ธนาคารขยะรีไซเคิล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 18.6K views



ธนาคารขยะรีไซเคิล 1/2
ธนาคารขยะรีไซเคิล 2/2
การสร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริง ธนาคารขยะรีไซเคิล (Action Knowledge Recycle Bank)


ปรากฏการณ์ ณ โรงเรียนเมืองบัววิทยาคาร

โรงเรียนเมืองัววิทยาคาร ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบัวที่พลิกวิกฤตจากปัญหาขยะในชุมชนให้เป็นโอกาสทองของการพัฒนาการศึกษาและอาชีพไปพร้อม ๆ กัน


ข้อค้นพบ  :  ต้นคิดของแนวทางการพัฒนา

ผลจากการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาสถานการณ์ขยะมูลฝอยในชุมชนเมืองบัวใน ๖ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านที่ ๑, ๒, ๕, ๖, ๑๐ และหมู่ ๑๑ พบว่าในแต่ละวันมีขยะมูลฝอยทั้งจากรัวเรือน หนองน้ำภายในหมู่บ้าน ทิ้งตกค้างในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ซึ่งขยะดังกล่าวมีความหลากหลายในสัดส่วนที่แตกต่างกัน เช่น
     - ถุงพลาสติก ร้อยละ ๓๐
     - ขวดแก้ว ร้อยละ ๒๐
     - กระดาษ ร้อยละ ๑๐
     - โลหะ ร้อยละ ๑๐
     - กระป๋องเครื่องดื่ม ร้อยละ ๕
     - ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ร้อยละ ๑๐
     - เศษอาหารจากตลาดสดและร้านอาหาร ร้อยละ ๕
     - อื่น ๆ ร้อยละ ๑๐

ปัญหาขยะที่กำลังจะล้นชุมชนในอนาคต กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญร่วมกันของทุกคนในชุมชน ผู้บริหารคณะครู องค์การบริหารส่วนตำบล ประชาชนในชุมชนจึงเริ่มคิดที่จะป้องกันปัญหาขยะล้นชุมชนมิให้เกิดขึ้นในชุมชนของตน โดยร่วมมือกันคิดหาแนวทางในการป้องกันปัญหา ดังกล่าวอย่างจริงจังขึ้น


การพัฒนานวัตกรรม

ภายหลังจากการปรึกษาหารือร่วมกันแนวคิดดี ๆ จากการะดมปัญหาของชุมชนจึงเกิดขึ้นด้วยกระบวนการของการปฏิบัติงานด้วยการจัดทำนวัตกรรมการสร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริง ธนาคารขยะรีไซเคิล (Action Knowledge Recycle Bank) การจัดกระบวนการเรียนรู้มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๘ ซึ่งมีนายไพจิตร วสันตเสนานนท์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้รับผดชอบในโครงการ โดยการช่วยกันคิดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมา ๕ โครงการ ได้แก่
     - โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ปัญหาร่วมกัน
     - โครงการหน้าบ้านน่ามอง เพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องความสะอาดทั้งในบ้าน นอกบ้าน
     - โครงการยุวชนอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อม
     - โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล และกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของคนในชุมชนที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ขยะที่ไร้มูลค่าแล้วให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
     - โครงการสร้างสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น เรื่อง "ชุมชนสะอาดน่าอยู่" เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านการศึกษาในระบบให้มีจิตสำนึกในการสร้างชุมชนแห่งความสุขขึ้นในสังคมของตนเอง

เพื่อเป็นการต่อเติมความฝันของทุกคนให้เป็นจริงองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองบัวได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ให้โรงเรียนเมืองบัววิทยาคาร จัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนนำรองในการจัดการขยะผ่านโรงเรียนและนักเรียน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ในกรณีนี้โรงเรียนได้เริ่มจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น เรื่อง "ชุมชนสะอาดน่าอยู่" ขึ้นเพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนมาเป็นรูปแบบของการศึกษาค้นคว้า

รูปแบบของการจำลองก็คือ กำหนดให้โรงเรียนเป็นตัวแทนของชุมชน ห้องเรียน คือ บ้าน ครู และผู้เรียนเป็นเจ้าของบ้าน โดยให้ทุกคนเป็นสมาชิกของธนาคารขยะ จากรูปแบบเมืองจำลองดังกล่าว เมื่อมีขยะเกิดขึ้นแทนที่ทุกคนจะเผาหรือทิ้งให้เกิดเป็นมลพิษในชุมชนเหมือนที่เคยเป็นมา ก็ให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนำยะรีไซเคิลไปขายไว้กับธนาคารขยะที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้น เมื่อธนาคารได้รับซื้อขยะไว้แล้ว ผู้เรียนก็จะได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในเรื่องของการคัดแยกขยะ การนำขยะไปประดิษฐ์เป็นของใช้ ของประดับ ของตกแต่งได้เรียนรู้การแยกประเภทของขยะ การจัดการขยะ การทำลายขยะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ


บทสรุปของความสำเร็จ

หลายคนคาดไม่ถึงว่าจากแนวคิดในเรื่องการสร้างองค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงธนาคารขยะรีไซเคิลจะสามารถเชื่อมโยงบูรณาการได้ทั้งกระบวนการเรียนรู้ การบริหารจัดการ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมในชุมชน ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปบูรณาการได้ในวิถีชีวิตจริงได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติเรื่องการจัดการขยะรีไซเคิลของโรงเรียน การคัดแยกขยะ การนำวัสดุหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ การมีรายได้ระหว่างเรียนที่ได้จากการขายขยะ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ มีวินัย มีความรับผิดชอบ รู้จักการเก็บออม

ในส่วนของครูได้มีการนำกิจกรรมโครงการไปสู่การจัดการเรียนรู้บูรณาการในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง ผู้บริหารมีนวัตกรรมใหม่ในการบริหารจัดการและพัฒนาการเรียนรู้ผู้เรียนด้วยการจัดทำเป็นสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นที่สอดคล้องกับความต้องการชุมชน ส่วนชุมชนนั้นได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนเมืองบัววิทยาคาร คือ แบบอย่างของความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมที่มีอยู่เพื่อยกระดับขึ้นเป็นหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และพัฒนาเพื่อการศึกษาและอาชีพ

ความสำเร็จใด ๆ ในโลกนี้ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดแรกเริ่มที่ดูเหมือนเล็ก ๆ ที่พัฒนาต่อยอดให้ยิ่งใหญ่ได้ทั้งสิ้น