วันพิพิธภัณฑ์ไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 10.1K views



วันพิพิธภัณฑ์ไทย

 “โบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปและโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล”

จากพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานในโอกาสเสด็จทรงเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2504 นี้  ย่อมจะทำให้เราได้ระลึกถึงคุณค่าของศิลปวัตถุ โบราณวัตถุต่าง ๆ  กันมากขึ้น และพยายามสงวนรักษาไว้ตามกระแสพระราชดำรัส  รวมถึงเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ในด้านของการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย เพราะพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เก็บรวบรวมสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ไว้เพื่อแสดงแก่ประชาชนทั่วไปให้ได้ชมได้ศึกษา นอกเหนือจากความเพลิดเพลินเป็นส่วนรวม

วันที่ 19 กันยายน เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เหตุที่กำหนดให้วันที่ 19 กันยายน เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทยก็เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งขึ้นที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ตอนนั้นเรียกว่ามิวเซียมหลวงให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก  ภายหลังได้โปรดเกล้า ฯให้ย้ายสิ่งของพิพิธภัณฑ์ไปเก็บรักษา ณ พระที่นั่งอันเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ถนนหน้าพระธาตุในปัจจุบัน  โดยครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้ยกฐานะเป็นกรมพิพิธภัณฑสถาน สังกัดกระทรวงธรรมการและมีพัฒนาการมาตลอดทุกรัชกาลที่ผ่านมา โดย จริงๆแล้วก่อนหน้านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2402  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.4 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวังพระราชทานนามว่า  “ ประพาสพิพิธภัณฑ์ ”  เพื่อใช้เป็นที่จัดตั้งแสดงศิลปโบราณวัตถุที่ทรงรวบรวมไว้  แต่ครั้งนั้นไม่ได้เปิดให้ประชาชนชม  “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”  เพิ่งจะได้รับการประกาศกำหนดเป็นทางการ โดย คณะรัฐมนตรีก็เมื่อปี พ.ศ. 2538 นี่เอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันก็ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก  ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงมีพระราชดำริให้กรมศิลปากรก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาที่ จ. พระนครศรีอยุธยาและได้เสด็จฯ ไปทรงเปิด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504 จากนั้นอีกสามปี กรมศิลปากรได้ขยายกิจการงานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขึ้นที่ จ. สุโขทัย คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราม-คำแหง ก็ทรงมีพระมหากรุณาฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดให้อีก  โดยในครั้งนี้  หลังจากที่ได้ทอดพระเนตร บรรดาศิลปโบราณวัตถุแล้วจะเสด็จฯ กลับได้ทรงมีพระราชดำรัสกับ นายธนิต  อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ว่า  “ นี่ถ้ากรมศิลปากรไปสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ไหนนะ…จะไปเปิดให้ ”  นับจากนั้นกรมศิลปากรก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ไหน ถ้าไม่ทรงติดพระราชภารกิจพระบาทสมเด็จพระ-เจ้าอยู่หัวก็จะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดให้ทุกครั้ง

ปัจจุบัน มีผู้เห็นความสำคัญของ ศิลปโบราณวัตถุกันมากขึ้นจึงได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อรวบรวมของล้ำค่าเหล่านั้นและจัดแสดงแก่ประชาชนให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ และแหล่งรื่นรมย์กันมาก  ทั้งภาครัฐและเอกชน  บางแห่งก็ใช้ชื่อเรียกเป็นพิพิธภัณฑ์  บางแห่งก็เรียกเป็นอย่างอื่นหลากหลายรูปแบบ  เช่น  ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็มีหออัครศิลปิน ซึ่งเป็นที่รวบรวมพระราช-ประวัติและผลงานด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และศิลปินแห่งชาติทุกสาขา, มีหอไทยนิทัศน์ ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติไทยในแบบมัลติมีเดีย, มีหอวัฒนธรรมวิวัฒน์จัดแสดงความเป็นมาของกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม   ในภูมิภาคก็มีหอวัฒนธรรมนิทัศน์ของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดที่เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  ส่วนพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทย และพิพิธภัณฑ์ตามวัดต่าง ๆ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพิพิธภัณฑ์บ้านเราที่จัดทำ โดยเอกชนและชุมชนในท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะของตน

ในขณะที่ต่างชาติเขาตื่นตัวกับการที่จะจัดหาข้าวของที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติของเขา  เก็บรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้แม้ไม่ใช่ของชาติตนก็พยายามเสาะหามาแสดงให้ประชาชนของเขาได้ศึกษาหาความรู้ เราคนไทยได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไปดู ไปศึกษาว่าบรรพชนของเรามีวิถีชีวิตเป็นเช่นไรและมีภูมิปัญญาสร้างสรรค์งานศิลปะอะไรไว้เป็นมรดกของชาติบ้างหรือยัง

เรียบเรียงจาก
- ข่าวสำนักข่าวไทย อสมท : 22 ก.ค. 39
- พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จ ฯ ทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ. พระนครศรีอยุธยา : 26 ธ.ค. 2504
- ส่วนข้อมูลข่าว สำนักข่าวไทย บริษัทอสมท จำกัด มหาชน
- นิตยสารสกุลไทย มี.ค. 46

บทย่อ
พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุไว้ให้คนรุ่นหลังหรือผู้ประสงค์จะทราบประวัติความเป็นมาตลอดจนอารยธรรมของบรรพชนหรือชนชาติในอดีตได้ใช้เป็นแหล่งศึกษานอกเหนือจากชมเพื่อความเพลิดเพลิน

- 19 กันยายน เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย (ครม. ประกาศในปี พ.ศ. 2538)

- เหตุที่กำหนดให้วันที่ 19 กันยายน เป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดมิวเซียมหลวงที่ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งที่ศาลาสหทัยสมาคมให้ประชาชนชมเป็นครั้งแรก

- ปี พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ย้ายสิ่งของพิพิธภัณฑ์ไปเก็บรักษายังพระที่นั่งอันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนครปัจจุบัน และโปรดให้ยกฐานะเป็นกรมพิพิธภัณฑ์สถาน สังกัดกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน)  และกิจการพิพิธภัณฑ์ได้รับการพัฒนาสืบเนื่องมาทุกรัชกาล

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์มาก นอกจากจะพระราชทานพระราชดำริให้กรมศิลปากรก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ที่ จ. พระนครศรีอยุธยา และเสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดแล้ว เมื่อกรมศิลปากรขยายกิจการงานพิพิธภัณฑ์ไปที่ใดในภูมิภาค ถ้าไม่ติดพระราชภารกิจอื่นก็จะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีเปิดให้ทุกครั้ง

- ปัจจุบัน มีผู้เห็นความสำคัญของศิลปโบราณวัตถุกันมากขึ้น  ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งของที่รวบรวมและชื่อที่ใช้เรียกก็ต่างกันไป  แต่จุดประสงค์เดียวกันคือ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้า และความเพลิดเพลินแก่ประชาชน

 

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "วันพิพิธภัณฑ์ไทย"  ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ