วันสุนทรภู่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 12.5K views



วันสุนทรภู่

 วันที่ ๒๖  มิถุนายน  เป็น “วันสุนทรภู่” เป็นวันแห่งการยกย่องเชิดชูเกียรติรัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ “พระสุนทรโวหาร” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “สุนทรภู่”ผู้มีผลงานนิพนธ์มากมายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปทั้งไทยและต่างประเทศ  โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลกเมื่อปี  ๒๕๒๙  

แต่เดิมนั้นเราได้ทราบกันว่าท่านสุนทรภู่มีงานนิพนธ์หลายประเภท  ประกอบด้วยประเภทนิราศ ๘ เรื่อง  ได้แก่ นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศภูเขาทอง, นิราศเมืองสุพรรณ, นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, นิราศพระประธม และนิราศเมืองเพชร  ประเภทนิทานขนาดยาว  มีโคบุตรพระอภัยมณี, ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ    ประเภทสุภาษิต   มี ๓ เรื่อง  ได้แก่สวัสดิรักษา, เพลงยาวถวายโอวาท, และสุภาษิตสอนหญิง   ประเภทบทละคร   มีเรื่องอภัยนุราช กับเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม กับเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร  ประเภทบทเห่กล่อม  มี  ๔  เรื่อง ได้แก่เห่เรื่องจับระบำ, เห่เรื่องกากี, เห่เรื่องพระอภัยมณี และเห่เรื่องโคบุตร  บทสอนอ่าน  มี กาพย์พระไชยสุริยา      แต่  เมื่อปีที่ผ่านมา  (๒๕๔๘)   ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เผยแพร่ข้อมูลใหม่หลายข้อเกี่ยวกับท่านสุนทรภู่   ที่นายเทพ  สุนทรสารทูล ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมท่านหนึ่งได้นำเสนอไว้ในวิทยานิพนธ์เมื่อปี ๒๕๓๓  เป็นต้นว่า  สุภาษิตสอนหญิง, นิราศพระแท่นดงรัง, นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา และบทละครอภัยนุราช ที่เราเข้าใจกันมานานว่าท่านสุนทรภู่เป็นผู้แต่งนั้นความจริงไม่ใช่  หากแต่ผู้แต่งสุภาษิตสอนหญิง  ได้แก่  ศิษย์ของท่านอีกทีหนึ่งชื่อนายภู่  จุลละภมร โดยนายเทพฯ ได้ให้ข้อสังเกตว่าสุนทรภู่แต่งกลอนไม่เคยมีบทไหว้ครู  แต่เรื่องที่นายภู่แต่งจะมีบทไหว้ครูทุกเรื่อง  ความคลาดเคลื่อนคงเป็นเพราะชื่อภู่เหมือนกัน   ในขณะที่นิราศพระแท่นดงรังผู้แต่งคือเสมียนมี มีระเสน  นิราศวัดเจ้าฟ้า  ผู้แต่งคือนายพัด ภู่เรือหงส์ ซึ่งเป็นลูกชายของสุนทรภู่เอง   นิราศอิเหนา กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์เป็นผู้แต่ง  ส่วนบทละครอภัยนุราช พระยาเสนาภูเบศร์ (ใส สโรบล) เป็นผู้แต่ง  ที่น่าสนใจมากๆ อีกอย่างหนึ่งคือได้พบผลงานใหม่ของสุนทรภู่อีก  ๕ เรื่อง  ได้แก่เพลงยาวรำพรรณพิลาป  ที่แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  เพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ  ตำรายาอัฐกาล ซึ่งเป็นตำราบอกฤกษ์ยามเดินทาง  สุบินนิมิตรคำกลอน  และตำราเศษนารี ซึ่งเป็นตำราบอกคุณลักษณะนารี และวาสนานารีสำหรับชายหนุ่มเลือกคู่    นอกจากนั้นยังพบว่าตำแหน่งของท่านสุนทรภู่นั้น ท่านเป็นหลวงสุนทรโวหาร ไม่ใช่ขุนฯ  เพราะในทำเนียบบรรดาศักดิ์มีแต่หลวง  ไม่มีขุน  บิดาของท่านก็มีตำแหน่งเป็นปลัดกรมขวา  มีศักดินา  ๓๐๐ ไร่ ชื่อขุนศรีสังหาญ    มิใช่คนหลักลอยไม่มีใครรู้จัก

นอกจากนั้นนายล้อม   เพ็งแก้ว นักวิชาการแห่งเมืองเพชรบุรี  ก็เคยเสนอบทความเรื่อง  สุนทรภู่: บรรพชนเป็น “พราหมณ์เมืองเพชร” ด้วย โดยศึกษาจากนิราศเมืองเพชรฉบับตัวเขียนอันถือว่าเป็นข้อมูลใหม่   จึงทำให้ข้อมูลส่วนตัวของสุนทรภู่ที่เราท่องจำกันว่าเป็นชาวอำเภอแกลง จังหวัดระยองอาจคลาดเคลื่อนไปอีกก็ได้  แต่เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่เผยแพร่ออกมาใหม่นี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพในการแต่งบทกลอนของท่านสุนทรภู่ด้อยลงแต่ประการใด  อย่างเรื่องพระอภัยมณีซึ่งเป็นนิทานคำกลอนนี่ก็ถือว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกที่มีความยาวมาก ขนาดนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ว่าพระอภัยมณีถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก เพราะมีความยาวถึง ๑๒,๗๐๖ บท  ในขณะที่บทประพันธ์เรื่องอีเลียต  และโอเดดซี  ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุดยังมีเพียง ๑๒,๕๐๐ บท เท่านั้น  อีกทั้งเนื้อหาของเรื่องฯ  นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงภูมิรู้อันไพศาลและจินตนาการที่ล้ำยุคล้ำสมัยของสุนทรภู่แล้ว ยังมีความงดงามทางวรรณศิลป์อย่างมาก ทำให้ หมอสมิท  เจ้าของโรงพิมพ์บางคอแหลมเลือกที่จะนำออกพิมพ์เผยแพร่เป็นเรื่องแรก เมื่อประมาณพ.ศ. ๒๔๑๓  โดยพิมพ์ตอนแรกนั้นเป็นเล่มเล็กๆ เนื้อความราว ๑ เล่มสมุดไทย  ขายเล่มละ ๑ สลึง ปรากฏว่าผู้คนนิยมอ่านกันทั่วบ้านทั่วเมือง  หมอสมิทได้กำไรจากการลงทุนพิมพ์เรื่องนี้มาก  ภายหลังจึงค้นหาผลงานของสุนทรภู่พิมพ์ขายเป็นลำดับ (สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์)  แต่หมอสมิทก็ยุติธรรมพอ นึกถึงคุณของสุนทรภู่ได้สอบหาบุตรของท่านเพื่อตอบแทน แต่ที่เป็นผลดีมากกว่าค่าตอบแทนก็คือ ทำให้ชื่อเสียงของสุนทรภู่เป็นที่รู้จักไปทั่ว ได้มีการรวบรวมผลงานไว้เป็นสมบัติของชาติ  เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวไทยถึงปัจจุบัน สมดังกลอนที่สุนทรภู่แต่งเป็นเชิงอธิษฐานไว้ในเรื่องนิราศพระประธมที่ว่า

“หนึ่งขอฝากปากคำทำหนังสือ
ให้สืบชื่อชั่วฟ้าสุธาสถาน
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาล
พระทรงสารศรีเสวตเกศกุญชร”

 

ที่มา   
- ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- นิราศพระประธม :  สุนทรภู่
- ๒๒๐ ปี สุนทรภู่ :  กุลทรัพย์ รุ่งฤดี  :  นิตยสารสกุลไทย  มิถุนายน  ๒๕๔๘

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ เรื่อง  "วันสุนทรภู่"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ