วันเข้าพรรษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 5.1K views



วันเข้าพรรษา

 ถัดจากวันอาสาฬหบูชา  เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง  คือ  “วันเข้าพรรษา” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่  ๑๑  กรกฎาคม  เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์  ฤดูฝนหนึ่ง อันเป็นฤดูที่ข้าวกล้าระบัดใบ  แม้นักบวชในศาสนาอื่นก็พากันหยุดพัก  แต่มีพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนากลุ่มหนึ่งไม่หยุดยั้งการจาริกไป  บางครั้งไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวนาเสียหายเป็นที่ติเตียน  ความทราบถึงพระพุทธเจ้า  จึงมีรับสั่งให้ประชุมสงฆ์  ตรัสถามจนได้ความจริงแล้วจึงทรงบัญญัติเรื่องการ “เข้าพรรษา”  ไว้ 

การบัญญัติพระวินัยของพระพุทธเจ้านั้น เป็นไปอย่างมีเหตุผลและเผื่อความจำเป็นไว้เสมอมิได้ทรงบีบคั้นแต่อย่างใด  ดังจะเห็นได้จากการกำหนดอธิษฐานอยู่ประจำที่ระยะเวลาสามเดือนหรือ “เข้าพรรษา” นั้นก็ได้แบ่งไว้เป็นสองระยะ  ระยะแรกคือระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑  เรียกว่า ปุริมพรรษา  ถ้าปีไหนมีเดือน  ๘  สองหนก็จะเริ่มจำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ หลัง   ส่วนปัจฉิมพรรษา นั้นมีกำหนดเริ่มในวันแรม ๑ ค่ำ  เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒  ภิกษุส่วนใหญ่จะจำพรรษาในช่วงปุริมพรรษามากกว่าปัจฉิมพรรษา หรือพรรษาหลังที่เป็นข้อยกเว้นไว้สำหรับพระภิกษุอาพาธ หรือมีกิจจำเป็นไม่สามารถจำพรรษาในช่วงปุริมพรรษาได้   นอกจากนั้นยังได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุที่มีเหตุพิเศษที่เรียกว่า  สัตตาหกรณียกิจ ซึ่งมีข้อจำเป็นอยู่ ๔ ข้อ ให้ไปค้างคืนที่อื่นคราวละไม่เกิน ๗ วันโดยไม่อาบัติ แม้จะอยู่ระหว่างจำพรรษาก็ตามได้อีกด้วย   ซึ่งการที่พระภิกษุอยู่จำพรรษาเป็นจำนวนมากถึงสามเดือนตามพระวินัยนี้  นอกจากจะเป็นโอกาสที่พระภิกษุสงฆ์จะได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และประพฤติปฏิบัติธรรมกับพระเถระที่เป็นอุปัชฌายาจารย์อย่างเต็มที่แล้ว  ยังก่อให้เกิดผลดีหลายประการต่อสังคมชาวพุทธ   เฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยของเรา ดังที่จะยกมาดังนี้
          ๑. เป็นโอกาสให้พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ สำรวจพฤติกรรมของตน  และตั้งอธิษฐานจะละ ลด และเลิกในสิ่งไม่ดีทั้งหลายเช่น  เลิกดื่มเหล้า  เลิกสูบบุหรี่  เลิกพูดจาหยาบคาย เป็นต้น  พร้อมกันนั้นก็จะพากันทำบุญตักบาตร  รักษาศีล  ฟังธรรมตลอดเทศกาลเข้าพรรษา  ซึ่งก็มีเสียงเรียกร้องกันว่า ขอให้ประพฤติตนอย่างตอนอยู่ในพรรษาตลอดไป
          ๒. เกิดประเพณีนิยมส่งลูกหลานเข้าบรรพชา อุปสมบท เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และฝึกฝนตนเอง เมื่อสึกออกมาแล้วก็จะเป็นคนที่มีความพร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี  เป็นผู้ครองเรือนที่ดี
          ๓. มีการสืบทอดประเพณีที่ดีงาม คือประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงความเป็นมาแต่ครั้งพุทธกาลว่า ครั้งหนึ่ง  นางวิสาขา  มหาอุบาสิกา ต้องการจะนิมนต์พระภิกษุไปฉันภัตตาหารที่บ้าน  จึงให้หญิงรับใช้ไปที่พระวิหารเชตวันเพื่อนิมนต์พระ  ปรากฏว่าหญิงรับใช้กลับมารายงานนางวิสาขาว่า ไม่มีพระ  เห็นแต่พวกชีเปลือยอาบน้ำฝนอยู่  นางวิสาขารู้ด้วยปัญญาว่าคงเป็นพระภิกษุนั่นเองที่อาบน้ำฝนอยู่   ต่อมานางวิสาขาจึงได้ทูลขอพรจากพระพุทธเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุและภิกษุณีเป็นประจำ  ซึ่งก็ทรงมีพุทธานุญาต จึงเกิดเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา  โดยมีความเชื่อในอานิสงส์แห่งการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า คงจะเหมือนกับการถวายผ้าอื่นๆ ตามนัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือผู้ถวายผ้าแด่พระภิกษุสงฆ์จะเป็นผู้มีผิวพรรณผ่องใส  ใจ- กายสะอาด งดงาม และไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
          ๔. เกิดประเพณี  แห่เทียนพรรษา  ในสมัยพุทธกาล  ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นปัจจุบัน  การที่พระภิษุสงฆ์อยู่จำพรรษาเป็นจำนวนมาก และศึกษาพระธรรมวินัย  ตลอดจนบำเพ็ญศาสนกิจกันนั้น จำเป็นต้องอาศัยแสงสว่างจากเทียน  ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนำเทียนไปถวายพระภิกษุเพื่ออำนวยความสะดวก โดยในช่วงต้นๆ นั้นก็คงจะเป็นการถวายเทียนเล็กๆ แบบธรรมดา  ต่อมาจึงวิวัฒนาการขึ้นเรื่อย ๆ  นับจากเริ่มมัดเทียนเล็กๆ นั้นรวมกันให้เป็นต้นใหญ่ คล้ายต้นกล้วยหรือลำไม้ไผ่แล้วติดกับฐาน  จึงเรียกกันว่าต้นเทียน  หรือเทียนพรรษา มาจนกระทั่งมีการประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ ที่มีความหมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และมีการแห่แหนกันเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  งานประเพณีแห่เทียนพรรษาถือเป็นงานประเพณีหนึ่งที่ทำให้เห็นความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพุทธศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี  สมควรอย่างยิ่งที่จะได้มีการอนุรักษ์ไว้
กล่าวกันว่าเทียนพรรษาเริ่มมาจากผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือวัว  ที่เป็นพาหนะของพระอิศวร  เมื่อวัวตาย ก็จะนำไขจากวัวมาทำเป็นน้ำมันเพื่อจุดบูชาพระเป็นเจ้าที่ตนเคารพ  แต่  ชาวพุทธจะทำเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย  โดยการนำรังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้ง แล้วนำมาฟั่นเป็นเทียนเล็กๆ เพื่อจุดบูชาพระ  และได้ยึดถือเป็นประเพณีที่จะนำเทียนไปถวายพระภิกษุในช่วงเข้าพรรษาตลอดมา  ตามคติความเชื่อที่ว่าการทำบุญด้วยแสงสว่าง จะทำให้เป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดดุจดังแสงสว่างของเทียน
          ๕.  เกิดประเพณี “ตักบาตรดอกไม้”   การถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชานั้น  มีตำนานเล่า  มาแต่ครั้งพุทธกาลว่า  พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์ โปรดปรานดอกมะลิมาก  ทุกๆ วันนายมาลาการจะต้องนำดอกมะลิสดขึ้นถวาย  ๘   กำมือ    อยู่มาวันหนึ่ง  ขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิเพื่อจะนำไปถวายพระเจ้าพิมพิสารอยู่นั้น  พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกได้เสด็จบิณฑบาตรผ่านมา  นายมาลาการเห็นพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส ศรัทธา  จึงนำดอกมะลินั้นถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระราชามอบให้ประจำนั้น เป็นเพียงการเลี้ยงชีพในภพนี้เท่านั้น  แต่การนำดอกไม้บูชาองค์พระศาสดานับเป็นประโยชน์สุขที่ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า  ถ้าจะถูกประหารชีวิตเพราะไม่นำดอกมะลิไปถวายพระราชา ตนก็ยอม  แต่การณ์ปรากฏว่าเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ   นอกจากจะไม่ทรงกริ้วแล้ว ยังพระราชทานความดีความชอบเป็นสิ่งของให้จำนวนมาก นายมาลาการจึงมีความสุขสบายตลอดชีวิต  จากตำนานนี้คงเป็นที่มาของการถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชาสืบต่อกันมา  

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษาคงจะเกิดจากคตินี้  และที่จริงมีหลายวัดที่จัดเป็นงานประเพณี  แต่ไม่ค่อยได้มีการประชาสัมพันธ์เลยดูเงียบๆ  รู้กันเฉพาะคนอยู่ใกล้   เช่นที่วัดราชบพิธสถิตย์มหาสีมาราม  กับวัดบวรนิเวศน์วิหารในกรุงเทพมหานคร  แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร  อำเภอพระพุทธบาท  จังหวัดสระบุรีจัด  ซึ่งแต่เดิมก็จัดกันเป็นประเพณีเฉพาะวันเข้าพรรษา  แต่ต่อมามีผู้นิยมไปร่วมงานกันมาก มีเรื่องของการท่องเที่ยวเข้าไปผนวกอยู่ด้วยจึงได้ขยายการจัดงานออกไปอีก  เป็น ๓ วันด้วยกัน  แต่จะว่าไปแล้วที่นี่เขาก็มีความแตกต่างที่เป็นจุดดึงดูดความสนใจได้  อยู่ตรงที่ว่าเขามีต้นไม้อยู่ชนิดหนึ่งที่จะขึ้นงอกงามบริเวณเชิงเขาสุวรรณบรรพต  จรดเทือกเขาวง ใกล้รอยพระพุทธบาท ที่จะออกดอกและบานสะพรั่ง  สีสันสวยงามแตกต่างกันออกไปในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี  พอหมดฤดูฝน  หมดพรรษา ต้นไม้นี้ก็จะทิ้งใบหมดเหลือแต่เหง้าอยู่ใต้ดิน  ชาวบ้านแถวนั้นเรียกต้นไม้นี้ว่า “ ต้นเข้าพรรษา”  และเรียกดอกของมันว่า “ดอกเข้าพรรษา” และใช้เป็นดอกไม้สำหรับตักบาตรพระในวันเข้าพรรษามาแต่โบราณ  

ดอกเข้าพรรษา  มีชื่อทางพฤกษศาสตร์อยู่ในสกุลกลอบบา (Globba) มีลักษณะคล้ายกับต้นกระชาย หรือขมิ้น  สูงคืบเศษๆ มักจะขึ้นตามท้องที่ป่าเขาที่มีความชุ่มชื้นค่อนข้างสูง ลำต้นขึ้นเป็นกอ จากหัวหรือเหง้าใต้ดิน ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อ  ส่วนยอดของลำต้นมีหลายสี เช่นขาว เหลือง   เหลืองแซมม่วง   บางต้นก็มีสีน้ำเงินม่วง  มีดอกรองรับในช่อดอก ดูเป็นช่อใหญ่สวยงาม  โดยเฉพาะชนิดดอกเหลืองมีกลีบรองสีม่วงนั้น จะสวยสะดุดตาและหายากกว่าสีอื่น ชาวบ้านเรียกดอกรูปแบบนี้ว่าดอกยูงทอง หรือดอกหงส์ทอง   แต่โดยทั่วไป  ชาวบ้านเขาก็เรียกดอกเข้าพรรษาในอีกชื่อหนึ่งว่าดอกหงส์เหิรอยู่แล้ว  เพราะดอกและเกสรมีลักษณะเหมือนตัวหงส์กำลังจะบิน  แต่นี่เป็นการเรียกขานตามแบบชาวสระบุรีเท่านั้น   เพราะถ้าต่างถิ่นออกไป   “ดอกเข้าพรรษา”  หรือ “หงส์เหิร” ของชาวสระบุรีก็จะมีชื่อเรียกที่ต่างออกไปตามท้องถิ่นเช่น  ที่จังหวัดตากจะเรียกว่ากล้วยจ๊ะก่า  ลำพูนจะเรียก กล้วยจ๊ะก่าหลวง  เชียงใหม่เรียกกล้วยเครือคำ  พิษณุโลกเรียกก้ามปู  แต่ภาคกลางเรียกไม่ค่อยเพราะเลยว่า ขมิ้นผี หรือกระทือลิง  กรณีนี้ขอเรียกตามชาวสระบุรีดีกว่า

 

ที่มา 
     - ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
     - Travel  -   Manager online
     - นิตยสารกุลสตรี  ก.ค. ๔๘

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "วันเข้าพรรษา"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ