อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 14K views



อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตอนที่ 1
อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตอนที่ 2

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

หว้ากอ...ดินแดนแห่งนี้นับเป็นอนุสรณ์สถานที่ได้จารึกพระนาม คิงมงกุฎ ไว้ในหน้า ประวัติศาสตร์ให้โด่งดังปรากฏไปทั่วโลก และนำพระเกียรติยศเกียรติประวัติมาสู่ประเทศไทย นำความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนชาวไทยตราบทุกวันนี้ โดยเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เพื่อทรงพิสูจน์การคำนวณสถานที่และเวลาการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างถูกต้องชัดเจน ซึ่งคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปีว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช 1230 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2411 โดยเส้นศูนย์ของอุปราคา จะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในพระราชอาณาจักรสยาม ทางฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ตรงเส้นวิตถันดร (แลตติดจูต) 11 องศา 38 ลิปดาทิศเหนือ และเส้นทีรฆันดร (ลองติดจูต) 29 องศา 39 ลิปดาทิศตะวันออก โดยคราสเริ่มจับเวลา 10 นาฬิกา 4 นาที จับเต็มดวง เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 20 วินาที กินเวลานาน 6 นาที 45 วินาที คลายคราสออกเวลา 13 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการคำนวณจากประเทศตะวันตกมาก่อนหน้านี้

ในระหว่างนั้นประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างก็เฝ้ารอวันพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ เมื่อใกล้ถึงวัน ทรงโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาสร้างค่ายไว้ล่วงหน้า และพระองค์ได้ใช้ค่ายนี้เป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์กลางแจ้ง เพื่อเป็นที่ชุมนุมของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกและคณะฑูตานุทูตประเทศต่างๆ แล้วก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตามที่พระองค์ทรงคำนวณ โดยไม่คลาดเคลื่อน พระราชกรณียกิจในครั้งนั้นทำให้พระเกียรติยศระบือไกล บรรดาแขกต่างประเทศจำนวนมากได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่มีไม่แพ้ชาติใด ทั้งๆที่ยังขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ พระเกียรติคุณในด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก แต่ประชาชนชาวไทยก็ต้องประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพได้เพียง 5 วัน ก็ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตด้วยไข้มาเลเรีย ในวันที่ 1 ตุลาคม 2411 นั่นเอง

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์และวันสำคัญทางประวัติศาสตร์นั้นในวันที่ 16 พฤษภาคม 2532 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ว่า "อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์" โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งขึ้นเป็นสถานศึกษาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2536 ปัจจุบันสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
"พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"

ข้อมูลทั่วไป

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ริมอ่าวหว้ากอ ในตำบลคลองวาฬห่างจากตัวเมืองประจวบฯ ไปทางทิศใต้ราว 12 กิโลเมตร มีอาณาเขตรวมเนื้อที่ 485 ไร่ 1 งาน 56.2 ตารางวา พื้นที่ด้านตะวันออกถูกขนาบด้วยทะเลฝั่งอ่าวไทย มีทิวสนทะเลขึ้นตลอดแนวชายหาด สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย สภาพภูมิอากาศแบ่งเป็น 3 ฤดูกาลคือ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม - พฤศจิกายน และฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคม - มกราคม

ในอดีต หว้ากอ เป็นชื่อหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลคลองวาฬซึ่งเคยเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงคำนวณไว้ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่นี่ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรสุริยุปราคา ณ ที่แห่งนี้พร้อมพระราชโอรส พระราชธิดา ข้าราชบริพาร ตลอดจนทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าให้ชาวต่างประเทศได้มีโอกาสร่วมชมปรากฎการณ์ครั้งนี้ด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรด้วยไข้มาเลเรียและเสด็จสวรรคตอันเนื่องมาจากเสด็จหว้ากอในครั้งนั้น และแล้วค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับ ณ บ้านหว้ากอ ก็ถูกลืมและทิ้งให้ปรักหักพังไปตามสภาพ

ต่อมาในปี พ.ศ.2536 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา เพื่อเทิดพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสนองนโยบายการกระจายโอกาสในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีดาราศาสตร์ อวกาศ และสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ

ฐานการเรียนรู้

อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดให้บริการฐานการเรียนรู้ 25 ฐานการเรียน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม การเีรียนรู้ดังนี้
1.กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ได้แก่ ฐานพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย , ฐานบันทึกเกียรติยศ , ฐานโลกอนาคต , ฐานเมืองเด็ก , ฐานคมนาคมและขนส่ง , ฐานเปิดโลกพลังงาน , ฐานสวนวิทยาศาสตร์ , ฐานเปิดโลกคอมพิวเตอร์ , ฐานหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ , ฐานเทคโนโลยีเพื่ออาชีพ , ฐานวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ , ฐานโบราณสถาน , ฐานพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย , ฐานอุทยานการศึกษาพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

2.กลุ่มดาราศาสตร์และอวกาศ ได้แก่ ฐานฟากฟ้า ณ หว้ากอ , ฐานมนุษย์กับดวงดาว , ฐานพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ไทยกับดาราศาสตร์ , ฐานความเป็นไปได้ในจักรวาล , ฐานเทคโนโลยีอวกาศและเอกภพ

3.กลุ่มธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฐานธรรมชาติศึกษา , ฐานนกและแมลง , ฐานทรัพย์จากแผ่นดิน & สวนหิน , ฐานระบบนิเวศ & โลกเรา ขุนเขา และทะเล , ฐานพื้นที่ชุ่มน้ำ , ฐานพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

รายละเอียดค่าใช้่จ่ายในการศึกษาฐานการเรียนการสอน
สนใจจองและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : งานการตลาด 032-661104 ต่อ 15
หมายเหตุ : เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. (วันจันทร์ - ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ)

 

คลิปวิดีโอจากรายการ ทรูปลูกปัญญาดอทคอม https://www.trueplookpanya.com/true/tv_list.php

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.waghor.go.th/newweb/home/index.php