เทศกาลสงกรานต์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.2K views



เทศกาลสงกรานต์

 คนไทยเรานี้โชคดี  มีปีใหม่ให้ฉลองกันถึงปีละสองครั้ง  คือปีใหม่แบบสากล ถือวันที่ ๑ มกราคม  เป็นวันขึ้นปีใหม่  แล้วก็ปีใหม่ที่ถือเอาการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์เข้าสู่ราษีเมษ เป็นวันขึ้นปีใหม่  ก็คือวัน “สงกรานต์” อันแปลว่า “ การเคลื่อนย้าย.” ซึ่งอย่างหลังนี้   เมื่อเวียนมาถึงคราวใดเราก็ยังมีการจัดงานกันใหญ่โตเสียยิ่งกว่าปีใหม่ตามแบบสากลด้วยซ้ำไป   สาเหตุคงจะเนื่องมาจากวัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติในเทศกาลสงกรานต์ มีความหมายต่อสังคมความเป็นอยู่ของคนไทยเกี่ยวเนื่องกันอย่างแน่นแฟ้นหลายประการ จนก่อให้เกิดวันสำคัญต่าง ๆ  ขึ้นเช่นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ   วันครอบครัว  แล้วก็วันประมงแห่งชาติเป็นต้น  ในเมื่อ“สงกรานต์” มีความสำคัญต่อคนไทยถึงเพียงนี้  เราจึงควรทำความรู้จักกับที่มา สาระสำคัญ และความดีงามของวัฒนธรรมประเพณีให้ดี  ในทุกปีทุกครั้งที่ได้ร่วมงานประเพณีสงกรานต์  ซึ่งปัจจุบันต่างชาติให้ความสนใจมาก  จะได้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถบอกเล่าแก่เขาเหล่านั้นได้ด้วยความภาคภูมิใจ 

ตำนาน
- เรื่องของตำนานสงกรานต์นั้นมีหลายทางด้วยกัน เช่น ของพม่า สิบสองปันนา และอินเดีย  เป็นต้น  แต่ที่แพร่หลายในเมืองไทยเป็นตำนานที่ ร. ๒  ได้โปรดเกล้าให้จารึกบนแผ่นศิลา ๗ แผ่น ประดับ ณ ศาลาล้อมพระมณฑปด้านทิศเหนือของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ  เป็นเรื่องเล่าถึงเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรสืบสกุล  ได้รับความดูถูกดูหมิ่นจากนักเลงสุราข้างบ้านจนเกิดความละอาย  จึงได้ไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพื่อขอบุตร แต่ผ่านไปสามปี ก็ยังไม่มีบุตร วันหนึ่งเป็นวันสงกรานต์ เศรษฐีได้ไปอธิษฐานขอบุตรจากพระไทร     พระไทรสงสารจึงไปทูลขอพระอินทร์ให้     ธรรมบาลเทวบุตรจึงได้จุติลงมาเกิดเป็นลูกเศรษฐี  ได้ชื่อว่าธรรมบาลกุมารธรรมบาลกุมารนี้เมื่อเติบโตขึ้น  สามารถเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุเพียง ๗ ปีเท่านั้น  และมีความสามารถพิเศษ คือ   รู้ภาษานก  จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์   ทำให้ท้าวกบิลพรหมซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่บอกมงคลแก่มนุษย์อยู่ก่อน เกิดความไม่พอใจ  จึงไปท้าธรรมบาลกุมารให้ตอบปริศนา ๓ ข้อ มีข้อแม้ว่า  หากธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จะต้องตัดศีรษะบูชาท้าวกบิลพรหม  แต่ถ้าตอบได้ กบิลพรหมก็จะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมารเช่นกัน  ปริศนาที่ท้าวกบิลพรหมถาม ได้แก่  เช้า ราศีอยู่ที่ใด   เที่ยง ราศีอยู่ที่ใด และ ค่ำ ราศีอยู่ที่ใด (ราศีหมายถึงความอิ่มเอิบ ความภาคภูมิ) ธรรมบาลกุมารขอเวลา ๗ วัน ล่วงถึงวันที่  ๖  แล้วก็ยังคิดหาคำตอบไม่ได้  เผอิญเมื่อไปนอนใต้ต้นตาลด้วยความท้อแท้นั้น ก็ได้ยินนกอินทรีสองผัวเมียคุยกันว่า  รุ่งขึ้นจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร  เพราะตอบปริศนาของท้าวกบิลพรหมไม่ได้  แล้วนกตัวผู้ยังได้เฉลยคำตอบให้นางนกฟังด้วยว่า

เวลาเช้าราศีของมนุษย์จะอยู่ที่หน้า  มนุษย์จึงต้องใช้น้ำล้างหน้า   เที่ยง ราศีอยู่ที่อก  มนุษย์จึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก  ส่วนเวลาค่ำราศีของมนุษย์อยู่ที่เท้า  มนุษย์จึงต้องใช้น้ำล้างเท้า   ธรรมบาลกุมารนั้นรู้ภาษานก ก็ฟังเข้าใจจึงนำไปตอบปริศนา ทำให้ท้าวกบิลพรหมต้องตัดศรีษะบูชาธรรมบาลกุมาร  แต่ศรีษะของท้าวกบิลพรหมนั้นถ้าตั้งไว้ในแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลก หากทิ้งในอากาศฝนก็จะแล้ง  ถ้าทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง  ท้าวกบิลพรหมจึงเรียกธิดาทั้งเจ็ดของตนซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์มาสั่งเสีย  ให้นำพานมารองรับศรีษะที่ถูกตัด  แล้วนำแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ  จากนั้นให้เชิญไปประดิษฐานที่มณฑปถ้ำคันธธุลี  ที่เขาไกรลาส  พอครบ  ๓๖๕ วันที่โลกสมมติว่าเป็นสงกรานต์  หรือปีใหม่  ก็ให้ธิดาของตนที่เรียกกันว่านางสงกรานต์ผลัดกันเชิญศรีษะกบิลพรหมออกแห่รอบเขาพระสุเมรุอีก   เรื่องราวที่จารึกบนแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า “ซึ่งโปรดให้เขียนไว้ที่ตามศาลาข้างหลังวัด ก็เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนรู้   ซึมซาบทั่วถึงกัน   พอจะได้อ่านเออออกันให้เป็นที่สนุกรื่นเริงของผู้ที่ไป-มาเที่ยวเตร่ในวัดเท่านั้น”

เรื่องของวัน  เวลา  กับนางสงกรานต์ ตามตำราเก่า  
ถ้าวันที่ ๑๓ เม.ย.  ตรงกับวัน อาทิตย์ นางทุงษผู้ซึ่งทัดดอกทับทิม มีพลอยสีแดง (ปัทมราค) เป็นเครื่องประดับ มีผลมะเดื่อเป็นภักษาหาร มีครุฑเป็นพาหนะ หัตถ์ขวาถือจักร  หัตถ์ซ้ายถือสังข์  เป็นนางสงกรานต์

ถ้าวันที่ ๑๓ เม.ย. ตรงกับ  วันจันทร์  นางโคราค  ทัดดอกปีบ ใช้มุกดาเป็นเครื่องประดับ น้ำมันเป็นภักษาหาร  เสือเป็นพาหนะ  หัตถ์ขวาถือพระขรรค์   หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า  เป็นนางสงกรานต์

ถ้าวันที่ ๑๓ เม.ย. ตรงกับ  วันอังคาร นางรากษส ทัดดอกบัวหลวง  ใช้โมราเป็นเครื่องประดับ  โลหิตเป็นภักษาหาร  ใช้สุกรเป็นพาหนะ  หัตถ์ขวาถือตรีศูล  หัตถ์ซ้ายถือธนูเป็นนางสงกรานต์

ถ้าวันที่ ๑๓ เม.ย. ตรงกับ  วันพุธ นางมณฑา  ทัดดอกมณฑา  ใช้ไพฑูรย์เป็นเครื่องประดับ  ภักษาหารคือนมเนย  ใช้ฬาเป็นพาหนะ หัตถ์ขวาถือเข็ม  หัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า  เป็นนางสงกรานต์

ถ้าวันที่ ๑๓ เม.ย. ตรงกับ  วันพฤหัสบดี  นางกิริณี  ทัดดอกจำปา  ใช้มรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาอาหารคือถั่ว งา  ช้างเป็นพาหนะ  หัตถ์ขวาถือขอ  หัตถ์ซ้ายถือปืน เป็นนางสงกรานต์

ถ้าวันที่ ๑๓ เม.ย. ตรงกับ  วันศุกร์  นางกิมิทา ทัดดอกจงกลณี  ใช้เครื่องประดับบุษราคัม  ภักษาหารคือกล้วยน้ำ  ทรงพาหนะมหิงส์ (กระบือ)  หัตถ์ขวาถือพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงพิณเป็นนางสงกรานต์

ถ้าวันที่ ๑๓  เม.ย. ตรงกับ  วันเสาร์  นางมโหทร ทัดดอกสามหาว (ดอกผักตบ)  เครื่องประดับนิลรัตน์  ภักษาหารเนื้อทราย  ทรงนกยูงเป็นพาหนะ หัตถ์ขวาถือจักร  หัตถ์ซ้ายถือตรีศูล  เป็นนางสงกรานต์

นางสงกรานต์ของแต่ละปีจะทรงพาหนะตามที่กล่าวข้างต้น (มิใช่ทรงพาหนะตามปีนักษัตรที่เวียนมาใหม่) และจะอยู่ในอิริยาบถนั่งบ้าง ยืนบ้าง นอนลืมตาบ้าง นอนหลับตาบ้าง  ตามการคำนวณของโหร   ว่าเวลาใดเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราษีเมษ ถ้าย่างเวลาเช้า หรือสายๆ นางสงกรานต์จะยืนมาบนพาหนะ  หากย่างตอนบ่ายหรือเย็น นางสงกรานต์จะนั่ง หรือขี่สัตว์พาหนะมา  ถ้าย่างตอนค่ำแต่ยังไม่ถึงเที่ยงคืน นางสงกรานต์ก็นอนลืมตามา  และถ้าย่างหลังเที่ยงคืนนางสงกรานต์จะนอนหลับตา

ความเชื่อ – คำทำนาย  เรื่องของ “ขวัญ – กำลังใจ”  เป็น “กุศโลบาย” อย่างหนึ่ง
    
ถ้านางสงกรานต์ยืนมา  จะเกิดความเดือดร้อน เจ็บไข้
     ถ้านางสงกรานต์นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ
     ถ้านางสงกรานต์นอนลืมตา  ประชาชนจะอยู่เป็นสุข
     ถ้านางสงกรานต์นอนหลับตา  พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

     ถ้าวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ  วันอาทิตย์   ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารจะไม่สู้งอกงาม  
     ถ้าวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ  วันจันทร์     ปีนั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ
     ถ้าวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ  วันอังคาร  และวันเสาร์  โจรผู้ร้ายจะชุกชุม  จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง
     ถ้าวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ  วันพุธ  ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ
     ถ้าวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ  วันพฤหัสบดี  ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย
     ถ้าวันมหาสงกรานต์ ตรงกับ  วันศุกร์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง  ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก

     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันอาทิตย์  ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก
     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันจันทร์ ของเค็ม  หมักดอง และเกลือ จะแพง
     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันอังคาร  ผลหมากรากไม้จะแพง
     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันพุธ  ข้าวปลาอาหารจะแพง
     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันพฤหัสบดี  ผลไม้จะแพง
     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันศุกร์  พริกจะแพง  แร้งกาจะเป็นโรค  สัตว์ป่าจะได้รับอันตราย  แม่หม้ายจะมีลาภ
     ถ้าวันเนา  ตรงกับ  วันเสาร์  ข้าวปลาจะแพง  จะได้ข้าวน้อย  ผลไม้จะแพง  น้ำน้อย

     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันอาทิตย์  พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ  ปราบศัตรูได้ทั่วทิศ
     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันจันทร์  พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ
     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันอังคารข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุขมีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล
     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันพุธ  บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ
     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันพฤหัสบดี  สมณ ชี พราหมณ์ จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม
     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันศุกร์   พ่อค้า คหบดี จะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก
     ถ้าวันเถลิงศก  ตรงกับ  วันเสาร์  ทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

โดยปกติแล้ววันที่พระอาทิตย์ยก หรือย้ายเข้าสู่ราษีเมษนั้นมักจะตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี   เรียกกันว่าวันมหาสงกรานต์  วันที่ ๑๔ เรียกว่าวันเนา และวันที่  ๑๕  เรียกว่าวันเถลิงศก  คือวันขึ้นมหาศักราชใหม่นั่นเอง  คติการนับวันเช่นนี้มาจากพราหมณ์  อินเดีย  สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ (เม.ย. ๔๙) จะอยู่ช่วงระหว่างวันพฤหัสบดีที่  ๑๓  ถึงวันเสาร์ที่  ๑๕

ประเพณีปฏิบัติในวันสงกรานต์
- เมื่อเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึง  คนไทยไม่ว่าจะไปทำมาหากินอยู่ในที่ใดก็ตาม  ต่างจะพากันกลับบ้านเพื่อไปพบพ่อ-แม่  ปู่-ย่า  ตา-ยาย ญาติพี่น้องของตน  ลูกหลานจะเตรียมข้าวของ  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องนุ่งห่มไปให้ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้น  กราบไว้ขอพร  เป็นการแสดงออกถึงความรัก  ความผูกพันที่คนในครอบครัวไทยพึงมีต่อกันอย่างน่าประทับใจ  จากนั้นก็เตรียมที่จะไปทำบุญตักบาตรร่วมกันในเทศกาลวันสงกรานต์ตามประเพณี

- เช้า  จัดอาหารคาว  หวาน ไปทำบุญตักบาตรที่วัด (มักจะทำทั้งสามวัน) โดยมีขนมประจำเทศกาล  คือกะละแมกับข้าวเหนียวแดง  การทำบุญตักบาตร นอกจากจะเป็นการสืบพระพุทธศาสนาแล้วยังเป็นการฝึกการให้โดยไม่หวังผลตอบแทนอีกด้วย  เพียงแต่มีความเชื่อว่าการเป็นผู้ให้นั้นจะได้รับผลบุญทำให้ตนได้รับความสุขทั้งชาติปัจจุบันและชาติหน้า อีกทั้งบรรพบุรุษ ผู้มีคุณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ยังจะได้รับอานิสงส์จากผลบุญด้วย   จึงถือเป็นประเพณีที่จะมีการทำบังสุกุลอัฐิของบรรพบุรุษในวันสงกรานต์  

- สรงน้ำพระ  “พระ” ในที่นี้หมายถึงทั้งพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์  เราถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประทานกำเนิดพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์ทรงดับขันธปรินิพพานแล้ว เราก็ถือเอาพระพุทธรูปเป็นตัวแทนพระองค์  ส่วนพระสงฆ์นั้นนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในพระพุทธศาสนากว้างขวางกว่าผู้อื่นและเป็นผู้นำทางด้านจิตใจให้คนประพฤติดีแล้ว  ท่านยังเป็นศาสนทายาทรับผิดชอบต่อความเจริญหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาด้วย   การประกอบการกุศลในท่านเหล่านี้จะได้บุญมาก  ดังนั้น  ในเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อากาศร้อนมากกว่าเดือนอื่น เราจึงนำ “น้ำ” อันเป็นสัญลักษณ์ของเมตตา ความรัก ความบริสุทธิ์ และสดชื่นไปสรงพระพุทธรูปเช่นพระพุทธสิหิงค์ ที่ทางการจะอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ท้องสนามหลวงให้ประชาชนสรงน้ำทุกปี  หรือพระพุทธรูปตามโบสถ์ วิหาร หรือศาลาการเปรียญ  โดยมักอธิษฐานขอให้ชีวิตมีแต่ความบริสุทธิ์ สดชื่นดุจน้ำที่ใสสะอาด   เมื่อสรงน้ำพระพุทธรูปแล้ว เราก็สรงน้ำพระสงฆ์  แล้วจึงไปรดน้ำเพื่อขอพรจากผู้ที่เราเคารพนับถือว่าเป็นประดุจพระของเราเหมือนกัน ได้แก่พ่อ- แม่  ปู่- ย่า  ตา- ยาย  ของเรา  จากนั้นจึงไปถึงบุคคลที่เคารพนับถือเป็นพิเศษ   แล้วจึงแผ่ความรักความเมตตาโดยใช้น้ำเป็นสื่อนั้นไปยังเพื่อนฝูง ญาติสนิท มิตรสหาย ตลอดจนคนทั่วไป    ดังนั้น ในวันสงกรานต์นอกจากเราจะทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ นำน้ำสะอาดไปสรงน้ำพระ  รดน้ำขอพรผู้ใหญ่อย่างที่กล่าวมาแล้ว    การเล่นสาดน้ำสงกรานต์กับคนทั่วไป จึงควรใช้น้ำสะอาด และทำด้วยความสุภาพมีไมตรีจิตต่อกันด้วย    อันจะเป็นสิ่งสำคัญของการธำรงรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติเราไว้

- ปล่อยนก-ปล่อยปลา  การให้ความเป็นอิสระ การให้ชีวิตถือเป็นทานที่เชื่อกันว่ามีอานิสงส์มาก  จะช่วยให้เป็นผู้มีชีวิตยืนยาว   มีเรื่องเล่าว่า   ในสมัยพุทธกาล สามเณรรูปหนึ่งซึ่งท่านพระสารีบุตรเถระได้ทำนายไว้ว่าจะถึงแก่อายุขัยภายใน ๗ วัน  สามเณรนั้นจึงเดินทางกลับบ้านไปอำลาญาติโยม   ระหว่างเดินทางไปพบปลาตกคลักอยู่ในหนองน้ำแห้ง  เกิดความสงสารจึงนำปลาไปปล่อยในแหล่งน้ำ แล้วเดินทางต่อไป  เมื่ออำลาญาติโยมเรียบร้อยแล้วกลับมา  จนเลย ๗ วันไปแล้วสามเณรก็ยังไม่เป็นอะไร ท่านพระสารีบุตรเถระประหลาดใจ เพราะท่านเป็นผู้ทำนายแม่น  ได้สอบถามสามเณรว่าระหว่างทางกลับบ้านได้ทำอะไรบ้าง สามเณรก็เล่าให้ฟังว่าได้ช่วยปลาให้พ้นจากความตาย  ท่านพระสารีบุตรเถระจึงชี้แจงให้สามเณรเข้าใจว่าที่รอดพ้นจากความตายและมีอายุยืนต่อไป ก็เพราะผลบุญที่ช่วยชีวิตปลาไว้นั่นเอง  ในเมื่อผู้คนเห็นอานิสงส์ของการให้ชีวิตเช่นนี้ จึงนิยมปล่อยปลา และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในวิสัยจะทำได้เช่นนก เต่า กระบือเป็นต้น 

- การก่อพระเจดีย์ทราย หรือ ก่อพระทราย  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่นิยมทำในเทศกาลสงกรานต์   ช่วงเวลาบ่ายหรือใกล้ค่ำชาวบ้านทุกเพศทุกวัยจะแต่งกายสวยงาม ออกจากบ้านพร้อมอุปกรณ์ขนทรายและธงทิวที่สวยงาม  ต่างจะขนทรายจากนอกเขตวัดเข้าไปยังสถานที่กำหนดในวัดแล้วก่อทรายที่ขนมานั้นเป็นรูปทรงต่างๆตามแต่จินตนาการโดยอิงพระศาสนาเป็นหลัก   ส่วนใหญ่จึงเป็นรูปเจดีย์    เสร็จแล้วก็จะประดับด้วยธงสีต่างๆที่เตรียมมา หรือใช้ใบโพธิ์มากดเป็นพิมพ์สวยไปอีกแบบหนึ่ง   คติของการก่อพระเจดีย์ทราย  คงจะสืบเนื่องมาจากว่าคนไทยถือในเรื่อง “ของสงฆ์”  หรือ  “ของวัด”  สองอย่างนี้จะไม่นำกลับมาบ้านเป็นอันขาดถือเป็นบาปอย่างมาก  เวลาไปทำบุญที่วัด เป็นไปได้ว่าเม็ดทรายอาจจะติดเท้ากลับบ้าน  การนำทรายนอกวัดเข้าไปก่อพระเจดีย์ในวัด  ในเทศกาลสงกรานต์จึงถือได้ว่าเป็นการนำทรายมาใช้คืนให้กับวัดนั่นเอง  นอกจากนั้นในสมัยก่อนการก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัดนั้น ทางวัดจะดำเนินการเองโดยพระและชาวบ้านเป็นช่าง ก็จะได้ใช้ทรายนั้นในการก่อสร้าง

- การละเล่น  การเล่นสงกรานต์ในสมัยโบราณเราไม่สามารถสืบทราบได้ว่าเขาเล่นอะไรกันบ้าง  แต่ที่มีหลักฐานพบได้ก็มีเพียงอย่างเดียวที่เล่นสืบกันมาจนทุกวันนี้ คือการเล่นสะบ้าที่ยังเล่นกันทุกภาค  แต่อาจจะแปลกแยกกันบ้างตรงวิธีการเล่น  ชื่อเรียก   และความเป็นมา อย่างเช่น  ตำนานการเล่นสะบ้าทอยของชาวปทุมธานีก็ว่ามาจากสะบ้าดีด  ที่ชาวหงสาวดีนำเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย  ภายหลังคนไทยมาเปลี่ยนวิธีการเล่นจากสะบ้าดีดมาเป็นสะบ้าทอย  ในขณะที่ตำนานของลำปางก็เล่าไปอีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น  นอกจากนั้นก็มีการเข้าทรงต่างๆ  นับตั้งแต่ทรงแม่ศรี  ทรงผีลิง ผีกะลา  ไปจนถึงทรงผีเครื่องมือทำมาหากินประจำวันไม่ว่าจะเป็นลอบ เป็นสุ่ม ผีกระด้ง หรือผีนางด้ง เหล่านี้เป็นต้น

จากเท่าที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีที่มีคุณค่าต่อวิถีชีวิตและสังคมไทยอย่างยิ่ง  ทุกกิจกรรมก่อให้เกิดความผูกพันในศาสนา ในครอบครัว  ความกตัญญูรู้คุณต่อบุพการี แม้แต่กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ยังได้รับการแสดงกตเวทิตาคุณ   ความรู้รักสามัคคีกับทุกๆคนไม่เคยรู้จักกันก็มาทำบุญร่วมกัน มาเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันได้  เป็นต้น  จึงสมควรที่เราคนไทยในรุ่นหลังจักได้อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามนี้ไว้ตลอดไป  อย่าเห็น “เทศกาลสงกรานต์” เป็นเพียงงานเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

 

ที่มา  
     - สงกรานต์  :   ส. พลายน้อย    :  วารสารไทย
     - จำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต  :  แม่บ้านที่รัก  เม.ย.-กค. ๒๕๒๔
     - รุ้งสลับสี : อมรรัตน์ เทพกำปนาท  ฝ่าย ปชส. สวช. : กุลสตรี  เม.ย. ๔๗

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ  อสมท.  เรื่อง  "เทศกาลสงกรานต์"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ