มิวเซียมสยาม (Museum Siam)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 25.8K views



มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ตอนที่ 1
มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ตอนที่ 2

มิวเซียมสยาม


๑. มิวเซียมสยาม
มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งใหม่และถือเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกที่เน้นการสร้างประสบการณ์สดใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ที่น่ารื่นรมย์ และช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยเกี่ยวกับการสร้างสำนึกในการรู้จักตนเอง รู้จักเพื่อนบ้าน และรู้จักโลก รวมถึงการสร้างแนวคิดและภาพลักษณ์ใหม่ของ “พิพิธภัณฑ์” ในสังคมแห่งการเรียนรู้ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

๒. รูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ
การจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนการจัดแสดง และส่วนเนื้อหา
• ส่วนการจัดแสดง การจัดแสดงแต่ละห้อง จะเป็นการจัดแสดงแบบบูรณาการทั้ง ๓ ส่วนเข้าด้วยกัน คือ
- Discovery Zone: พื้นที่แห่งการเรียนรู้ ด้วยการค้นหาองค์ความรู้อย่างเร้าใจ และสนุกสนาน
- Collection Zone: พื้นที่สิ่งของจัดแสดงที่คัดสรรวัตถุชั้นเยี่ยมที่สามารถเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์
- Resource Centre: แหล่งข้อมูลที่จะต่อยอดความรู้ของผู้เข้าชมให้สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติที่จับต้องได้
• เนื้อหา แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ
- ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน
- ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ
- ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับภูมิปัญญา
โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องด้วยเวลา คือ ดึงลักษณะเด่นแต่ละช่วงเวลา อาทิ สุวรรณภูมิ สยามประเทศ จนกระทั่งประเทศไทย ดังนั้นจึงเรียกชื่อนิทรรศการนี้ว่า “เรียงความประเทศไทย” หรือ “The Account of Thailand”

๓. ลักษณะเด่นของ “มิวเซียมสยาม”
• เน้นการจัดนิทรรศการที่จะกระตุกต่อมความคิด และจุดประกายความอยากรู้ เกิดการตั้งคำถาม ให้ผู้เข้าชมได้ตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็น แล้วไปสืบค้นหาความรู้ด้วยตนเองต่อไป
• เน้นปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างนิทรรศการและผู้ชม เพื่อให้เกิดการสื่อสารความรู้และการสร้างทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้ชม คือ สามารถจับได้ เล่นได้ ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย (ด้านวัตถุ) และใจ (จิต)
• ใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง (Story Telling) โดยใช้ตัวละครพูดถึงเนื้อหานับแต่อดีตถึงปัจจุบันของผู้คนและดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ชมได้ค้นหาคำตอบว่า “เราคือใคร” และ “ความเป็นไทยหมายถึงอะไร”

๔. ห้องแสดงนิทรรศการถาวร “เรียงความประเทศไทย”
ห้องที่ ๑: เบิกโรง (Immersive Theater)
ที่ตั้ง: ชั้น ๑
เป็นการเบิกตัวละครทั้งเจ็คที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอันเป็นต้นกำเนิด จากสุวรรณภูมิสู่สยามประเทศ ถึงประเทศไทย เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราคือใคร และอะไรคือไทย

ห้องที่ ๒: ไทยแท้ (Typically Thai)
ที่ตั้ง: ชั้น ๑
เป็นห้องที่ทำให้เกิดความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร และเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าไทยแท้

ห้องที่ ๓: เปิดตำนานสุวรรณภูมิ (Introduction to Suvarnabhumi)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
เป็นห้องที่แสดงถึงวิวัฒนาการสังคมก่อนจะมาเป็นบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า “สุวรรณภูมิ” คือชื่อที่ชาวโลกเมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีก่อนใช้เรียกดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางทิศตะวันออกของอินเดีย ส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้มีกรุงเทพฯ ที่ยังนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล ซึ่งการศึกษาโครงกระดูก หลุมฝังศพ และอารยธรรมที่ฝังอยู่ใต้ดินทำให้รู้จักดินแดนแห่งนี้มากขึ้น

ห้องที่ ๔: สุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
เป็นห้องที่ทำให้รู้จัก “สุวรรณภูมิ” ดินแดนแห่งความมั่งคั่งผ่านผู้คน การเกษตร การค้า การสร้างเมือง เทคโนโลยีแห่งโลหะ และความเชื่อ (ผี-พราหมณ์-พุทธ) ซึ่งจะทำให้รู้ว่าสุวรรณภูมิ คือ รากเง่าของประเทศไทย

ห้องที่ ๕: พุทธิปัญญา (Buddhism)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจของพุทธศาสนา ซึ่งมี คาถา เย ธมฺมา (อ่านว่า เย-ทำ-มา) แปลว่า สิ่งทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนกิด คาถายอดนิยมแห่งสุวรรณภูมิ มูลเหตุแห่งความใจกว้างและสันติ

ห้องที่ ๖: กำเนิดสยามประเทศ (The Founding of Ayutthaya)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
นำเสนอด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เพื่อให้เห็นนานาแว่นแคว้นต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นนครรัฐ และสืบสานเรื่องราวของวีรบุรุษผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาจากตำนวนท้าวอู่ทอง เรื่องเล่าที่แสดงให้เห็นถึงความผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม

ห้องที่ ๗: สยามประเทศ (Siam)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
กรุงศรีอยุธยามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และด้วยอำนาจทางการเมืองที่กว้างไกล ทำให้สามารถควบคุมการผลิตภายในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้กรุงศรีอยุธยายังเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้ทะเล จึงพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลของภูมิภาค และสืบเนื่องจากการติดต่อค้าขายนี่เอง ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างผู้คนและวัฒนธรรม เกิดเป็นความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่หลากหลายขึ้นในแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทหาร ภาษา และสถาปัตยกรรม



ห้องที่ ๘: สยามยุทธ์ (The War Room)
ที่ตั้ง: ชั้น ๓
เหตุแห่งสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีมูลเหตุใหญ่ๆ คือ ความต้องการแสดงพระองค์ของกษัตริย์ ในฐานะ “พระจักรพรรดิ” เหนือพระเจ้าแผ่นดิน และเพื่อกวาดต้อน “คน” อันเป็นแรงงานและกำลังรบ รวมถึงการครอบครองสินค้าสำคัญของรัฐอื่น สงครามจึงไม่ใช่เรื่องของรัฐต่อรัฐ หากเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์รัฐหนึ่งกับพระมหากษัตริย์อีกรัฐหนึ่ง และนอกจากการสู้รบแล้ว ยังมีการแสดงถึงภูมิปัญญา การวางกลยุทธ์ กลุ่มชาติพันธ์ และศิลปกรรมอีกด้วย

ห้องที่ ๙: แผนที่ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ (The Map Room)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
ผืนดินตามธรรมชาติ คงไม่มีเส้นแบ่งใดๆ มาขวางกั้นผู้คน แต่เส้นพรมแดนก็ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ล่าอาณานิคมเพื่อแบ่ง “เขา” สร้าง “เรา” และรวมไปถึงการสร้าง “ชาติ” ให้มีตัวตนขึ้นมาจริงๆ มูลเหตุที่ทำให้เกิดการตัดแบ่งชุมชนเชื้อชาติญาติพี่น้องออกจากกัน

ห้องที่ ๑๐: กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา (Bangkok : New Ayutthaya)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
เรื่องราวเมื่อครั้งสิ้นกรุงศรีอยุธยา ชาวกรุงศรีก็สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่ บนผืนดิน “บางกอก” ซึ่งพวกเขาได้จำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย อีกทั้งเมื่อเริ่มสร้างกรุงใหม่ จึงได้เกณฑ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาช่วยกัน จนเมื่อสร้างเสร็จจึงลงหลักปักฐาน กลายเป็นชาวกรุงเทพ ในที่สุด

ห้องที่ ๑๑: ชีวิตนอกกรุงเทพฯ (Village Life)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
สื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และความฉลาดหลักแหลม ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อุปกรณ์การดักสัตว์ เครื่องมือทำกิน ความเชื่อ และพิธีกรรม ที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยแห่งการสร้างสรรค์ และ วิถีเกษตรที่ผูกพันธ์กับชาวสยามมาจนถึงทุกวันนี้

ห้องที่ ๑๒: แปลงโฉมสยามประเทศ (Changes)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
การติดต่อกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในสังคมสยามหลายด้าน การเริ่มสร้างถนน ไม่เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการคมนาคมเท่านั้น หากยังเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนที่คุ้นชินกับสายน้ำและความแช่มช้า นับจากนี้ ถนนจะเร่งกงล้อแห่งความเปลี่ยนแปลงให้สยามเปลี่ยนโฉมไปตลอดกาล

ห้องที่ ๑๓: กำเนิดประเทศไทย (Politics & Communications)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
จากสยาม ทำไมกลายเป็นไทย ห้องนี้จะกระตุ้นให้เกิดการค้นหาคำตอบว่า “วันเกิดประเทศไทยคือวันที่เท่าไหร่” และ “กรมโฆษณาการมาเกี่ยวอย่างไร”

ห้องที่ ๑๔: สีสันตะวันตก (Thailand and the World)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
เป็นห้องที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์โลกใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา ภายหลัง ความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในทศวรรษ ๑๙๔๐ เศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เสียงเพลงแห่งความหวัง และสนุกสนาน กล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปได้หมดสิ้น และประเทศไทยก็โกย “ดอลล่าร์” จากการเปิดอ้ารับวัฒนธรรมอมเริกันอย่างเป็นล่ำ- เป็นสัน

ห้องที่ ๑๕: เมืองไทยวันนี้ (Thailand Today)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
ผ่านกาลเวลามากว่า ๓,๐๐๐ ปี มีสิ่งใดบ้างที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนฝังตรึงเป็น “ดีเอ็นเอ” ของความเป็นไทย มีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่ยังอยู่กับเรา และมีสิ่งดีๆ ใดบ้างที่หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย ภาวะอันสับสนของคนรุ่นปัจจุบันน่าจะแก้ไขได้ หากทุกคนเรียนรู้ “ความเป็นไทยที่แท้จริง” “ความเป็นไทยที่อยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย” “ความเป็นไทยที่รู้จักเลือกรับและปรับใช้” นั่นคือ การผสมผสานสิ่งดีงามจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเรา

ห้องที่ ๑๖: มองไปข้างหน้า (Thailand Tomorrow)
ที่ตั้ง: ชั้น ๒
เป็นห้องที่ตอกย้ำว่า “วันพรุ่งนี้ของประเทศไทยจะเป็นเช่นไร คนรุ่นปัจจุบันเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้”

ห้องที่ ๑๗: ตึกเก่าเล่าเรื่อง ที่มาของมิวเซียมสยาม
ที่ตั้ง: ชั้น ๑
ผู้ชมสามารถเรียนรู้ทุกอย่างในมิวเซียมสยาม นับตั้งแต่ความเป็นมาและพัฒนาการของพื้นที่ในบริเวณนี้ แม้กระทั่งตัวอาคารนิทรรศการ เนื่องจากตอนบูรณะ “อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์เก่า (เดิม)” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ ๖ เพื่อเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์นั้น ได้มีการค้นพบความเก่งกาจของสถาปนิกและช่างในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังจัดให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบรากฐานของวังในสมัยรัชการที่ ๓ และรัชกาลที่ ๕ ทีมงานผู้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์จึงอยากชักชวนให้ผู้ชมมาสวมวิญญาณเป็น “นักโบราณคดีสมัครเล่น” และค้นหาอดีตของพื้นที่แห่งนี้

๕. โลโก้สัญลักษณ์ “มิวเซียมสยาม”

คนกบแดง หรือ รูปคนทำท่าเป็นกบ เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เพราะกบถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่เคารพบูชาทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นได้จากลวดลายบนกลองมโหระทึกที่เป็นเครื่องมือใช้ประโคมตีในพิธีกรรมขอฝน

๖. สถานที่ตั้ง
มิวเซียมสยาม มีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) บริเวณท่าเตียน ข้างวัดโพธิ์ ถนนสนามไชย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน อันเป็นเมืองมรดกที่มีชีวิตของไทย (The City of Living Heritage) และเป็นศูนย์กลางของจิตวิญญาณคนไทย เพื่อสื่อถึงการนำภาพลักษณ์แห่งอดีตมาใช้สื่อถึงอนาคต ภายในพื้นที่ประกอบด้วยอาคารหลัก ๔ อาคาร คือ
• อาคารนิทรรศการถาวร ซึ่งเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีรูปแบบนีโอคลาสสิค ที่สถาบันฯ ได้อนุรักษ์และพัฒนา เพื่อจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่อง “เรียงความประเทศไทย” พร้อมด้วยร้านค้าพิพิธภัณฑ์ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า ๓,๐๐๐ ตารางเมตร
• อาคารนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ รวมถึงร้านอาหาร และเครื่องดื่ม จะเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนหัวข้อการจัดแสดงให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจ สนุกไปกับการเรียนรู้ประเด็นใหม่ๆ ทางประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ และภูมิปัญญา
• อาคารโรงปฏิบัติการนิทรรศการและหลุมขุดค้นทางโบราณคดี
• อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยพื้นที่สนับสนุนการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์อีกมากมาย อาทิ ศูนย์เพลินคิดเพลินรู้ (Knowledge Center) ห้องประชุม/ห้องฉายภาพยนตร์ และห้องกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก
นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมผลงานวิจัยต่างๆ มาไว้ในที่เดียวกัน พร้อมจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติในฐานะองค์รวมความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง



๗. ข้อมูลอื่นๆ

อัตราค่าเข้าชม

เข้าฟรี :
เยาวชนไทยและต่างชาติอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี
ส่วนสูงต่ำกว่า ๑๕๐ ซม.
พระภิกษุสงฆ์ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป

เสียค่าบริการ :
นักเรียน นักศึกษา อายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ๕๐ บาท
ผู้ใหญ่คนไทย ๑๐๐ บาท
ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ ๓๐๐ บาท

หมู่คณะ ๕ คนขึ้นไป :
นักเรียน นักศึกษา ๒๕ บาท
ผู้ใหญ่คนไทย ๕๐ บาท
ผู้ใหญ่ชาวต่างชาติ ๑๕๐ บาท

**หมายเหตุ - ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ของทุกวันทำการ เข้าชม ฟรี!!

มัคคุเทศก์รับสิทธิ์เข้าชมมิวเซียมสยาม ฟรี!!
มัคคุเทศก์รับสิทธิ์เข้าชมมิวเซียมสยาม ฟรี!! เพียงแสดงบัตรประจำตัวมัคคุเทศก์ ที่ออกโดยกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

การเข้าชมแบบหมู่คณะ
หากประสงค์เข้าชมเป็นหมู่คณะมากกว่า ๒๐ ท่านขึ้นไป สามารถติดต่อได้ที่ ๐๒ ๒๒๕ ๒๗๗๗

เวลาทำการ

๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ วันอังคาร-วันอาทิตย์ หยุดทำการวันจันทร์

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)

เลขที่ ๔ ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ ๐-๒๒๒๕-๒๗๗๗
โทรสาร ๐-๒๒๒๕-๒๗๗๕
เว็บไซต์ www.museumsiam.com
www.facebook.com/museumsiamfan 

 

คลิปวิดีโอจากรายการ ทรูปลูกปัญญาดอทคอม https://www.trueplookpanya.com/true/tv_list.php