การเรียนรู้บูรณาการ โดยใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 36.7K views



การเรียนรู้บูรณาการ โดยใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 1/2
การเรียนรู้บูรณาการ โดยใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 2/2
กระบวนการจัดการเรียนรู้บูรณาการ โดยใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)


ปรากฏการณ์ ณ โรงเรียนดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์)

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต ๒ เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ในทุกระดับชั้น โดยผู้บริหารและคณะครูร่วมกันคัดเลือกหัวข้อที่จะศึกษา คัดประเด็นปัญหาและพิจารณาร่วมกันว่า แต่ละปัญหาดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด แหล่งข้อมูลที่จะต้องใช้ในการศึกษาควรเป็นที่ใด ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการดังกล่าวนี้สามารถที่จะลดภาระงานของผู้เรียนและผู้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแนวทางการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แลแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๔๕ และตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ที่กำหนดให้ครูใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย อาทิ
      • จัดสภาพแวดล้อมในเรื่องพรรณไม้ให้มีความหลากหลาย ปลูกให้จัดกลุ่ม งดงาม สดชื่น และดูแลอย่างต่อเนื่องโดยบุคลากรในโรงเรียน เช่น ครู นักเรียน และนักการ เป็นต้น
      • จัดเตรียมข้อมูลพรรณไม้เพื่อให้นักเรียนมีข้อมูลเบื้องต้นในการสืบค้น เช่น
             - ป้ายพันธุ์ไม้ปักบริเวณโคนต้นไม้ ประกอบด้วย หมายเลขทะเบียนพรรณไม้ ชื่อพื้นเมือง ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ ชื่อสามัญ ถิ่นกำเนิด การกระจายพันธุ์ และประโยชน์ตามรูปแบบป้ายของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
             - หนังสือ เอกสาร วารสาร ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับพรรณไม้จัดเตรียมไว้ในห้องสมุดโรงเรียนและสำนักงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
             - รายชื่อเว็บไซต์ที่สามารถสืบค้นข้อมูลพรรณไม้ได้
             - การนำพันธุ์ไม้เข้ามาปลูกเพิ่มเติมในโรงเรียนเนื่องในโอกาสต่าง ๆ
             - การศึกษาพรรณไม้โดยมอบหมายให้นักเรียนศึกษาที่ในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อให้ใกล้ชิดกับพรรณไม้ เกิดความผูกพัน เห็นคุณค่าและความงามจนเกิดความหวงแหนแบบยั่งยืนต่อไป
             - การเขียนรายงานการศึกษาพรรณไม้ นำเสนอข้อมูลให้ถูกหลักวิชาการ น่าสนใจ และสร้าสรรค์งานตามความถนัดของผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ
             - การนำไปใช้ประโยชน์เชิงบูรณาการ โดยครูผู้สอนกลุ่มสาระต่าง ๆ ร่วมกันกำหนดหัวข้อ เนื้อหา สาระ ลักษณะชิ้นงาน และประเมินผลงานร่วมกัน
             - การจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นต้น

โรงเรียนบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล


ข้อค้นพบ  :  ต้นคิดของแนวทางการพัฒนา

มีองค์ประกอบหลายประการที่ทำให้โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์) ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบบูรณาการ
    ประการแรก  :  โรงเรียนเป็นสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้ดำเนินงานตามแนวทางของโครงการมาอย่างต่อเนื่อง และมีองค์ความรู้มากมายอยู่ในสวนดังกล่าว
    ประการที่สอง  :  ในพื้นที่ ๔๐ ไร่ ของโรงเรียนได้ปลูกพรรณไม้นานาชนิดไว้ให้ผู้เรียนได้ใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย

จากความพร้อมดังกล่าวผู้บริหารและคณะครูได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาในหลากหลายมิติ และมีความเห็นว่าการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการมีความพร้อมสมบูรณ์สุดที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องต่าง  ๆ ดังนี้ ได้แก่
      • พัฒนาผู้เรียนให้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และเกิดทักษะจากการทำกิจกรรมของกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
      • เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างมีความหมายและมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต
      • เพื่อให้ผู้เรียนนำองค์ความรู้ที่ได้จากการบูรณาการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคต
      • ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกัน สามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันได้
      • ลดภาระงานของผู้เรียน โดยใช้การประเมินผลงานชิ้นเดียวร่วมกันระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งเน้นการประเมินสภาพจริง
      • ใช้สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
      • สร้างความตระหนักให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของพรรณไม้ ธรรมชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุกรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
      • พัฒนาภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้สวยงาม ร่มรื่น มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และมีข้อมูลเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนวิชาต่าง ๆ


การพัฒนานวัตกรรม

สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางมีพรรณไม้หลากหลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญสามารถตอบสนองสาระการเรียนรู้ได้ทั้ง ๘ กลุ่มและผลการเรียนรู้ที่คาดหวังของรายวิชาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

คณะครูได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการได้ในหลากหลายลักษณะตามความเหมาะสมและตามความสนใจของผู้เรียน เช่น แบบเส้นทางสู่การเรียนรู้ แบบหลอมรวม แบบคู่ขนาน แบบสหวิทยาการ และแบบเชื่อมโยงข้ามวิชา เป็นต้น

ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการนำสวนพฤกษศาสตร์ในโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้นั้น คณะผู้บริหารและครูได้ร่วมกันกำหนดแนวทางอย่างเป็นระบบ การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการในปีการศึกษา ๒๕๔๘ ผู้บริหารและคณะครูได้กำหนดหัวข้อที่ผู้เรียนจะต้องศึกษา คือ  ต้นตะแบกนา ในเรื่อง ธรรมชาติแห่งชีวิตและสรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว ซึ่งคณะครูผู้รับผดชอบในแต่ละสาระกาเรียนรู้นำไปใช้เป็นเนื้อหาการบูรณาการร่วมกัน ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบประเมินสภาพจริงด้วยผลงานบูรณาการร่วมกัน


บทสรุปของความสำเร็จ

จากความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการได้ก่อให้เกิดความสำเร็จในมิติต่าง ๆ ดังนี้

ผู้เรียน  : 
ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้และเกิดทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร รู้จักเชื่อมโยงความรู้จากต่างกลุ่มสาระเพื่อสร้างผลงานบูรณาการตามความชอบและความถนัดของตน นำประสบการณ์จากการเรียนรู้บูรณาการไปประยุกต์ใช้ในด้านการเรียน ชีวิตส่วนตัว และการทำงานใอนาคต ลดภาระงานของนักเรียนด้วยการส่งผลงานเพียงชิ้นเดียวเพื่อรับประเมนจากหลายวิชา พัฒนาจิตใจให้อ่อนโยน อารมณ์เยือกเย็น เกิดสุนทรียศิลป์ มีความเมตตากรุณาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในธรรมชาติท่ได้ใกล้ชิดและศึกษา เห็นความสำคัญและคุณค่าของธรรมชาติตระหนักในการร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่อไป

ครู  : 
ครูเปลี่ยนบรรยากาศการจัดการเรียนในห้องเรียนเป็นการศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน และให้อิสระกับนักเรียนในการสร้างสรรค์ชิ้นงานบูรณาการ ลดวิธีการสอบแบบบรรยาย ครูเป็นเพียงผู้ช่วยแนะนำอำนวยการความสะดวกให้กับผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนปฏิบัติจริงมากขึ้น ใช้แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างกลุ่มครูที่จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ

ผลที่เกิดกับโรงเรียน  : 
เกิดนวัตกรรมใหม่ โดยใช้แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า โรงเรียนมีภูมิทัศน์งดงาม ร่มรื่น ด้วยพรรณไม้นานาชนิด ครูและผู้เรียนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของโรงเรียน

ชุมชน  : 
ชุมชนมีโอกาสได้ใช้บริหารสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้รับความรู้จากการเผยแพร่ผลงานบูรณาการของนักเรียนที่จัดแสดงในโอกาสต่าง ๆ หรือจากเอกสารเผยแพร่ เช่น จุลสารสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน หนังสือนิลุบล เป็นต้น ชุมชนเห็นคุณค่าของพรรณไม้และธรรมชาติ พร้อมที่จะร่วมมือรักษาสภาพแวดล้อม ส่งเสริมให้ชุมชนดูแลรักษาพืช และปลูกพืชเพื่อการอนุรักษ์ต่อไป