คำซ้ำ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 406.3K views



คำซ้ำ หมายถึง คำที่ออกเสียงซ้ำคำเดิมให้ต่อเนื่องกันโดยใช้เครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) เติมหลังคำ คำที่ซ้ำเสียงอาจจะมีความหมายคงเดิมหรือแตกต่างกันไปจากเดิมขึ้นอยู่กับความหมายของคำและบริบทที่ประกอบ

1. วิธีสร้างคำซ้ำ สามารถสร้างได้หลายวิธี ได้แก่
    1.1 นำคำในภาษาไทยทุกชนิด ทั้งนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ บุพบท สันธาน อุทาน มาซ้ำเสียงได้ทั้งหมด เช่น เด็กๆ เธอๆ หลับๆ ต่ำๆ ใกล้ๆ ราวๆ โฮๆ เป็นต้น
    1.2 นำคำซ้อนมาออกเสียงซ้ำๆ เช่น สวยๆ งามๆ งกๆ เงิ่นๆ เตาะๆ แตะๆ เลียบๆ เคียงๆ เป็นต้น

2. ความหมายของคำซ้ำ คำซ้ำแต่ละคำมีความหมายเฉพาะคำแตกต่างกันไปมากมาย
    2.1 ความหมายแสดงพหูพจน์ เช่น
        เด็กๆ กำลังเล่นฟุตบอล
        พี่ๆ ให้ของขวัญแก่น้อง
    2.2 ความหมายแสดงการแยกเป็นส่วนๆ มักเป็นลักษณนาม เช่น
        คุณแม่หั่นหมูเป็นชิ้นๆ
        วิชุดาล้างจานให้สะอาดเป็นใบๆ สิ
    2.3 ความหมายเน้นหรือเพิ่มน้ำหนักความหมายให้ชัดเจนขึ้น อาจเปลี่ยนเสียงส่วนหน้าเป็นเสียงวรรณยุกต์ตรีเพื่อเน้นความหมายให้เด่นชัดหรือมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
        เดินดีๆ ระวังรถด้วยนะ
        สุชาติลาพักร้อน 1 สัปดาห์เต็มๆ
        นางแบบคนนี้หุ่นดี๊ดี
        ฉันเกลี๊ยดเกลียดคนโกหก
    2.4 ความหมายเบาลงหรือลดน้ำหนักความหมายลง เช่น
        เขายังเคืองๆ เธออยู่นะ
        ฝีมือวาดรูปของเขาคล้ายๆ พ่อ
        เราสองคนกำลังคบๆ กันอยู่
    2.5 ความหมายไม่เจาะจงหรือไม่กำหนดแน่นอน
        อะไรๆ ฉันก็กินได้
        บ้านฉันอยู่แถวๆ เอกมัย
        ผ้าดีๆ อย่างนี้หาซื้อยากนะ
    2.6 ความหมายเปลี่ยนไปเป็นสำนวนที่มีความหมายเฉพาะ เช่น
        ปุรยวีร์ล้างผักแบบลวกๆ (หยาบ, ไม่สะอาด)
        ไปๆ มาๆ เขาก็ต้องไปเป็นเพื่อนเธอ (ในที่สุด)

3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำซ้ำ การสร้างคำซ้ำและการใช้คำซ้ำให้ถูกต้องนั้น ผู้ใช้ควรคำนึงถึงลักษณะของคำซ้ำ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้
    3.1 คำบางคำสามารถใช้ได้ทั้งรูปคำโดด และคำซ้ำ แต่ถ้าเป็นคำซ้ำที่ใช้ในบริบทเดียวกันจะให้ภาพพจน์ได้ดีกว่า เช่น
        เขาเปียกฝนนั่งสั่นงั่ก
        เขาเปียกฝนนั่งสั่นงั่กๆ
        ประโยค 1 และประโยค 2 แม้จะมีความหมายเหมือนกัน แต่ประโยค 2 ให้ภาพพจน์ทำให้กระทบใจผู้รับสารได้ดีกว่า
    3.2 คำซ้ำคำเดียวกัน อยู่ในบริบทต่างกัน ความหมายอาจต่างกัน เช่น
        ขณะที่ฟุตบอลกำลังสนุก สถานีโทรทัศน์กลับตัดเข้าโฆษณาเฉยๆ (ตัดภาพเป็นโฆษณาทันที)
        เขาปล่อยที่ไว้เฉยๆ ไม่ปลูกอะไรเลย (ทิ้งไว้อย่างนั้น)
    3.3 คำซ้ำเป็นคำสรรพนามและิวิเศษณ์ เช่น ใคร อะไร ไหน เป็นต้น จะมีใจความที่ไม่เจาะจง และจะใช้ ก็ ประกอบข้อความด้วยเสมอ เช่น
        ใครๆ ก็ชอบฟังเพลง
        ที่ไหนๆ ก็ไม่สุขใจเท่าบ้านของเรา
        ไม่ว่าดอกไม้อะไรๆ ที่สวนแห่งนี้ก็สวยมาก
    3.4 การอ่านคำซ้ำหรือข้อความที่มีเครื่องหมายไม้ยมก (ๆ) ประกอบ ต้องพิจารณาว่าจะอ่านซ้ำคำหรือกลุ่มคำ เช่น
        วันไหนๆ เราก็มีความสุขได้ (อ่านว่า วัน-ไหน-ไหน)


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก  :
บุญลักษณ์ เอี่ยมสำอางค์  และคณะ . ภาษาไทย หลักภาษาและการใช้ภาษา ม.4 . พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์