องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 16.4K views



องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ประวัติความเป็นมา
ปี 2533 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ขั้นโดยให้ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการ และรับผิดชอบงาน
ปี 2534 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระชนมพรรษา 5 รอบ กำหนดกรอบงบประมาณโครงการ650 ล้านบาท
ปี 2535 ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่ก่อสร้าง ศึกษารูปแบบการบริหารจัดทำแผนแม่บท
ปี 2537 เริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ งบการดำเนินการ 514.29 ล้านบาท
ปี 2538 คณะรัฐมนตรีอนุมัติ พระราชกำหนด จัดตั้ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์(อพวช.)ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ อพวช. เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538
ปี 2540 เริ่มงานออกแบบ จัดทำ และติดตั้งนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และอาคารพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
ปี 2543 เปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2543

วัตถุประสงค์
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชนบทเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อ การพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินของครอบครัว รวมทั้งเป็นแหล่งท่อง เที่ยวของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

บทบาทหน้าที่ สิ่งที่ให้กับประชาชน
อพวช. เป็น
แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long Learning)
แหล่งสาระบันเทิง (Edutainment)
แหล่งพัฒนาวิชาชีพ (Career Development)
แหล่งท่องเที่ยวอย่างมีสาระ (Edu-tourism Attraction)

แผนการพัฒนาในอนาคต
หลังจากการรับมอบโอนงานระยะเริ่มแรกจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯอพวช.ได้จัดทำแผนขึ้นเป็นครั้งแรกและได้ดำเนินการจนถึงปี 2540 ในช่วง10ปีต่อจากนี้ไปอพวช.จึงได้กำหนด กรอบแผนรวมขึ้นเพื่อใช้เป็น คู่มือในการดำเนินงาน ดังนี้
1. แผนงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในภาคกลาง ในเขตจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ บริเวณเทคโนธานี ตำบลคลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จะมีพิพิธภัณฑ์และศูนย์ต่างๆ ดังนี้
- พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีเนื้อที่ 18,000 ตร.ม. เปิดบริการแล้ว
- พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา มีเนื้อที่ 3,000 ตร.ม. เปิดบริการแล้ว
- พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ มีเนื้อที่ 9,300 ตร.ม. พร้อมเปิดบริการในปี 2554
- โครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า มีเนื้อที่ 30,000 ตร.ม.
- โครงการศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติฯ
นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์และศูนย์ต่างๆที่จะจัดสร้างขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรแล้ว อพวช.ยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ไปสู่ทุกภูมิภาคด้วย
2. การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่อื่นๆ
- โครงการจัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ จามจุรีสแควร์ เปิดบริการแล้ว

วิสัยทัศน์
เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความเป็นเลิศในการจัดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย การสร้างและส่งเสริมความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ

พันธกิจ
พัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรม การวิจัยพัฒนา และการจัดการทุกรูปแบบที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจทัศนคติ ทักษะกระบวนการและจิตวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย

การบริการ

• เปิดให้บริการวันอังคาร - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.30 - 16.00 น.
• วันเสาร์ - วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.30 - 17.00 น. (หยุดวันจันทร์)

การเข้าชม/อัตราค่าเข้าชม/การจองเข้าชม

บุคคลทั่วไป
ผู้เข้าชมสามารถซื้อตั๋วได้ที่พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง
ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 50 บาท

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 20 บาท

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 20 บาท

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 60 บาท

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 60 บาท

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 30 บาท

ค่าเข้าชมทั้งสามพิพิธภัณฑ์
ผู้ใหญ่ / อาจารย์ ราคา 70 บาท

เด็กเยาวชนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และนักศึกษาระดับปริญาตรีเข้าชมฟรี
(หมายเหตุ : นักศึกษาระดับปริญญาตรี แสดงบัตรนักศึกษา)

การเข้าชมเป็นหมู่ / คณะ
พิพิธภัณฑ์ ฯจัดวิทยากรแนะนำสถานที่ก่อนเดินชมแต่ไม่มีไกด์นำชม ทางพิพิธภัณฑ์ ฯได้จัดเจ้าหน้าที่อยู่
ประจำแต่ละชั้น หากสงสัยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อตอบข้อซักถามและให้ข้อมูลเพิ่มเติม

อาหาร / น้ำดื่ม (สำหรับหมู่คณะ)
พิพิธภัณฑ์ฯ มีบริการสำหรับผู้เข้าชมแบบหมู่คณะที่มีความประสงค์ให้พิพิธภัณฑ์จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
ให้ ในราคาชุดละ 30 บาท ประกอบด้วย (ข้าว + กับข้าว 2 อย่าง + น้ำดื่ม 1ขวด)
* ต้องการให้พิพิธภัณฑ์ฯ จัดอาหาร โปรดจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์

การเดินทาง

ถนนวิภาวดี - รังสิต ขาเข้าจากสระบุรี เข้าได้ 2 ทางคือ
1. เส้นทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลี้ยวซ้ายผ่านวัดธรรมกาย อ. คลองหลวง - หนองเสือ ถึงทางแยก แยกซ้ายไปหนองเสือ ให้เลี้ยวขวาไปพิพิธภัณฑ์ฯ ระยะทาง 2 กม. พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อยู่ซ้ายมือ

2. เส้นทางฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เลี้ยวซ้ายถนนรังสิต - นครนายก เส้นทางเดียวกันกับดรีมเวิลด์ โดยดรีมเวิลด์จะอยู่ระหว่างคลอง 3 กับ คลอง 4 ตรงไปเรื่อยๆ สังเกตถนนวงแหวนตะวันออกคร่อมอยู่ ตรงไปอีก 200 เมตร เจอสะพานคลอง 5 ลงสะพานชิดซ้าย เลี้ยวซ้ายเข้าซอยอีก 4 กม. เลี้ยวขวาเข้าเทคโนธานี (ถึงวงเวียนเลี้ยวซ้ายเข้าพิพิธภัณฑ์ฯ)

ถนนวิภาวดี - รังสิต ขาออกจากกรุงเทพ ตรงมาจากดอนเมือง
ตรงมาจากดอนเมือง ป้ายบอกทางพิพิธภัณฑ์ ฯ อยู่ซ้ายมือ สังเกตจะมี 2 สะพาน คือขวามือไปสระบุรี นครสวรรค์ ให้ใช้สะพานซ้ายมือ ปทุมธานี นครนายก ใช้เส้นทางรังสิต - นครนายก ตรงไป 15 กม. เส้นเดียวกับดรีมเวิลด์ ถึงสะพานคลอง 5 ลงจากสะพานเลี้ยวซ้ายเข้าซอยอีก 4 กม. เลี้ยวขวาเข้าเทคโนธานี (ถึงวงเวียนเลี้ยวซ้ายเข้าพิพิธภัณฑ์ฯ)

ติดต่อเข้าชม

กองบริการผู้เข้าชม
สำนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 02 577 9999 ต่อ 2102
โทรสาร. 02 577 9911 และ 02 577 6588

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nsm.or.th