วันขึ้นปีใหม่
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 4.9K views



วันขึ้นปีใหม่

เมื่อพูดถึงกิจกรรมในเทศกาลปีใหม่  ที่นิยมกันมาก ๆ คงไม่มีอะไรเกินการส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพร  กับการให้ของขวัญ   อาจจะเนื่องมาจากการส่ง ส.ค.ส.  เป็นวิธีการแสดงความรักความปรารถนาดีต่อกันที่สะดวกประหยัด  และสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมในทุกระดับความสัมพันธ์  ในขณะที่การให้ของขวัญจะเป็นรูปแบบที่เฉพาะเจาะจง  มีความพิเศษมากขึ้นตรงที่ผู้ให้ประสงค์ให้ผู้รับได้ใช้ประโยชน์กับของที่ให้ด้วยนอกเหนือจากความประทับใจ   ดังนั้นการเลือกสรรของขวัญแต่ละชิ้นต้องลงทุนทางความคิดมากกว่าให้ ส.ค.ส  ทำให้พอใกล้เทศกาลก็จะมีผู้ที่มีความรอบรู้ในเรื่องธรรมชาติจิตใจมนุษย์ เรื่องของมรรยาทสังคมตลอดจนมีประสบการณ์การให้ของขวัญออกมาแนะนำเคล็ดวิธีต่างๆ ให้ได้นำไปเป็นแนวคิดสำหรับจะเลือกของขวัญให้ใครสักคนหนึ่งจึงนำมาบอกต่อเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ดังนี้

- ก่อนอื่นต้องดูว่าของขวัญที่จะให้นี้ให้ในโอกาสอะไร?  วันเกิด ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือปีใหม่ ?
- ของที่ให้จะแสดงออกถึงความจริงใจของเรา ผู้ให้หรือไม่ ?  ให้แล้วจะมีผลตามมาหรือเปล่า?
- จะให้ของตามรสนิยมของเราผู้ให้ หรือตามรสนิยมของผู้รับ  ถ้าเลือกให้ตามรสนิยมผู้รับเขาก็ย่อมจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า
- สำหรับคนที่ชอบให้ของขวัญราคาแพง ต้องคิดให้ดี   เพราะผู้รับอาจอึดอัดในการคิดหาของตอบแทนภายหลัง  หรือบางคนอาจคิดเลยเถิดไปถึงความรู้สึกดูถูกดูหมิ่น
- ถ้าไม่สนิทกันมากจริง ๆ ไม่ควรให้ของขวัญที่มีนัยไม่สมควรประเภทของใช้ส่วนตัวมาก ๆ
- ของที่จะให้เหมาะกับผู้รับเพียงใด เช่น ให้ขนมหวานกับคนที่เขาอยู่ในภาวะต้องลดของหวาน ให้เหล้า-บุหรี่กับคนที่อยู่ในภาวะต้องอดเหล้า-อดบุหรี่  ให้สัตว์เลี้ยงหรือต้นไม้กับคนที่ไม่มีเวลาอยู่ดูแลบ้าน  เช่นนี้นอกจากจะเป็นการให้ที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้รับแล้ว เขาอาจมีรู้สึกว่าผู้ให้ขาดความเอาใจใส่ต่อรายละเอียดในตัวเขาก็อาจเป็นได้

นอกจากแนวคิดในการเลือกของขวัญข้างต้นแล้ว   ยังมีคำแนะนำในอันที่จะทำให้ของขวัญนั้นมีค่าขึ้นอีก  ในสายตาของผู้รับนั่นคือ ควรห่อให้เรียบร้อย   มีการ์ดเขียนอวยพรด้วยลายมือแนบติดของขวัญไปด้วย  การทำเช่นนี้นอกจากจะบ่งบอกถึงความมีมรรยาทที่ดีแล้ว ยังแสดงออกถึงความตั้งใจของผู้ให้  ผู้รับก็จะเกิดความประทับใจมากขึ้น เพราะว่าคนเรานั้นบางครั้งก็ชอบของที่มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าข้าวของที่มีราคา

เรียบเรียงจาก
- นิตยสารกุลสตรี
- บทวิทยุรายการศิลปวัฒนธรรม : ธ.ค. 2545

เรื่องที่เกี่ยวเนื่อง
ที่มาของการให้ของขวัญ
- บางคนบอกว่าจีนเป็นชาติแรกที่ริเริ่มให้มีการสนุกสนานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่  บางพวกก็ว่าเยอรมันโบราณ  บ้างก็ว่าโรมัน  แต่ตามเอ็นไซโครพีเดียฉบับเนลสันระบุว่า ชาวบาบิโลนเป็นชาติแรกที่จัดพิธีวันขึ้นปีใหม่ เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช  เขามีการแลกเปลี่ยนของขวัญกันระหว่างญาติมิตร เพื่อนฝูงและเจ้านาย   ในชั้นแรกของขวัญนั้นคงจะถวายเฉพาะพระเป็นเจ้าเพื่อ เป็นเครื่องสังเวยและขอให้ตนประสบความมั่งคั่งสมบูรณ์   เมื่อกาลล่วงผ่านไปจึงพัฒนาไปสู่การแลกเปลี่ยนของขวัญระหว่างเอกชนด้วยกัน อาจจะด้วยความต้องการอวยพรแก่กันให้ประสบความมั่งคั่งตลอดปีใหม่ที่ย่างเข้ามา
- โรมันโบราณมีประเพณีส่งของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปกำนัลมูลนายของตน จึงทำให้มองได้อีกแง่หนึ่งว่า การให้ของขวัญเป็นเรื่องของการขอความคุ้มครองจากมูลนาย

ที่มา : บทความเพื่อแผ่นดินไทย เล่ม 1

บทเพลงปีใหม่

สวัสดีวันปีใหม่พา               ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม    ต่างสุขสมนิยมยินดี….

- เพลงพรปีใหม่ นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2495โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงเป็นผู้นิพนธ์คำร้อง  เมื่อทรงพระราชนิพนธ์เสร็จก็ทรงนำออกบรรเลงทางสถานีวิทยุ อส.  (สมัยนั้นยังไม่มีโทรทัศน์) ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงเป่าแซกโซโฟนในช่วงแรก  พระองค์เองทรงเป่าในช่วงที่สองสลับกันไป  และเนื่องจากคืนนั้นมีเวลาจำกัด  จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้แก่วงดนตรีของนิสิตจุฬาฯ ที่กำลังซ้อมดนตรีอยู่หน้าศาลาเฉลิมไทยกับวงสุนทราภรณ์ที่กำลังบรรเลงอยู่ในศาลาเฉลิมไทย บรรเลงพร้อมกันทั้งสองวง

ที่มา : รวิทัต สัมภาษณ์มรว.มาลินี  จักรพันธุ์ : นิตยสารสกุลไทย

- ประมาณปี 2489 – 2490 (ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2)  มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ คือ จุฬาฯ   ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มักจัดงานฉลองปริญญาบัตร เป็นงานลีลาศ  ครูเอื้อหัวหน้าวงสุนทราภรณ์มีดำริว่า น่าจะมีเพลงปีใหม่ เพราะนิสิตนักศึกษามักจัดงานฉลองปริญญาและปีใหม่เป็นงานลีลาศเต้นรำ จึงเกิด  “เพลงสวัสดีปีใหม่”  ขึ้น  นับเป็นเพลงปีใหม่เพลงแรกของวงสุนทราภรณ์คำว่า “สวัสดีปีใหม่” นี้ครูแก้วเป็นผู้นำคำว่า “สวัสดี” ของพระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งตอนนั้นใช้กันแพร่หลาย มาเชื่อมกับคำว่า “ปีใหม่”  ปรากฎว่านอกจากเพลงจะเป็นที่ชื่นชอบกันมากแล้วยังมีผู้ใช้วลีสวัสดีปีใหม่ไปทักทายกันในวันปีใหม่จนทุกวันนี้   สมัยนั้นวงสุนทราภรณ์มีชื่อเสียงมากในเพลงลีลาศ   บรรดามหาวิทยาลัยต่างก็ต้องการให้ไปบรรเลงในงานปีใหม่  ครูเอื้อจึงแต่งเพลงปีใหม่จังหวะต่าง  ๆ ออกมาอีกปีละเพลงสองเพลง   ก็มี “เพลงไชโยปีใหม่” กับ “เพลงรื่นเริงเถลิงศก” ที่นิยมกันมาก

ที่มา : รวิทัต สัมภาษณ์ ครูใหญ่  นภายน : นิตยสารสกุลไทย

คติธรรม
“ชีวิตในปีเก่า   ควรถือแต่เพียงเป็นตัวอย่างสำหรับแก้ไขชีวิตในปีใหม่ให้พ้นจากทุชีวิต   คือชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับความผิด  ความชั่ว  ส่วนจะแก้ไขชีวิตในปีเก่าซึ่งเป็นทุชีวิตให้กลับเป็นสุชีวิต คือชีวิตงดงาม มีคุณประโยชน์ทั้งตน และผู้อื่นในปีปัจจุบันนี้ย่อมไม่ได้  เพราะได้ล่วงกาลผ่านสมัยเลยไปแล้ว  ทางพระศาสนาจึงสอนให้สำรวมระวังชีวิตในปัจจุบันที่กำลังถึงอยู่บัดนี้ ให้คงอยู่ในแนวทางสุจริตชีวิตดีงามเสมอ  ส่วนไหนผ่านไปแล้วก็เป็นอันผ่านไปไม่ควรเก็บเอามาคำนึงถึงให้เสียเวลาของชีวิตเปล่า”

พระนิพนธ์ของ  
- สมเด็จพระอริยวงศา คตญาณ  (วาสนมหาเถระ)
- สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก  วัดราชบพิธ ประทานแก่ชาวไทยเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ ปี 2521

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันขึ้นปีใหม่"  ผลิตโดย งานบริการการผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ