พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 9.3K views



พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ เดิมอยู่ในกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งอยู่ ณ ใต้พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหน้าอาคารรัฐสภา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานเครื่องราชภัณฑ์ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจัดแสดงและเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ใน พ.ศ. ๒๕๒๓

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๔ สถาบันพระปกเกล้าได้รับโอนอำนาจการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวฯ มาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบ นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากกรมโยธาธิการให้ใช้อาคารอนุรักษ์ ๓ ชั้น ซึ่งเป็นที่ทำการของกรม จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารแล้วเสร็จในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ห้องจัดแสดงชั้น ๑
จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โดยแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็นพระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์ อภิเษกสมรส การเสด็จพระราชดำเนินประพาสทั้งในและต่างประเทศ การเสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และพระราชกรณียกิจในช่วง ๓๕ ปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ โดยจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ วัตถุสิ่งของที่มีความเกี่ยวเนื่อง นำเสนอผ่านแบบจำลองและสื่อผสม (Multimedia)

ห้องจัดแสดงชั้น ๒
จัดแสดงพระราชประวัติก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น เสด็จเข้ารับการศึกษา ณ ประเทศในทวีปยุโรป ทรงพระผนวช ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ นอกจากนี้ยังจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชจริยวัตร พระราชนิยมด้านต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬา และภาพยนตร์ รวมทั้งพระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตและการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๔

ห้องจัดแสดงชั้น ๓
จัดแสดงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฉลองพระองค์ พระมาลา และฉลองพระบาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์ การประกวดแต่งหนังสืออสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก พระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญในคราวฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี นอกจากนี้ยังจัดแสดงแบบจำลองสะพานพุทธยอดฟ้าและปฐมบรมราชานุสรณ์ รวมถึงสิ่งของที่ระลึกต่างๆ ที่จัดทำขึ้นในพิธีดังกล่าว



ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ พิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดแสดง ภาพบุคคล เหตุการณ์ และเอกสารสำคัญ รวมไปถึงการจัดแสดงรัฐธรรมนูญฉบับสมุดไทย พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

• การจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว พิพิธภัณฑ์ฯ ได้จัดนิทรรศการชั่วคราวในเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สังคมบ้านเมือง และวัฒนธรรมร่วมรัชสมัย
• ศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษา เป็นห้องสมุดเฉพาะทางที่รวบรวมหนังสือ เอกสาร และสื่อต่างๆ เช่น สำเนาเอกสารจดหมายเหตุของกระทรวงต่างๆ สำเนาพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ภาพถ่ายร่วมสมัย สำเนาภาพยนตร์ส่วนพระองค์ เช่น เรื่องแหวนวิเศษ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระราชพิธีโล้ชิงช้า พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี สื่อโสตทัศนศึกษา หนังสือและบทความหลากหลายประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และงานด้านพิพิธภัณฑ์ เอกสารและงานวิจัย เช่น งานวิจัยเรื่อง “โลกกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว: บทสำรวจ วิเคราะห์ และทัศนะวิจารณ์ของชาวโลก” ซึ่งรวบรวมเอกสารราชการจากประเทศต่างๆ เช่น เอกสารจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น



ศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษาให้บริการค้นคว้าและสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพัฒนาการการเมืองการปกครองไทย รวมทั้งงานด้านพิพิธภัณฑ์แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ สมาชิกรัฐสภา และประชาชนทั่วไปด้วยระบบเครือข่ายสารสนเทศ ศูนย์ข้อมูลพระปกเกล้าศึกษาเปิดให้บริการวันอังคาร – วันเสาร์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ นาฬิกา

ศาลาเฉลิมกรุงจำลอง เป็นห้องฉายภาพยนตร์ โดยจำลองบรรยากาศจากโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง พระนคร ๑๕๐ ปี ศาลาเฉลิมกรุงจำลองให้บริการจัดฉายภาพยนตร์ทั้งภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ ๗ ภาพยนตร์เก่าร่วมรัชสมัย และภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหาชมได้ยาก จัดฉายวันละ ๒ รอบ เวลา ๑๐.๓๐ และ ๑๔.๓๐ นาฬิกา

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
๒ ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ๑๐๑๐๐
โทรศัพท์ ๐ – ๒๒๘๐ – ๓๔๑๓ – ๔
โทรสาร ๐ – ๒๒๘๑ – ๖๘๒๐

วัน – เวลาให้บริการ

ทุกวัน (เว้นวันจันทร์ วันปีใหม่ และวันสงกรานต์)
ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ นาฬิกา
พิพิธภัณฑ์ฯ ให้บริการนำชมเป็นหมู่คณะ โปรดติดต่อล่วงหน้า

ค่าเข้าชม

๒๐ บาท
เยาวชน นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ สามเณร ผู้พิการ ผู้สูงอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป
ไม่เสียค่าเข้าชม

การเดินทาง

รถโดยสารประจำทางสาย ๒, ๑๕, ๔๔, ๔๗, ๕๙, ๖๐, ๑๖๙
รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ๗๙, ๔๔, ๑๕๗, ๑๘๓, ๕๑๑, ๕๑๒
เรือโดยสารคลองแสนแสบขึ้นที่ท่าเรือผ่านฟ้า