บทเรียนการ์ตูน (Cartoon Program)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 30.9K views



บทเรียนการ์ตูน (Cartoon Program) 1/2
บทเรียนการ์ตูน (Cartoon Program) 2/2
บทเรียนการ์ตูน (Cartoon Program)


ปรากฏการณ์ ณ โรงเรียนบ้านลานวิทยาคม

โรงเรียนบ้านลานวิทยาคม ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต ๒ จัดการศึกษาระดับช่วงชั้นที่ ๓-๔ มีนางวิไลวรรณ  ภักดี เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนสร้างสรรค์นวัตกรรมบทเรียนการ์ตูนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ผู้เรียนเรียนจนประสบความสำเร็จทำให้การจัดการเรียนรู้เต็มไปด้วยความสุขและหลากสีสัน



ข้อค้นพบ  :  ต้นคิดของแนวทางการพัฒนา

ในอดีตการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนบ้านลานวิทยาคมยังมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการจัดการเรียนมามากนัก การจัดการเรียนรู้ส่วนใหญ่ยึดเนื้อหาสาระจากหนังสือแบบเรียนเป็นหลัก การผลิตสื่อการเรียนการสอนยังขาดรูปแบบที่น่าสนใจและไม่เป็นที่สนใจของผู้เท่าที่ควร



การพัฒนานวัตกรรม

เมื่อครั้งที่กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีโครงการพัฒนาครูแกนนำและครูเครือข่าย อาจารย์ประมวลพจน์  สนิทโกศัย  ในฐานะหัวหน้าสำนักงานพัฒนาวิชาการในขณะนั้น จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาครูเครือข่ายด้วยบทเรียนการ์ตูน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาครูเครือข่ายจำนวน ๕ ท่าน จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ในระยะเริ่มแรก ครูเครือข่ายทุกท่านยังไม่มีความมั่นใจในการจัดทำสื่อประเภทนี้ เนื่องจากไม่มีความสามารถด้านการเขียนการ์ตูนมาก่อน

แต่ปัญาหดังกล่าวก็ได้รับการแก้ไขด้วยการที่ครูผู้นิเทศได้คัดเลือกผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะของโรงเรียนให้เป็นผู้วาดภาพการ์ตูนสื่อการสอนให้แก่คณะครู ผลปรากฏว่าบทเรียนการ์ตูนที่ครูเป็นผู้เขียนบทเรียนเป็นผู้วาดประสบความสำเร็จและได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมบทเรียนการ์ตูนในเวลาต่อมา

บทเรียนการ์ตูนได้กลายเป็นนวัตกรรมที่ผู้เรียนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ อาจารย์ประมวลพจน์จึงได้ดำนเนินการร่วมกับคณะครูเครือข่ายออกแบบดัฒนานวัตกรรมบทเรียนการ์ตูนขึ้นโดยใช้หลักการออกแบบให้มีความน่าสนใจ อยากอ่าน อยากติดตามผสมกับหลักการสร้างบทเรียนสำเร็จรูปที่มีการจัดลำดับเนื้อหาจากง่ายไปยาก โดยลำดับขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมไว้ ๑๔ ขั้นตอน ดังนี้
       • ศึกษตำราและเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้งกับการผลิตสื่อการสอนประเภทบทเรียนโปรแกรมและการนำการ์ตูนมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน
       • ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ และเอกสารประกอบหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ในรายวิชาที่จะดำเนินการผลิตบทเรียนการ์ตูน
       • เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมจากรายวิชาที่จะผลิตบทเรียนการ์ตูน
       • กำหนดจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของบทเรียนว่าต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในเรื่องใด
       • เขียนเค้าโครงหรือเรื่องย่อเพื่อวาดภาพการ์ตูนให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง
       • ออกแบบลักษณะของตัวการ์ตูนที่ใช้ในการดำเนินเรื่อง ในบทเรียนการ์ตูนเรื่องหนึ่ง ๆ ควรมีตัวละคร ๒-๓ ตัว และตัวละครควรมีอายุอยู่ในวัยเดียวกันกับผู้เรียน ยกเว้นตัวละครที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ ควรมีลักษณะเป็นผู้รอบรู้ น่าเชื่อถือ เช่น ผู้นำชุมชน พระ นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องออกแบบฉากของการ์ตูนในแต่ละกรอบด้วยฉากมีความสำคัญในการบอกบรรยากาศ สถานที่ของเหตุการณ์ในช่วงนั้น ๆ
       • เขียนบทเรียนการ์ตูนให้สอดคล้องกับจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม โดยจัดทำต้นฉบับบนกระดาษขาวไม่มีเส้น ต้นฉบับที่ทำจะต้องสะอาดและปราณีต
       • ในการจัดทำต้นฉบับบทเรียนการ์ตูน ผู้จัดทำบทเรียนการ์ตูนจะต้องเขียนคำบรรยายคำสนทนาของตัวละคร พร้อมสอดแทรกสาระความรู้ตามลำดับขั้นที่ได้ออกแบบไว้ โดยมีเนื้อหาครบถ้วนตามจุดประสงค์ของการผลิต ในการดำเนินเรื่องควรให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ ไม่แสดงเจตนาที่จะให้สาระความรู้มากจนเกินไป จนทำให้ผู้อ่านอึดอัดและเบื่อที่จะอ่านการนำเสนอเนื้อหาให้นำเสนอเฉพาะเรื่องอย่างชัดเจน และมีคำถามหรือคำสั่งให้ผู้เรียนตอบสนองต่อเรื่องนั้นโดยตรงในการนำเสนอแต่ละกรอบเนื้อหาควรให้ความรู้ใหม่เพียงเรื่องเดียว
       • ในการเขียนข้อความบรรยายให้ยึดหลักการเขียนหลักการอ่าน คือ เริ่มจากซ้ายมือไปขวามือ จากด้านบนลงมาด้านล่าง ภาษาที่ใช้ ควรเลือกเป็นภาษาที่เรียบง่าย สุภาพ ไม่หยาบคาย
       • ในการจัดกรอบภาพการ์ตูน ยึดหลักการเดียวกันกับการเขียนคำบรรยายกรอบภาพส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาดและจำนวนของกรอบภาพในแต่ละหน้า ซึ่งอยู่กับรูปเล่มของบทเรียนและวัยของผู้เรียนเป็นหลัก การจัดกรอบภาพการ์ตูนในหนึ่งหน้าออกเป็นหลาย ๆ กรอบภาพ ช่วยให้การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างนุ่มนวล และสามารถลดคำสนทนาของการ์ตูนในแต่ละกรอบได้
       • นำบทเรียนการ์ตูนที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เสนอต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณา
       • ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
       • นำบทเรียนการ์ตูนที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดลองหาประสิทธิภาพ
       • เขียนรายงานการสร้างและพัฒนาบทเรียนการ์ตูนที่ดำเนินการผลิตขึ้น



บทสรุปของความสำเร็จ

บทเรียนการ์ตูนเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ยอดนิยมของผู้เรียนที่เรียนรู้เนื้อหาสาระทางด้านวิชาการผ่านนวัตกรรมการ์ตูน ทำให้การเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ที่เพลิดเพลินมีความสุข ได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลินจากการดำเนินเรื่องที่มีมิติแปลกใหม่ ปัจจุบันมีคณะครูที่เข้าร่วมโครงการบทเรียนการ์ตูน จำนวน ๑๐ คน สร้างสรรค์นวัตกรรมบทเรียนการ์ตูนเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ จำนวน ๓๖ เรื่อง ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้แก่
       • กลุ่มสาระศิลปะ ๑๕ เรื่อง
       • กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ๑๒ เรื่อง
       • กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ๔ เรื่อง
       • กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ๒ เรื่อง
       • กลุ่มสาระภาษาไทย ๑ เรื่อง
       • กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ๒ เรื่อง

นับเป็นความสำเร็จของการจัดทำนวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมสมัยที่น่าชื่นชมในภูมิปัญญาของครูไทยที่เป็นเสมือนครูของแผ่นดิน