วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 5.6K views



วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ

 เมื่อวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ (10 ธ.ค.) เวียนมาถึง   นอกจากข้าราชการการเมืองจะได้กระทำพิธีวางพวงมาลา  ถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7  ณ. พระบรมราชานุสาวรีย์เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแล้ว    ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจทางการเมืองก็คงมีความรู้สึกไม่ต่างกันคือนอกจากจะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแล้ว ก็คงมีจำนวนไม่น้อยที่จะคิดถึงประวัติศาสตร์การเมืองทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง   เพราะเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างน่าจดจำ

นับจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อวันที่ 10  ธันวาคม ปี 2475   จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 73 ปี   ประเทศเราได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ-ธรรมนูญการปกครองมาแล้วหลายฉบับ เพื่อให้เหมาะสม  และสอดคล้องกับสภาวการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย  โดยเกือบทุกฉบับได้บัญญัติให้รัฐสภาประกอบไปด้วย 2 สภาคือวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร   ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540   ก็กำหนดให้มีทั้งสองสภา เช่นเดียวกัน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีได้ทั้งหมด 500 คน  แยกเป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเสีย 400 คน เป็นสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (PARTY LIST)  100 คน   และให้มีสมาชิกวุฒิสภา หรือที่เราเรียกว่า สว. ได้ 200 คน    สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีอำนาจหน้าที่และสัมพันธภาพระหว่างกันมากน้อยหรือแตกต่างกันเพียงใด  ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และความสอดคล้องของภาวการณ์บ้านเมืองในยุคนั้น ๆ

อีกไม่กี่เดือน (19 เม.ย. 49) จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. กันใหม่เนื่องจากชุดเดิมจะหมดวาระ   การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวุฒิสภา และข้อมูลผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกไว้ล่วงหน้า  จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหลายควรทำ  เพื่อจะได้ไม่เลือกคนผิดเข้าไปทำความเสียหายแก่บ้านเมือง   การเลือกสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. ซึ่งจะมีได้ 200 คนนี้  เขาจะใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง  และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกตั้งในเขตได้ 1 คน   ถ้าจังหวัดไหนมี สว. ได้มากกว่า 1 คน ก็จะใช้วิธีนับเรียงลำดับคะแนนที่ได้รับเลือกตั้งจากสูงสุดตามลำดับลงไปจนครบจำนวนที่พึงจะมีได้ของจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง    สว. จะดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี นับจากวันเลือกตั้ง   ในกรณีที่มี สว. ลาออกก่อนหมดวาระ  กฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นแทนภายใน 45 วัน นับแต่ตำแหน่งนั้นว่างลง และผู้ที่ได้รับเลือกเข้ามาแทนนี้จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่  แต่ถ้า สว. ลาออกตอนที่อายุของวุฒิสภาเหลือไม่ถึง 180 วัน ดังกรณี พล.ต.อ ประทิน สันติภพ ก็ไม่ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม

สมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.  จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการ-เมือง   องค์กรอิสระ   และข้าราชการระดับสูงอีกทีหนึ่ง   ดังนั้นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหลายจึงควรพิจารณาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยความรอบคอบ    เลือกคนที่ทำความดีอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต   เขาจะได้ไปทำหน้าที่ที่ควรทำเต็มกำลังความสามารถ  สร้างความเจริญให้ชาติบ้านเมือง ซึ่งท้ายที่สุดผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนนั่นเอง

เรียบเรียงจาก
- https://www.parliament.go.th/ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, วุฒิสภา
- คมชัดลึก : 14 พ.ย. 48

เกร็ดความรู้ประกอบ
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปีพ.ศ. 2477  ขณะประทับ  ณ.บ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ   ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 9 ปี 3 เดือน 4 วัน 
- ประทับอยู่ ณ. ประเทศอังกฤษ ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะพระชนพรรษา 48 พรรษา   สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นการส่วนพระองค์ โดยไม่มีพระราชพิธีตามโบราณขัตติย-ราชประเพณีไทย  
- หลังจากเสด็จสวรรคต 8 ปี  รัฐบาลชุดจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ใน รัชกาลที่ 7  เสด็จนิวัติพระนคร พร้อมด้วย พระบรมอัฐิ 
- ปี พ.ศ. 2522 พล.อ.อ. หะริน  หงสกุล  ได้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ. บริเวณรัฐสภา เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานเฉลิมพระเกียรติและแสดงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้พระราชทานการปกครองระบอบประชาธิปไตยแก่ปวงชนโดยมิได้เสียเลือดเนื้อ   กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบปั้น-หล่อพระบรมรูป และก่อสร้างแท่นฐาน   คุณหญิงกุลทรัพย์  เกษแม่นกิจ เป็นผู้รจนาคำจารึกเฉลิมพระเกียรติ และมีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ทุกปีในเวลาต่อมา

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง  "วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ