ประชากรกับสิ่งแวดล้อม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 202.5K views



ประชากรกับสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 1
ประชากรกับสิ่งแวดล้อม ตอนที่ 2

ประชากรกับสิ่งแวดล้อม
     ประชากร หมายถึง ประชาชนหรือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน ถ้าบริเวณนั้นก็เป็นชุมชนขนาดเล็ก เช่น หมู่บ้น ตำบล เป็นต้น แต่ถ้าบริเวณใดมีประชากรอาศัยอยู่มากบริเวณนั้นก็เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่น จังหวัด ประเทศ เป็นต้น

1.  องค์ประกอบของประชากร
     องค์ประกอบของประชากร หมายถึง คุณลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างประชากร องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
     1)  องค์ประกอบด้านอายุและเพศ  เป็นการศึกษาถึงเพศและวัยของประชากร ทั้งนี้เพราะอายุและเพศต่างก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเกิด การเจ็บป่วย การตาย การย้ายถิ่น ภาวะแรงงาน เศรษฐกิจ การเลื่อนฐานะทางสังคม และอื่น ๆ อีกมากมาย
     2)  องค์ประกอบด้านสถานภาพการสมรส  การสมรสเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประชากร และการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ เพราะการสมรสจะมีต่อการเกิดเป็นประการแรก และยังมีผลต่อการเจ็บป่วย การตาย การย้ายถิ่น อีกด้วย
     3)  องค์ประกอบด้านการศึกษา  การศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน และมีผลทำให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศ การศึกษานั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดในชั้นเรียนเสมอไป แต่อาจเป็นการศึกษานอกระบบโรงเรียนก็ได้
     4)  องค์ประกอบด้านอาชีพและรายได้  อาชีพและรายได้เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของประชากรได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าประชากรมีอาชีพที่ไม่สามารถหารายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวแล้ว จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรมีคุณภาพต่ำลง

2.  การเปลี่ยนแปลงประชากร
     การเปลี่ยนแปลงประชากร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงขนาดหรือจำนวนประชากรในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ในระยะเวลาที่กำหนด การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่
     1)  การเกิด เป็นผลให้ประชากรเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิด ได้แก่
          (1)  อายุแรกสมรส และการอยู่ร่วมกันของคู่สมรส ถ้าคู่สมรสอายุน้อยไม่รู้จักวางแผนครอบครัว จะทำให้มีโอกาสมีลูกหลายคนสูงมาก
          (2)  ความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจของคู่สมรส ถ้ามีความสมบูรณ์สูงจะทำให้มีโอกาสมีบุตรได้สูงมากกว่าคู่สมรสที่ไมม่มีความพร้อมในด้านร่างกายและจิตใจ
          (3)  ค่านิยมเกี่ยวกับจำนวนบุตรและเพศของบุตร ถ้ามีค่านิยมต้องการมีบุตรน้อยก็จะมีการควบคุมจำนวนบุตร และค่านิยมเกี่ยวกับเพศของบุตร ถ้ายังไม่ได้เพศของบุตรตามที่ต้องการ ก็จะมีบุตรไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้เพศของบุตรตามต้องการ
          (4)  ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อทางศาสนา มีอิทธิพลต่อการเกิด
          (5)  ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ในประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศจะมีอัตราการเกิดต่ำ และประเทศที่กำลังพัฒนาเกือบทุกประเทศจะมีอัตราการเกิดสูง

     2)  การตาย เป็นผลให้ประชากรลดลง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตาย ได้แก่
          (1)  รายได้และอาชีพ ผู้ที่มีรายได้ดีย่อมมีโอกาสในการได้รับการดูแลรักษา โรคภัยไข้เจ็บดีกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องใช้แรงงานมากหรืออาชีพที่ต้องเสี่ยงอันตรายมักจะมีอายุสั้น เช่น กรรมกร ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน เป็นต้น
          (2)  สถานภาพสมรส คนที่สมรสจะมีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่เป็นโสด
          (3)  สภาพของสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่อยู่อาศัย ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะเป็นพิษจะมีอัตราการตายสูงกว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมดี
          (4)  การแพทย์และสาธารสุข ถ้าท้องถิ่นที่ใดมีความเจริญในด้านการแพทย์และสาธารณสุข จะมีอัตราการตายน้อย
          (5)  อายุ เพศ เชื้อชาติ จะพบว่า ทารกวัยแรกเกิดจะมีอัตราการตายสูง เช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุมาก จากการสำรวจพบว่าชายจะมีอายุสั้นกว่าหญิง

     3)  การย้ายถิ่น คือ การย้ายที่อยู่จากที่แห่งหนึ่งไปอีกที่หนึ่ง การย้ายถิ่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประชากร คือ ถิ่นที่มีประชากรย้ายออกไป จำนวนประชากรจะลดลง และถิ่นที่มีประชากรย้ายเข้ามา จำนวนประชากรจะมากขึ้น
     ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการย้ายถิ่นออก ได้แก่
     1)  การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ต้องไปหาแหล่งที่มีทรัพยากรมากกว่า 
     2)  ปัญหาทางด้านรายได้และอาชีพ ทำให้ต้องย้ายไปหาถิ่นที่ทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงอาชีพทำให้ต้องย้ายถิ่นออกไป
     3)  เกิดภัยธรรมชาติที่ทำให้บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา และทรัพย์สินอื่น ๆ เสียหายจึงต้องอพยพไปหาที่อยู่ใหม่
     4)  ปัญหาขาดความปลอดภัยและความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องไปอยู่ในแหล่งที่ให้ความปลอดภัย และมีความเป็นธรรมมากกว่า
     5)  ปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษา ทำให้ต้องย้ายไปหาแหล่งที่มีสถานการศึกษาที่สูงกว่า และดีกว่า

     ปัจจัยในการดึงดูดให้คนย้ายถิ่นเข้า ได้แก่
     1)  โอกาสของการมีงานทำสูงกว่า และมีอาชีพให้เลือกมากกว่า ซึ่งมักจะอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จึงทำให้มีคนในชนบทอพยพเข้าเมืองกันมากขึ้น
     2)  โอกาสที่จะยกฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับตนเองและคนในครอบครัวมีสูง
     3)  โอกาสในด้านการศึกษาและฝึกฝนอาชีพ
     4)  ความดึงดูดใจในสภาพแวดล้อมและความปลอดภัย
     5)  กาย้ายตามคู่สมรส บุตร บิดามารดา

3.  ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการย้ายถิ่น
     ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการย้ายถิ่นของประชากร
 มีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ในที่นี้จะยกตัวอย่างปัจจัยหลักที่สำคัญ ดังนี้
     1)  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากร โดยเฉพาะการย้ายถิ่น กล่าวคือท้องถิ่นใดมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์มีสิ่งแวดล้อมดี มีช่องทางในการทำมาหากินดีกว่าที่อยู่เดิม ก็จะเป็นเหตุจูงใจให้คนในท้องถิ่นอื่นเข้ามาอยู่อาศัย แต่ถ้าท้องถิ่นใดมีทรัพยากรน้อย สภาพแวดล้อมแห้งแล้งทุรกันดาร มีโรคระบาด ก็จะทำให้ประชากรอพยพย้ายถิ่นออกไป
     2)  ความหนาแน่นของประชากร ท้องถิ่นใดมีจำนวนประชากรอยู่อาศัยกันหนาแน่น ย่อมจะเกิดปัญหาการแย่งงาน แย่งที่ทำกิน ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ก็จะเป็นสาเหตุให้ประชากรอพยพจากท้องถิ่นนั้นไปอยู่ในท้องถิ่นอื่น
     3)  คุณภาพของคน บุคคลที่ความรู้ ความชำนาญ และมีประสบการณ์ ย่อมได้เปรียบในการเลือกอาชีพที่เหมาะสมและดีกว่า มีคุณภาพชีวิตหรือสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ดังนั้นคนจึงต้องเสาะแสวงหาวิชาความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประชากร

4.  ผลกระทบจากการย้ายถิ่นของประชากร
     พื้นที่ที่มีประชากรย้ายออกมาก
     
1)  ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ในวัยหนุ่มสาวซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาท้องถิ่น
     2)  วัฒนธรรมและประเพณีในท้องถิ่น บางอย่างเปลี่ยนแปลงไป และอาจสูญหายไป เพราะไม่มีผู้สืบทอด

     พื้นที่ที่มีประชากรย้ายเข้ามาก
     
1)  เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูก
     2)  เกิดปัญหาด้านสังคม เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
     3)  เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะมูลฝอย น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ

สิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมนุษย์มีทั้งสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีความสำคัญและคุณประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก เมื่อใดที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ และการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์

สิ่งแวดล้อม คือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ซึ่งมีทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม (จับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (จับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น) ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการ
ดำรงชีวิตได้ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า อากาศ แร่ธาตุ และพลังงาน

สมบัติเฉพาะตัวของสิ่งแวดล้อม
       สมบัติ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ในตัว ซึ่งมีศักย์ในการแสดงออกในสิ่งนั้นๆ การฝืนศักย์ของสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เสมอไม่มากก็น้อย ดังนั้นการที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Sustainable environment) จำเป็นต้องเข้าใจถึงสมบัติของสิ่งแวดล้อมนั้นเสมอ ซึ่งมี 7 ประการ ดังนี้
        1. มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการที่จะแสดงว่ามันคืออะไร เช่น ป่าไม้ ดิน น้ำ สัตว์ เป็นต้น การเปลี่ยนเอกลักษณ์จะไม่เกิดขึ้นในมหภาค (macroscale) แต่อาจเปลี่ยนในจุลภาค (microscale)
        2. ไม่อยู่โดดเดี่ยว สิ่งแวดล้อมจะต้องมีสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยเสมอ เช่น ปลากับน้ำ ต้นไม้กับดิน เป็นต้น
        3. มีความต้องการสิ่งแวดล้อมอื่นเสมอ สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทจะมีความต้องการสิ่งแวดล้อมอื่นเสมอเพื่อ
ความอยู่รอดและรักษาสถานภาพตนเอง เช่น ปลาต้องการน้ำ มนุษย์ต้องการที่อยู่อาศัย เป็นต้น
        4. อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม/ระบบนิเวศ ซึ่งภายในระบบจะมีองค์ประกอบและหน้าที่เฉพาะของมันเอง
        5. มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ ดังนั้นเมื่อทำลายสิ่งแวดล้อมหนึ่งก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นลูกโซ่เสมอ เช่น การทำลายป่าไม้ ก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน เกิดอุทกภัย เป็นต้น
        6. สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทจะมีลักษณะความทนทานและความเปราะบางต่อการถูกกระทบแตกต่างกัน
        7. สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ได้
จากสมบัติของสิ่งแวดล้อมทั้ง 7 ข้อ นี้ทำให้ทราบดีว่าถ้าหากมีการทำลายหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ตามมาเสมอหรือที่เรียกว่ามลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางดิน มลพิษทางเสียง มลพิษจากขยะและของเสีย เป็นต้น

ประเภทของสิ่งแวดล้อม
       จากความหมายของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural environment) และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Mode Environment)

1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ( Natural Environment) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต) และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต

1. 1สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) แบ่งได้ดังนี้

- บรรยากาศ (Atmosphere) หมายถึงอากาศที่ห่อหุ้มโลก ประกอบด้วย กา๙ชนิดต่างๆ เช่น โอโซน ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และไอน้ำ
- อุทกภาค (Hydrosphere) หมายถึงส่วนที่เป็นน้ำทั้งหมดของพื้นผิวโลก ได้แก่ มหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ
- ธรณีภาค หรือ เปลือกโลก(Lithosphere) หมายถึง ส่วนของโลกที่เป็นของแข็งห่อหุ้มอยู่รอบนอกสุด ของโลกประกอบด้วยหินและดิน

1.2 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment)ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์

2 . สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น(Man-Mode Environment)  แบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้

- สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม (Concrete Environment) ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงาน วัด
- สิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Abstract Environment) ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น

มิติของสิ่งแวดล้อม
องค์ประกอบพื้นฐานทางของมิติสิ่งแวดล้อมแบ่งได้เป็น 4 มิติ ดังนี้

1) มิติทรัพยากร
ทรัพยากร แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
ก. ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หรือมีอยู่เองตามธรรมชาติ และให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไดแก่ ป่าไม้ น้ำ ดิน ทุ่งหญ้า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมด เช่น น้ำ อากาศ
- ทรัพยากรที่ทดแทนได้ เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่สามารถทดแทนได้โดยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เช่น น้ำใช้ ดิน ป่าไม้
- ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เป็นทรัพยากรที่เมื่อมีการใช้แล้วหมดไปไม่สามารถทดแทนได้ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่
ข. ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- ทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นทรัพยากรชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร ประปา การใช้ที่ดิน
- ทรัพยากรคุณภาพชีวิต หรือทรัพยากรสังคม เป็นทรัพยากรที่ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ได้แก่ การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา/ศาสนาสถาน นันทนาการ ฯลฯ

2) มิติเทคโนโลยี
เทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้สร้างเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการแปรรูป ป้องกัน หรือปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เป็นการมุ่งเน้นการให้ความรู้และการสร้างเทคโนโลยีในการนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการบำบัด/กำจัดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการนำกลับมาใช้ใหม่
เทคโนโลยีมี 3 รูปแบบคือ
1. เครื่องจักรกล เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สร้างพลังงานและให้งานเกิดขึ้น ได้แก่
- เครื่องจักรกลธรรมชาติ เช่น การบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ พืชริมตลิ่งช่วยลดการพังทลายของดิน
- เครื่องจักรกลชาวบ้าน เช่น ครก รถไถนา การผันน้ำ
- เครื่องยนต์ เช่น เทคโนโลยีการคมนาคม การถลุงแร่
- เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์
2. แบบผลิตภัณฑ์ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สามารถซื้อขายได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- แบบหล่อ เช่น หลอดไฟ แบบขนมปัง
- แบบทาบ เช่น รูปแบบเสื้อผ้า
- แบบพิมพ์ เช่น แบบพิมพ์หนังสือ แบบพิมพ์ภาพ
- แบบโครงสร้างเหมือน เช่น แบบบ้าน แบบสินค้า

3) มิติของเสียและมลพิษ
ของเสีย หมายถึง ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งการตกตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ
มลพิษสิ่งแวดล้อม หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่มีมลสาร ที่เป็นพิษจนมีผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์
ของเสียและมลพิษ สามารถแบ่งได้ ดังนี้คือ
1. ของเสียและมลพิษที่เป็นของแข็ง เกิดจากเศษเหลือใช้ หรือกากของเสีย เช่น ขยะมูลฝอย กากสารพิษ
2. ของเสียและมลพิษที่เป็นของเหลว เป็นสารพิษที่อยู่ในสถานะของเหลว เช่น น้ำมัน จะเคลือบผิวน้ำทำให้พืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
3. ของเสียและมลพิษที่เป็นก๊าซ มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ไอระเหย
4. ของเสียและมลพิษที่มีสมบัติทางฟิสิกส์ ส่วนใหญ่จะสัมผัสได้โดยตรง เช่น เสียง รบกวน กัมมันตรังสี UV
5. มลพิษทางสังคม เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรง โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ เช่น ปัญหาการเพิ่มประชากร ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด

4) มิติมนุษย์
มิติมนุษย์เป็นมิติที่มีความสำคัญมากในการที่จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรซึ่งก่อให้เกิดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อมตามมา มิติมนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ประชากร การเปลี่ยนแปลงประชากรส่งผลต่อการใช้ทรัพยากร
2. การศึกษา จะแสดงถึงคุณภาพประชากรในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
3. การอนามัย/สาธารณสุข มนุษย์ถ้ามีสุขภาพอนามัยดี ก็จะมีศักยภาพในการที่จะทำหน้าที่ในสังคม จึงเป็นตัวควบคุมทรัพยากรทั้งทางตรงและทางอ้อม
4. เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ เงินออม แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม


ที่มา:  https://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/2148-00/
         https://cyberclass.msu.ac.th/cyberclass/library/library.php?courseid=O21mam9h&pid=9864&lang=en,