วันเยาวชนแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 1.5K views



วันเยาวชนแห่งชาติ

วันที่ ๒๐ กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ  ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๒๘  เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมของเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านครอบครัว  สถาบันการศึกษา หรือผู้มีหน้าที่ดูแลในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม เห็นความสำคัญของเยาวชน และช่วยกันเตรียมความพร้อมให้พวกเขาได้เติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพพอที่จะฝากอนาคตของชาติบ้านเมืองไว้ได้ ขณะเดียวกันเยาวชนก็จะมีกำลังใจเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนให้มากขึ้น

เวลานี้เยาวชนไทยบางส่วนของเรามีความรู้ทางวิชาการถึงขั้นไปสอบแข่งขัน เอาชนะเยาวชนจากชาติต่างๆ มาแล้ว และทำได้ดีทุกปี  ประเทศชาติก็มีชื่อเสียง เราคนไทยก็ชื่นชม ยินดี 

แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลจากงานวิจัยฯ ที่น่าเป็นห่วงเยาวชนชายของเราเป็นข่าวคราวขึ้นมาว่า  เวลานี้เริ่มดื่มเครื่องดื่มมึนเมากันตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี   แถมยังยอมรับด้วยว่าเยาวชนกว่า ๘๐ % ดื่มเหล้าครั้งแรก เพราะต้องการทดลอง  อยากดื่ม แล้วก็ร่วมดื่มกับเพื่อน   ถ้าคิดในแง่ดี นี่อาจเป็นการเริ่มต้นโดยที่ไม่รู้ถึงพิษภัยเงียบที่แฝงอยู่ในเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  จึงต้องนำเรื่องราวเกี่ยวกับอันตรายที่ผู้ดื่มพึงได้รับจากการดื่มมาให้ฟัง เป็นการเตือนกันไว้ก่อน  ดังนี้

ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่า ในร่างกายของมนุษย์เรานั้น  ธรรมชาติได้สร้างกลไกต่างๆ  ขึ้นป้องกันสิ่งที่เป็นพิษภัยต่ออวัยวะทุกส่วนไว้อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว เฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะภายใน  ตราบใดที่มนุษย์ “กิน” และ “อยู่” อย่างถูกหลักวิธี  ก็จะสุขสบาย ไม่เจ็บป่วย และอายุยืนยาว  แต่เมื่อใดมนุษย์นำสิ่งที่เป็นพิษภัยฯเข้าสู่ร่างกาย   ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย  มากหรือน้อยก็มักขึ้นกับปริมาณของสารพิษนั้นๆ ยิ่งถ้ามนุษย์ขยันส่งเข้าไปเรื่อยๆ  อย่างเช่น ดื่มเหล้าบ่อย  หรือประจำ  นอกจากจะไปมีผลต่ออวัยวะภายในถูกทำลายไปทีละน้อย กว่าจะรู้ตัวก็เจ็บป่วยมากแล้วนั้น  สถานะภาพทางสังคมของคนดื่มจัดก็จะพลอยเสียหายไปด้วย  ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนดังนี้

การทำลายที่สัมผัสได้ทันที
- ความรู้สึกร้อนซู่ เมื่อเหล้าผ่านปากสู่ลำคอ นั่นคือเยื่อบุช่องปากและหลอดอาหารอันละเอียดอ่อน เกิดอาการระคายเคืองขึ้นแล้ว
- เราจะพบบ่อยๆว่าคนเมาเหล้ากลับบ้านไม่ถูก เดินทรงตัวไม่ได้ ทำให้ต้องนอนตามถนน  นั่นก็ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปกดศูนย์กลางของสมอง ทำให้การประสานงานเสื่อมลงเรื่อยๆ  เกิดความสับสน จำความไม่ได้ เซื่องซึม ชา  สลบ  หรืออาจถึงตาย  ส่วนเซลล์สมองที่ถูกแอลกอฮอล์ทำลายก็จะเกิดขึ้นใหม่ไม่ได้ด้วย  ดังนั้นถ้ายิ่งดื่มประจำ เซลล์สมองก็จะถูกทำลายไปเรื่อยๆ ทำให้ความจำ  การตัดสินใจ ความสามารถในการเรียนรู้เสื่อมลงทุกที

การทำลายระยะยาวโดยผู้ดื่มไม่รู้ตัว
- พิษจากแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้อวัยวะภายในที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ, กระเพาะอาหาร, ลำไส้,   ตับ,  ตับอ่อน, ไต, หรือกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์  อันจะก่อให้เกิดโรคได้หลายโรคเช่น โรคหัวใจโต โรคตับแข็ง  เส้นโลหิตในสมองแตก เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทเป็นต้น

การทำลายสถานะทางสังคม
ในทางพุทธศาสนา  ศีลข้อที่ ๕ ให้ละเว้นจากเครื่องดองของเมา ถือเป็นข้อที่สำคัญที่สุด  เพราะว่าเมื่อดื่มเหล้าแล้ว ประสาทส่วนที่รับรู้ถูก-ผิดจะโดนพิษจากแอลกอฮอล์กดไว้หมด  ทำให้สร้างพฤติกรรมแปลกๆ ที่ปกติแล้วไม่ทำขึ้นมาได้   เราจึงได้พบคนที่แต่งเนื้อแต่งตัวดี  แต่มานอนอยู่ป้ายรถเมล์  หรือข้างถนน  บางคนแก้ผ้าในที่สาธารณะ  เอะอะโวยวาย ทะเลาะวิวาทกับคนอื่น ซึ่งในเวลาเช่นนั้น ถ้าคนรู้จักไปพบเห็นเข้า ก็ย่อมจะคลายความนับถือลง  ทำให้สถานภาพทางสังคมเสียไป  เจ้าตัวเองเมื่อรู้สติขึ้น ก็ย่อมจะอับอาย  แต่นี่ยังเป็นความเสียหายที่จัดว่าน้อยกว่าพวกเมาแล้วก่ออาชญากรรม  ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย  ขับรถผิดกฏจราจรก่อให้เกิดอุบัติเหตุ  ฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นโทษถึงติดคุกติดตะราง  เคยมีงานดีๆ  ทำ   เคยมีคนนับหน้าถือตา  ก็ต้องสูญเสียอนาคตดีๆ ช่วงนั้นไป  เสื่อมเสียชื่อเสียงไปอีกนานมาก 

ยกตัวอย่างมาให้เยาวชนที่ขณะนี้จะเริ่มดื่มเหล้า  หรือดื่มไปบ้างแล้วก็ตามได้คิดทบทวนดูว่า  จะเลือกทางเดินชีวิตแบบไหนดี  จะดื่มต่อไปแล้วเสี่ยงกับเหตุการณ์อย่างที่กล่าวข้างต้น หรือจะไม่ดื่ม  เลิกดื่มเพื่อจะได้มีร่างกายที่แข็งแรง  มีสมองที่แจ่มใสไว้ทำอะไรดี ๆ ให้เกิดกับชีวิตของตนในอนาคตข้างหน้า  เราต้องคิดเอง และเลือกเอง

 

ที่มา   
     - สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม
     - www.healthnet.in.th/

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "เยาวชนไทยไปไหนดี ?"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ