวซ์จะได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ตาม ส่งผลให้โบสถ์วัดนักบุญยอแซฟมาแล้วเสร็จเอาในค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) และกว่าจะทำพิธีเสกก็ล่วงเข้าปี ค.ศ.๑๘๖๗ (พ.ศ. ๒๔๑๐)
              ในห้วง ค.ศ. ๑๘๓๔ (พ.ศ. ๒๓๗๗) บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ได้ตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในเขตเ มืองลพบุรี เพื่อสั่งสอนพระคริสต์ธรรมในหมู่ชาวลาว แต่ท่านกลับถูกข้าราชการท้องถิ่นของเมืองลพบุรีจับมาคุมขังไว้ในคุกถึง ๒ วัน แล้วจึงถูกนำตัวไปพิจารณาคดียังเมืองพรหมตามข้อกล่าวหาของเจ้าเมืองลพบุรี ท่านเดินทางมาถึงเมืองพรหมด้วยร่างกายอ่อนล้าจากความหิวโหย แต่ในที่สุดบาทหลวงปัลเลอกัวซ์ก็ได้รับการปล่อยตัว เพราะเจ้าเมืองพรหมเห็นว่าท่านเป็นเพียงนักบวชต่างชาติคนหนึ่งเท่านั้นหาได้มีอันตรายต่อรัฐบาลสยามแต่อย่างใดไม่

พระสังฆราชแห่งเมืองมัลลอส
              เดิมการทำงานเผยแผ่พระคริสต์ศาสนา ในเขตการปกครองมิสซังสยามมักจะพบกับอุปสรรคอยู่เสมอ ภายหลังจึงค่อยมีผลการทำงานที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของ มงเซ เญอร์อาร์โนด์ อังตวน การ์โนลต์ (Mgr. Arnaud Antonine Garnault) พระสังฆราชแห่งเมืองเมโทลโลโปลิส (Bishop of Metellopolis พ.ศ. ๒๓๒๙-๕๔)
               แต่ความที่มิสซังสยาม มีอาณาเขตปกครองครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล โดยรวมเนื้อที่ของประเทศสยาม เมืองทวาย เกาะปีนัง เมืองสิงคโปร์ เมืองมะละกาและเกาะสุมาตรา ส่งผลให้มีพวกบาทหลวงและชาวคริสตังจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน กอปรกับการที่ยังไม่มีการแบ่งงานอย่างเป็นระบบมากนัก ย่อมไม่เป็นผลดีต่อมิสซังสยามในอนาคต
               เมื่อมงเซเญอร์ฌัง-ปอล ฮิแลร์ มิเชล กูรเวอซี (Mgr. Jean-Paul-Hilaire-Michel Courvezy) ได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งเมืองบีดา (Bishop of Bida พ.ศ. ๒๓๗๗-๘๔) แทนพระสังฆราชฟลอรังส์ที่มรณภาพใน ค.ศ. ๑๘๓๔ (พ.ศ. ๒๓๗๗) ทางสมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อก็ได้มอบหมายให้พระสังฆราชกูรเวอซี เจ้าคณะเขตเผยแผ่พระคริสต์ศาสนาประจำประเทศสยามคนใหม่ จัดเตรียมการแบ่งแยกมิสซังสยามออกเป็น ๒ เขต โดยท่านพระสังฆราชได้ขอให้ทางสำนักวาติกันอนุมัติแต่งตั้งอุปสังฆราช หรือผู้ช่วยเจ้าคณะเขตเผยแผ่พระคริสต์ศาสนาประจำประเทศสยามขึ้นใหม่อีกตำแหน่งหนึ่ง สำหรับดูแลพระคริสตจักรในกรุงสยามเป็นกรณีพิเศษ
              ในปีเดียวกันนี้ พระสังฆราชกูรเวอซีเห็นว่าวัดซางตาครู้ส (Sainte Croix Church) หรือวัดกุฎีจีนทางฝั่งธนบุรีมีสภาพผุพังดูคล้ายกับโรงเก็บของ และภายในมีสภาพชื้นแฉะ พระแท่นก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยของพวกอสรพิษ จึงเรียกตัวบาทหลวงปัลเลอกัวซ์กลับมาเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่จนแล้วเสร็จ ซึ่งท่านพระสังฆราชได้ทำพิธีเสกเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๓๕ (พ.ศ. ๒๓๗๘)
               การที่บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ มุมานะทำงานอย่างหนักทำให้ล้มป่วยลงด้วยโรคปอดอักเสบใน ค.ศ. ๑๘๓๔ (พ.ศ. ๒๓๗๗) จึงเดินทางไปรักษาตัวที่เมืองสิงคโปร์เป็นระยะเวลานานกว่า ๖ เดือน ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใฝ่รู้ในวิชาภาษาศาสตร์ หลังจากสั่งสมประสบการณ์จนมีความรู้ความชำนาญในภาษาไทยเป็นอย่างดีไม่แพ้นักปราชญ์ชาวสยาม จึงอาศัยช่วงเวลาในการพักฟื้นจากอาการป่วยเตรียมเรียบเรียงพจนานุกรม ๔ ภาษา (ไทย-ฝรั่งเศส-อังกฤษ-ลาติน) และคำอ่านที่ท่านสะสมมาเป็นจำนวนมากกว่า ๒๕,๐๐๐ คำแล้ว
               เมื่อบาทหลวงปัลเลอกัวซ์ เดินทางกลับมาจากรักษาอาการป่วยที่เมืองสิงคโปร์ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ (พ.ศ. ๒๓๗๘) พระสังฆราชกูรเวอซีก็ได้แต่งตั้งท่านเป็นอุปสังฆราชเมื่อวันที่ ๓ มิถุนา ยน ค.ศ. ๑๘๓๖ (พ.ศ. ๒๓๗๙) มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลมิสซังสยาม ส่วนตัวท่านพระสังฆราชเองนั้นมีแผนที่จะอพยพย้ายไปประจำอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของคณะมิสซังสยาม
              อุปสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้ย้ายมาเป็นพระอธิการอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญ (Immaculate Conception Church) หรือวัดพระแม่ปฏิสนธินิรมล (วัดบ้านเขมร) ตำบลสามเสน ท่านได้พยายามทะนุบำรุงวัดแห่งนี้ให้เจริญรุดหน้าขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้พวกเข้ารีตมาสวดภาวนาที่วัดมากขึ้น เมื่อท่านเห็นว่าโบสถ์แห่งนี้คับแคบเกินไป จึงลงมือสร้างโบสถ์หลังใหม่แทนโบสถ์หลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ โดยกระทำพิธีเสกเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๓๗ (พ.ศ. ๒๓๘๐)
              ครั้นวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๘ (พ.ศ. ๒๓๘๑) พระสังฆราชกูรเวอซีได้ประกอบพิธีอภิเษกอุปสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ให้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์เป็นพระสังฆราชแห่งเมืองมัลลอส (Bishop of Mallos พ.ศ. ๒๓๘๔-๒๔๐๕) เพื่อปกครองดูแลคณะมิสซังในกรุงสยามเป็นกรณีพิเศษ ณ วัดคอนเซ็ปชัญ
              ในศกเดียวกันนั้น พระสังฆราชกูรเวอซีเห็นว่าโบสถ์ไม้หลังเก่าของวัดกาลหว่าร์ (Calvaire Church) ที่ตำบลตลาดน้อย ผุพังตามกาลเวลาจนไม้สามารถซ่อมแซมได้แล้ว จึงมอบหมายให้พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ดำเนินการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนโบสถ์หลังเก่า
              แต่เดิมที่ดินของวัดกาลหว่าร์เป็นของพวกคริสตังโปรตุเกส กงสุลโปรตุเกสจึงยื่นเรื่องต่อรัฐบาลสยาม เพื่อขอให้โอนที่ดินผืนนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลโปรตุเกสแต่รัฐบาลสยามแจ้งกลับมาว่า ที่ดินแปลงนี้ได้ยกให้แก่มิสซังโรมันคาทอลิก ไม่ได้ยกให้เป็นสิทธิแก่รัฐบาลโปรตุเกส เรื่องจึงเงียบไป เมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์สร้างโบสถ์หลังใหม่เสร็จแล้ว จึงได้ทำพิธีเสกเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๓๙ (พ.ศ. ๒๓๘๒) โดยตั้งชื่อเสียใหม่ว่า วัดแม่พระลูกประคำ ส่งผลให้พวกโปรตุเกสพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะรูปแม่พระลูกประคำของพวกตนได้รับเกียรติให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดแห่งนี้
              ในห้วง ค.ศ. ๑๘๔๑ (พ.ศ. ๒๓๘๔) พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้สร้างสถานอบรมคริสตังทั้งวิทยาลัยและบ้านเณรใหญ่ขึ้นในคณะมิสซังคาทอลิกของตน ตามพระบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ทรงกำชับกำชาไว้อย่างแข็งขันเรื่อยมาทุกพระองค์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ สั่งห้ามมิให้พวกบาทหลวงส่งนักเรียนคริสตังไปศึกษาพระคริสต์ธรรมยังเกาะปีนัง เหมือนอย่างแต่ก่อนมาด้วยอีกประการหนึ่ง
              ในสมณโองการยูนีแวรซี ดอมีนีซี (Universi Dominici) จากกรุงโรม ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ค.ศ. ๑๘๔๑ (พ.ศ. ๒๓๘๔) ได้แบ่งแยกเขตการปกครองของคณะมิสซังสยามออกเป็น ๒ เขต คือ มิสซังสยามตะวันออกซึ่งนิยมเรียกว่า มิสซังสยาม ได้แก่ ประเทศสยามและลาว โดยมีพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์เป็นผู้แทนขององค์สมเด็จพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ และมิสซังสยามตะวันตก ซึ่งนิยมเรียกว่า มิสซังมะละกา ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย เมืองมะละกา เกาะปีนัง เกาะสุมาตรา และเมืองทวาย โดยมีพระสังฆราชกูรเวอซีเป็นผู้แทนองค์สมเด็จพระสันตะปาปาประจำอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผลดีต่อคณะมิสซังสยามอยู่มิใช่น้อย เพราะทำให้การทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และสามารถทุ่มเทกำลังทรัพย์สำหรับการขยายเขตงานเผยแผ่พระคริสต์ธรรมออกไปได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน นับแต่นั้นมาพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ก็ได้เป็นเจ้าคณะเขตประจำประเทศสยามแต่เพียงผู้เดียว
              ครั้น ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้ย้ายไปเป็นพระอธิการอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ เมื่อท่านเห็นว่าบาทหลวงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็เห็นเป็นโอกาสเหมาะสมที่จะสถาปนาคณะมิสซังขึ้นในบรรดาหัวเมืองประเทศราชของกรุงสยาม จึงส่งบาทหลวงฌัง-บัปติสต์ กรังด์ฌัง (M. Jean-Baptiste Grandjean) และบาทหลวงวาชาล (M. Vachal) เดินทางไปสำรวจยังราชอาณาจักรเชียงใหม่ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ท่านจึงยกเลิกโครงการนี้เสีย
              แม้พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ จะได้พยายามส่งบาทหลวงคาทอลิกเดินทางไปเผยแผ่พระคริสต์ธรรมยังหัวเมืองอันห่างไกลของกรุงสยามอยู่มิได้ขาด แม้จะต้องประสบกับความล้มเหลวอยู่เป็นนิจ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในยุคนั้นยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่ท่านก็ยังมุ่งมั่นในการทำงานเผยแผ่พระคริสต์ธรรมต่อไป โดยมิได้รู้สึกท้อแท้ใจแต่ประการใด
              ใน ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ได้ย้ายมาเป็นพระอธิการอยู่ที่วัดคอนเซ็ปชัญซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) โดยมีเพียงลำคลองแคบๆขวางกั้นกลางเท่านั้น อันเป็นพุทธสถานที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๑๑)เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวช เป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้
              ด้วยความที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระทัยใฝ่รู้ในวิทยาการแผนใหม่ของฝรั่งตะวันตก เมื่อพระองค์ทรงทราบกิตติศัพท์ถึงความรอบรู้ของพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ ก็มีรับสั่งให้นายเกิดมหาเล็กไปเชิญพระสังฆราชมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสขอให้ท่านช่วยสอนสรรพวิทยาการของชาติตะวันตกแก่พระองค์ ได้แก่ วิชาภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ และภาษาละติน ซึ่งท่านพระสังฆราชก็ยินดีถวายพระอักษรให้ตามพระประสงค์ โดยพระองค์ทรงสอนภาษาไทย ภาษาบาลี พระพุทธศาสนา และพงศาวดารสยามให้เป็นการตอบแทนแก่พระสังฆราช จากการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันนี้ ได้ก่อให้เกิดมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างนักปราชญ์ทั้งสองขึ้น จึงเป็นเหตุให้พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ กลายมาเป็นพระสหายสนิทสนมยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
              ครั้น ค.ศ.๑๘๔๕(พ.ศ.๒๓๘๘)พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้สร้างสำนักพระสังฆราชขึ้นใหม่แทนบ้านหลังเดิมที่มุงหลังคาด้วยหญ้าแฝกและในห้วง ค.ศ.๑๘๔๘-๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๑-๙๒) ท่านพระสังฆราชก็ได้สร้างอารามสำหรับภคินีชาวญวนขึ้นในเมืองบางกอกตามที่ตั้งใจไว้แต่เดิม