โตขึ้นผมอยากเป็นอะไร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.3K views



เข้าสู่วัย 9 ขวบ ถึงไม่มีใครมาไต่ถามเจ้าตัวก็หมั่นพูดใส่หู แม่ให้ได้ยินอยู่เสมอว่า อยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ และสิ่งที่อยากจะเป็นก็ดูจะมีเหตุผลน่าฟังขึ้น
อยากจะเป็นครู เพราะคุณครูบอกว่าหนูชอบเล่า ชอบอธิบาย แล้วก็พูดมากเหมือนคุณครู
อยากจะเป็นโอเปอเรเตอร์ เพราะพูดๆ ๆ อย่างเดียว ไม่ต้องคิดอะไรมาก
อยากจะเป็นนักมายากล เพราะหนูบิดลูกโป่งเป็นตัวหมาได้แล้ว

ตามหลักวิทยาพัฒนาการ ในเบื้องแรกความใฝ่ฝันอยากจะเป็นอะไรในอนาคตของเด็ก จะมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่ชอบก่อน ซึ่งจะแสดงให้เห็นในวัยประมาณ 6-7 ขวบ แต่ต่อมาจะมีพื้นฐานมาจากการค้นพบว่าตัวเอง ทำได้ นั่นคือประมาณ 9 ขวบ ซึ่งคำตอบจะมีความหมายแฝงความนัยมากขึ้น เพราะเด็กเริ่มมีพัฒนาการที่จะสนอกสนใจรอบตัวที่ไกลออกไป จากตัวเองและครอบครัว และเริ่มที่จะจินตนาการตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกที่เห็นได้ โดยเทียบกับความเป็นจริงของตัวเอง นอกจากนั้น ก็ยังโตพอที่จะรู้จักยินดียินร้ายไปกับชีวิตที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ของพ่อแม่ได้แล้ว

พัฒนาการขั้นนี้สำคัญมากค่ะ เพราะความอยากจะเป็นแล้วค้นพบว่าตัวเองทำอะไรพอจะได้บ้าง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กเกิดความมุ่งมั่น พยายามและใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึง และเพราะสิ่งที่พ่อแม่พูด คิด กระทำ เกี่ยวกับงานอาชีพของตัวเองที่ทำอยู่ มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการเลือกอาชีพของลูกในอนาคต ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างมากมายในสังคม ที่ลูกมักเจริญรอยตามพ่อแม่ในเรื่องการเลือกอาชีพ หรือการสร้างความฝันให้ลูก ดังนั้น พ่อแม่ต้องรับบทหนักอีกแล้วล่ะค่ะ ในการเป็นผู้จุดประกายความใฝ่ฝันให้กับลูก

ประสบการณ์จากโลกแห่งการทำงานของพ่อแม่

วิธีเริ่มต้นที่ดีที่สุดง่ายที่สุดคือ การคุยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับงานที่พ่อแม่ทำ

เล่าให้ลูกฟังถึงขอบข่ายงานที่ทำ เขียนหนังสือ พิมพ์คอมพิวเตอร์ คุยกับลูกค้าทางโทรศัพท์ จัดการบริหารโครงการ พูดถึงทักษะจำเป็นที่ต้องใช้เช่น ต้องภาษาอังกฤษดี หรือพูดจาดี การอธิบายลักษณะงานจะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้คิดว่าทักษะหรือความสามารถที่เขามีนั้น เหมาะกับงานประเภทไหน
เรื่องสนุกที่ทำงาน น่าจะเป็นหัวข้อที่คุณคุยให้ลูกฟังบ่อยๆ การพบปะผู้คนใหม่ๆ เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ โจ๊คเกี่ยวกับผู้คนที่ทำงาน การใช้ทักษะความสามารถของคุณในงานศิลป์หรืองานเขียน เหล่านี้จะช่วยพัฒนาทัศนคติที่ดีในการมองงานและให้เห็นภาพงานที่น่าเบิกบานในอนาคตพร้อมกับการมองงานว่า เป็นเรื่องน่าท้าทาย ได้รับการตอบแทนเป็นรางวัลสำหรับความเหนื่อยยากและความคิดสร้างสรรค์ที่ลงไป และที่สำคัญ สามารถทำให้ลูกเห็นได้ไม่ยากว่า การเรียนนั้นมีผลต่อการทำงานอย่างไรด้วย

การวาดภาพงานในด้านบวกให้ลูกเห็นไม่ได้หมายความว่าจะต้องปิดบังปัญหาของงานไม่ให้ลูกรู้ วันนี้หากมีเรื่องหงุดหงิดใจไม่สบายใจในที่ทำงาน หรือไม่มีความสุขกับการตัดสินใจในบางเรื่อง ถ้าลูกถามหรือสังเกตเห็นก็เล่าให้ลูกฟังได้ เพราะลูกวัยนี้ทำความเข้าใจได้ว่า แม้คนที่ลูกนิยมยกย่องก็ล้วนต้องดิ้นรนต่อสู้เอาชนะอุปสรรคเหมือนที่เด็กวัยขนาดลูกก็ต้องทำ และบางครั้งพ่อแม่ก็ผิดพลาดได้ และก็ต้องลุกขึ้นเริ่มต้นใหม่อีกครั้งได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรจะบ่นงึมงำๆ เรื่องงานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันให้ลูกได้ยินได้ฟังเพราะแน่นอน ลูกจะรู้สึกว่างานนั้นช่างน่าเบื่อหน่ายเสียจริง

อาชีพที่หลากหลาย

เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดมาจากผลสำเร็จของงาน ควรให้ลูกได้มองเห็นถึงที่มาด้วย เช่น เวลาพาลูกไปซื้อผักที่ตลาด บอกลูกด้วยว่ากว่าจะมีผักคะน้ากำนี้มา จะต้องมีคนปลูกผัก และต้องมีคนเอาผักมาส่ง ลูกถึงจะซื้อผักได้ หรือหลังจากดูภาพยนต์จบ ขยายความให้ลูกฟังอีกหน่อยว่า ภาพยนต์เรื่องนี้เกิดขึ้นมา จากการทำงานเขียนบทภาพยนต์ และต้องมีการจ้างนักแสดงมาเล่นตามบท วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กๆ เห็นว่า ยังมีอาชีพอื่นอีกนอกไปจาก ครู หมอ หรือตำรวจ

อาชีพไม่มีเพศ

เด็กๆ อาจเหมาเอาได้ว่า งานแบบนี้แบบนั้นจะต้องเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายทำเท่านั้น หากได้เห็นแบบอย่างซ้ำซากจากสังคมรอบตัว หรือแม้แต่ในบ้านเอง (แม่มักจะทำกับข้าว ซักผ้า รีดผ้า ส่วนพ่อตัดแต่งต้นไม้ที่สนามนอกบ้าน) พ่อแม่จึงควรให้ความคิดเรื่องงานที่ใครๆ ก็ทำได้กับลูกด้วย อย่างเช่น ตอนดูทีวีด้วยกัน "ดูสิลูกทำไมพยาบาลในเรื่องต้องเป็นผู้หญิงหมด แหม…ทำไมไม่เอาผู้หญิงมาเล่นเป็นหมอบ้างนะ" นอกจากนั้นก็ควรให้ลูกได้พบได้เห็นอาชีพที่ผู้คนมักมองว่า จะต้องเฉพาะเพศเท่านั้น เช่น ครูสอนคาราเต้ที่เป็นผู้หญิงหรือครูสอนเต้นรำที่เป็นผู้ชาย

อาชีพที่เป็นไปได้ยาก

ลูกบางคนอาจจะมีความฝันที่ดูห่างไกลจากความจริง หรือทะแม่งหูสำหรับพ่อแม่ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่นักร้องวัยรุ่นกำลังมาแรง เพียง 9 ขวบ 10 ขวบก็เป็นซูเปอร์สตาร์กันแล้ว ลูกจึงมีสิทธิ์ที่จะฝันได้ แล้วรีบซุ่มซ้อมฟังเพลง ร้องเพลงเป็นการใหญ่และไปได้ดีเสียด้วย แต่ก็ใช่ว่าเด็กที่รักการฟังเพลงวัย 9 ขวบ จะเติบโตขึ้นไปเป็นนักร้องสังกัดค่ายดังได้ทุกคนไป เจอแบบนี้พ่อแม่จะทำอย่างไรดี คำแนะนำคือ ให้ลูกร้องต่อไป แต่ถ้าพ่อแม่พอมีกำลังส่งเสีย การให้ลูกไปเรียนเปียโนก็เป็นทางออกทางหนึ่ง เพราะอย่างน้อย ครูสอนเปียโนก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำรายได้ได้ดี

ยังเลือกไม่ได้

ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่แน่นอนหรือไม่ได้พูดถึงสิ่งที่อยากจะเป็นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นเพราะยังมีความสนใจหลากหลายมาก ก็อย่าเพิ่งไปขัดกรอบกะเกณฑ์ แต่ควรช่วยลูกมองหาและพัฒนาทักษะของตัวเองไปก่อน เพราะเด็กบางคนอาจจะค้นพบตัวเอง เอาเมื่อจบชั้นมัธยม 6 ก็ยังมี

พาไปทำงานด้วย

การจะทำให้ลูกเห็นซึ้งถึงงาน โดยเฉพาะงานของพ่อแม่ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการพาลูกไปที่ทำงานด้วย (ถ้าเจ้านายอนุญาต เพื่อนร่วมงานยินดี และสภาพการทำงานไม่วุ่นวายนัก)

การพาลูกไปที่ทำงานมิใช่ประโยชน์เพียงแค่เข้าใจหรือรู้จักงานที่พ่อแม่ทำแต่ตลอดช่วงเวลาที่ลูกขลุกอยู่ใกล้ๆ ลูกจะได้เห็นถึงวิธีที่พ่อแม่พูดคุยกับผู้ร่วมงาน สั่งงาน รับงาน พูดคุยโทรศัพท์ หรือถ้าพ่อแม่มีเวลา อาจจะอธิบายลูกไปด้วยก็ดีเลยว่า ทำไมปัญหานี้ถึงได้เลือกการตัดสินใจอย่างนี้ นอกจากนั้น ลูกยังจะได้มีโอกาสเห็นการทำงานประเภทอื่นๆ ในที่ทำงานพ่อแม่ด้วย
แต่ก่อนพาไปที่ทำงาน ควรถามลูกก่อนว่าอยากไปไหม เพราะเด็กบางคนอาจจะค่อนข้างเขิน หรือกลัวว่าไปแล้วพ่อแม่จะยุ่งจนไม่มีเวลามาคุยด้วย เพราะฉะนั้นอย่าบังคับ แต่ถ้าลูกยินดี ก็ต้องพูดคุยกับลูกก่อน ว่าพาไปเพราะอะไร และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ไม่แตะต้องข้าวของเครื่องมือถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ดูแล
หลังจากกลับมาแล้ว พ่อแม่ควรได้พูดคุยต่อกับลูกว่า ลูกรู้สึกอย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร อยากจะทำงานอย่างพ่อแม่ไหม หรืออยากจะทำงานอย่างอื่นหรืออยากจะดูอะไร คุยกับใครอื่นอีกไหม

ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกรู้จักงานที่พ่อแม่ทำอยู่คือการให้ลูก สัมภาษณ์ โดยสมมติลูก เป็นนักข่าวมาสัมภาษณ์เรื่องราวของพ่อแม่ เช่น
ตอนเป็นเด็กอายุเท่ากันนี้ พ่อแม่เคยคิดอยากเป็นอะไรเมื่อโตขึ้น
ความฝันมีอิทธิพลต่อการเลือกงานไหม
เคยเล่าให้คุณตาคุณยายฟังเรื่องความฝันเหล่านี้ไหม ถ้าเล่า คุณตาคุณยายว่าอย่างไรบ้าง
คุณตาคุณยายมีอิทธิพลต่อการเลือกงานในปัจจุบันนี้ไหม
ถ้ามีโอกาสเลือกงานใหม่อีกครั้ง จะเลือกงานแบบเดิม หรือแตกต่างไปเลย
อะไรที่พ่อแม่คิดว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการเลือกงานของคนเรา

ปิดเทอมแล้ว จัดเวลาให้ลูกหน่อยเถอะค่ะ เพราะวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เด็กได้มองเห็นว่า การได้ทำงานประกอบอาชีพ คือส่วนที่ต่อยอดออกไปจากความสนใจและความมุ่งมั่นของตัวเอง การทำงานไม่ใช่เพียงเพื่อสิ่งซึ่งได้มาเพื่อให้มีชีวิตรอด มีเงินอยู่ในตู้เอทีเอ็มเมื่อปลายเดือน หรือเพื่อให้สมความปรารถนาของพ่อแม่

เมื่อลูกเข้าใจจุดนี้ ลูกก็จะเดินไปได้ถูกทางอย่างรู้ว่าเมื่อโตขึ้นเขาอยากเป็นอะไรจริงๆ

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก https://www.elib-online.com/