วันที่ระลึกมหาจักรี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 2.8K views



วันที่ระลึกมหาจักรี

วันที่ระลึกมหาจักรี ( ๖ เมษายน ) เวียนมาครั้งใด  เราชาวไทยที่อยู่กันสุขสงบภายใต้ร่มพระบารมีพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์มาช้านาน  ก็เว้นเสียมิได้ที่จะน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี  โดยนอกจากจะทรงเป็นผู้พระราชทานพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐปกครองแผ่นดินไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันแล้ว  ในรัชสมัยของพระองค์เอง ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อให้ความเจริญรุ่งเรือง และความสุขสงบกลับคืนมาสู่บ้านเมืองดังเดิม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น    ทรงมีพระราชปณิธานในการปกครองประเทศดังที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง ว่า

          “ตั้งใจจะอุปถัมภก                    ยอยกพระพุทธศาสนา
          จะป้องกันขอบขัณฑเสมา        รักษาประชาชนและมนตรี”

พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติจึงมีหลายแขนง  และแต่ละแขนงก็เพื่อยังให้พระราชปณิธานสำเร็จลุล่วง  ดังจะอัญเชิญมาบางส่วนดังต่อไปนี้

- เริ่มแรกได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ  แทนกรุงธนบุรี  ราชธานีเดิม  ด้วยทรงเห็นว่าเป็นชัยภูมิในการรับศึก  และสามารถขยายพระนครได้สะดวก  ทรงจัดผังราชธานีใหม่ให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยา  โดยนอกจากจะทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดในพระบรม  มหาราชวังแล้ว  ยังทรงสร้างพระที่นั่งอีกหลายองค์เช่น  พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ที่จำลองแบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทในกรุงศรีอยุธยา นับเป็นพระที่นั่งองค์แรก    ทรงสร้างพระมหามณเฑียร  พระมหาปราสาทอีกด้วย   ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนว่าบ้านเมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่เหมือนในสมัยอยุธยาแล้ว   ได้พระราชทานนามราชธานีใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ“

- ในภาวะที่ประเทศเพิ่งจะผ่านพ้นสงครามไม่นานนัก  สิ่งที่ถูกทำลายล้างได้รับความเสียหายอย่างหนัก มิได้มีเพียงสิ่งก่อสร้างทั้งหลายเท่านั้น  หากแต่สภาพจิตใจของประชาชนก็บอบช้ำเป็นอย่างยิ่ง  พระเถระบางรูปมรณภาพ  พระไตรปิฏกกระจัดกระจายสูญหายระหว่างสงคราม   จึงได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก    ด้วยการสถาปนาพระเถระผู้ใหญ่ให้ดำรงสมณศักดิ์และรับผิดชอบ  ดูแลพระศาสนาให้รุ่งเรือง    โปรดเกล้าฯให้รวบรวมและสังคายนาพระไตรปิฏกให้ถูกต้องบริบูรณ์  แล้วจารึกลงในใบลานเป็นอักษรขอม  พระราชทานไปยังพระอารามต่างๆ   ทรงตราพระราชกำหนดกฏหมายกวดขันความประพฤติของสงฆ์อย่างเคร่งครัด   ทั้งได้ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามน้อยใหญ่  เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม  วัดมหาธาตุฯ  และวัดราชบูรณะเป็นต้น  ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีที่พึ่งทางจิตใจ  มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

- ปี  พ.ศ. ๒๓๔๗  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฏหมายที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย  และฟั่นเฟือน   ไม่สามารถยึดเป็นหลักยุติธรรมของบ้านเมืองได้   อันมีสาเหตุมาจากการเสียกรุง  ให้ถูกต้องบริบูรณ์ก่อนนำมาใช้เป็นหลักในการปกครองต่อไป  กฏหมายที่ชำระขึ้นใหม่นี้  เรียกว่า “กฏหมายตราสามดวง”  ที่เรียกว่า กฏหมายตราสามดวงก็เนื่องจากมีการบัญญัติว่า  ต้องมีตราพระราชสีห์ (ประจำตำแหน่งสมุหนายก)  ตราพระคชสีห์ (ประจำตำแหน่งสมุหพระกลาโหม  และตราบัวแก้ว  (ประจำตำแหน่งพระโกศาธิบดี)  กฏหมายตราสามดวงนี้ได้ใช้สืบเนื่องมาเป็นเวลา ๑๓๑  ปี  ยุติการใช้ในสมัยรัชกาลที่  ๕

- ถึงแม้ว่าเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน การศึกจะระงับไปหลายปี   เป็นโอกาสให้ทรงก่อสร้างพระนคร  ฟื้นฟูบ้านเมืองได้เต็มที่ก็ตาม  แต่ก็ใช่ว่าจะว่างศึกสงครามตลอด   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ยังต้องทรงทำสงครามกับพม่าอีกถึง ๗ ครั้ง   ครั้งสำคัญที่สุดคือสงคราม ๙ ทัพ  เมื่อปี  ๒๓๒๘  พม่ายกมาครั้งนั้นด้วยกำลังทหารถึงประมาณ กว่าแสนสี่หมื่นคน เข้าโจมตีไทยตั้งแต่ทิศเหนือ   จรดทิศใต้   ในขณะที่เรามีกำลังทหารเพียงประมาณครึ่งเดียวของข้าศึก   แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ก็ทรงนำทัพไทยให้ได้ชัยชนะ  แม้พม่าจะพยายามแก้ตัวอีกเช่น ในสงครามท่าดินแดง และสามสบในเขตจังหวัดกาญจนบุรี  ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อบ้านเพื่อเมืองถึงเพียงนี้    เมื่อวันที่ระลึกมหาจักรีเวียนมาถึง  จึงควรที่ชาวไทยรุ่นหลังทุกคนจะได้ร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยทั่วกัน

 

ที่มา
- ความสำคัญ ..  วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ : มัทนา  รามพันธุ์ :  วารสารวุฒิสภา
- วันที่ระลึกมหาจักรี  :  ท่านผู้หญิงสมโรจน์  สวัสดิกุล  :  ๒๕๒๕
- เวียงวัง  :  จุลลดา ภักดีภูมินทร์  :  นิตยสารสกุลไทย

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันที่ระลึกมหาจักรี"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ