หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงค์กระต่าย อิศรางกูร)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 94.9K views



ประวัติหม่อมราโชทัย

หม่อมราโชทัย นามเดิม หม่อมราชวงค์กระต่าย อิศรางกูร เป็นบุตรของกรมหมื่นเทวานุรักษ์พระราชินีในรัชกาลที่ ๒ เป็นปนัดดาของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

หม่อมราชวงศ์กระต่ายเกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๖๓ เมื่อเจริญวัยบิดาได้นำไปถวายตัวอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงพนะอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์พงศาอิศวรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร หม่อมราชวงค์กระต่ายได้อยู่รับใช้ในพระองค์ท่านตลอดมาด้วยเป็นญาติใกล้ชิดทางพระราชมารดาในเจ้าฟ้ามงกุฎ

เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชมีฉายาว่า “ วชิรญาณ ” หม่อมราชวงค์กระต่ายก็ได้ตามเสด็จไปอยู่รับใช้โดยตลอด ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงค์กระต่ายก็ได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยได้ศึกษากับพวกหมอสอนศาสนามิชชันนารีจนมีความรู้ภาษาอังกฤษดี เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔ หม่อมราชวงค์กระต่ายก็ได้ติดตามสมัครเข้ารับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณและด้วยความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ จึงได้เลื่อนยศเป็น “ หม่อมราโชทัย ”

เมื่อมีพระราชดำริให้จัดส่งราชทูตเชิญพระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการไปอังกฤษ ก็ได้ให้ หม่อมราโชทัย ไปเป็นล่าม ภายหลังกลับมาแล้วก็ทรงโปรดเกล้าให้เป็น อธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรก.

                หม่อมราโชทัยถึงแก่อานิจกรรมเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๑๐ เมื่ออายุได้ ๔๓ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าให้จัดการรับพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดอรุณราชวราราม เมื่อ วันที่๑๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๐ .

คณะราชทูตไปเจริญไมตรีกับอังกฤษ หม่อมราโชทัย ล่ามหลวง “นิราศลอนดอน”

ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาทิพยากรวงศ์ ได้เขียนถึงพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่ง...

             “พระนครก็สมบูรณ์มั่งคั่งด้วยสมบัติ ลูกค้าวานิชมาตั้งห้างค้าขาย สิ่งของต่างๆที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น ของที่ไม่เคยมีก็มีขึ้น และลูกค้านานาประเทศเข้ามาซื้อสินค้าออกไปปีหนึ่งถึง ๓๐๐ ลำ บางปีก็มีถึง ๔๐๐ ลำ ราษฎรก็ได้ขายข้าวแก่ลูกค้านานาประเทศ จำนวนข้าวออกในปีหนึ่งถึง ๘๐,๐๐๐ เกวียน...ราษฎรก็ได้มั่งมีเงินทองขึ้นทุกแห่งทุกตำบล...”

             รัฐบาลอังกฤษได้แต่งตั้งให้ เซอร์จอห์น บาวริ่ง ผู้สำเร็จราชการเกาะฮ่องกงแห่งอังกฤษ เป็นผู้อัญเชิญพระราชสาส์น สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งอังกฤษ เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับสยามประเทศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗

             รัชกาลที่ ๔ ทรงต้อนรับ เซอร์จอห์น บาวริ่ง อย่างสมเกียรติ ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อท่านเซอร์ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี ปี พ.ศ.๒๓๙๘ ได้บันทึกถึงพระราชไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศ ได้ทูลเกล้าฯ หนังสือเล่มนี้ถวายรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงสยาม นามประเทืองว่าเมืองทอง...

             “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งตะวันออก ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ตามกาลสมัยและตามความรู้ซึ้งถึงสถานการณ์จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี ทั้งพระองค์ทรงฝักใฝ่ในวรรณคดี และปรัชญาตะวันตก จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยากมาก พระองค์ทรงพระมหากรุณาธิคุณแก่ เซอร์จอห์น บาวริ่ง อย่างสมเกียรติ...สยามประเทศจะได้เจริญก้าวหน้าไปสู่ความสมบูรณ์พูนผลและมิตรไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งจะเจริญด้วยอารยธรรม...”

             รัชกาลที่ ๔ ทรงพระปรีชาสามารถวิชาภาษาอังกฤษตั้งแต่ทรงจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส ทรงสนพระทัยภาษาสากลได้ดีมาก ทรงใช้ถ้อยสำนวนในพระราชนิพนธ์เป็นอย่างดี เป็นที่กล่าวขวัญกันในประเทศยุโรป... “พระเจ้าแผ่นดินทางตะวันออกพระองค์เดียวที่ทรงพระปรีชาภูมิปัญญาทางภาษาอังกฤษในสมัยนั้น...”

             พระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถวาย สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ทรงยกย่องประเทศอังกฤษเจริญระดับโลก... “พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” เป็นที่ประทับพระทัยยิ่งนัก และแล้วอังกฤษเป็นชาติแรกรับสนองพระราชดำริ การเจริญสัมพันธไมตรีด้วยดี สุดจะรำพัน

             ประเทศอังกฤษได้จัดส่งเรือกำปั่นมายังสยามประเทศ เพื่อต้อนรับคณะราชทูตไทยไปเจริญไมตรีกับอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ พระสยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นราชทูต และเจ้าพนักงานกำกับดูแลพระราชบรรณาการ พระราชสาส์น โดย หม่อมราโชทัย เป็นล่ามหลวง พร้อมคณะราชทูต เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าวิคเตอรีย อย่างสมพระเกียรติ

             ก่อนคณะราชทูตไทยจะกลับพระนคร ทรงรับสั่งให้จัดซื้ออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น...กล้องจุลทรรศน์ กล้องถ่ายรูป เครื่องมือการคำนวณ แท่นพิมพ์ ฯลฯ ทั้งนี้ตามพระราชประสงค์ทุกประการ

             หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ล่ามหลวงผู้มีพรสวรรค์แต่ง “นิราศลอนดอน” และจดหมายเหตุประสบความสำเร็จ ทางราชการได้จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง และเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วยดีในรัชกาลที่ ๔ ทั้งนี้ โดยหมอบรัดเลย์ พิมพ์จำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๒ ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๐๘

“นิราศลอนดอน” และจดหมายเหตุ โดยหม่อมราโชทัย หนังสือดี มีคุณค่า ที่น่าอ่าน จากนั้นจนบัดนี้...ขออนุญาตเปิดฉาก “นิราศลอนดอน” อาหารสมองและอาหารใจ...

“นิราศเรื่องเมืองลอนดอนอาวรณ์ถวิล

จำจากมิตรขนิษฐายุพาพิณ เพียงจะสิ้นชีวาด้วยอาลัย

ถ้าแม้นผิดมิใช่กิจนรินทร์ราช ไม่คลาคลาดคลายชิดพิสมัย

โดยภักดีมีประสงค์จำนงใน อาสาไทจอมจักรหลักนคร

มะเส็งศุกร์เดือนเก้าขึ้นสามค่ำ แสนระกำด้วยจะไปไกลสมร

เข้าชิดโฉมโลมลาพงางอน กล่าวสุนทรปลอบน้องอย่าหมองนวล

คอยอยู่เถิดนงเยาว์ลำเพาพักตร์ จะร้างรักแรมชมภิรมย์สงวน

ใช่แกล้งหน่ายแหนงขวัญใจรัญจวน อย่าคร่ำครวญโศกสร้อยน้อยฤทัย.”

กวีเอก “หม่อมราโชทัย” ปิดฉากด้วยลีลากวีนิราศ เชิญชวนอ่าน...

“มิใช่แกล้งแต่งคารมด้วยคมปาก มาถางถากทำให้ฤทัยหมอง

การที่ว่าเห็นไม่งามตามทำนอง อย่าขัดข้องหมองหมางระคางทรวง

แม้นผู้ใดจะใคร่ซื้อหนังสือบ้าง เชิญไปห้างปากช่องคลองบางหลวง

มีกฎหมายสำหรับความตามกระทรวง ฉบับหลวงตีตามเนื้อความไทย

เชิญไปดูจะได้รู้หลายชนิด หรือจะจ้างช่างปิดใบปกใหม่

ไม่แพงมากเกินราคาระอาใจ เชิญท่านไปชมบ้างที่ห้างเอย”

 

ที่มา : https://www.panyathai.or.th/