วันเบาหวานโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 4.6K views



วันเบาหวานโลก

 


ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดกับมนุษย์ทุกวันนี้  มีโรคอยู่โรคหนึ่งที่ควรกลัวกันให้มากเพราะมีลักษณะเป็น “ภัยเงียบ”  คือ  “โรคเบาหวาน”  ซึ่งตอนที่เริ่มเป็นจะไม่แสดงอาการอย่างใดให้ทราบได้เลย   ต่อเมื่อใดที่มีอาการชัดเจนขึ้นจนเจ้าตัวสงสัย  เมื่อนั้นแสดงว่าเป็นมากแล้ว  และเมื่อเป็นแล้วก็จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะรักษาอาการต่างๆ ให้บรรเทาลง ให้ได้มากที่สุดเท่านั้น  สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF)  กับองค์การอนามัยโลก (WHO)  จึงได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่  ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี เป็น “ วันเบาหวานโลก”  เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงพิษภัยและร่วมกันรณรงค์เกี่ยวกับโรคเบาหวาน  ทั้งในแง่ของสาเหตุ  อาการ  และการรักษา  ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนต่างๆ  และเพื่อให้สมตามเจตนารมย์ของวันสำคัญดังกล่าว  จึงได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับโรคเบาหวานมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

โรคเบาหวาน  คือ  โรคซึ่งปัสสาวะออกมาแล้วมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะด้วย (คนปกติไม่ควรมี)

เราคงจะทราบกันดีแล้วว่า  อาหารบรรดามีที่รับประทานเข้าไปนั้นไม่ว่าจะเป็นแป้ง  ไขมัน หรือเนื้อสัตว์ ในที่สุดจะต้องไปถูกย่อยในกระเพาะอาหารและลำไส้  จนเหลือเป็นอณูที่เล็กที่สุดที่จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดได้ และนำไปใช้ให้เกิดเป็นกำลังงานในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอกับเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกายต่อไป  โดยอาหารจำพวกแป้งนั้นจะถูกย่อยจนในที่สุดเป็นน้ำตาลกลูโคสเกือบทั้งหมด  รองลงมาคือเนื้อสัตว์ จะเป็นกลูโคสได้ประมาณ ๕๘%  ในขณะที่ไขมันจะเป็นกลูโคสได้เพียงประมาณ ๑๐% เท่านั้น  ซึ่งน้ำตาลกลูโคสนี้เองที่เป็นตัวการสำคัญ เหมือนเชื้อเพลิงที่จะช่วยเผาผลาญอาหารไขมันและเนื้อสัตว์ให้เกิดการย่อย และเกิดกำลังขึ้นแก่ร่างกาย ส่วนที่เหลือก็จะถูกน้ำไปเก็บสะสมไว้ที่ตับ และที่กล้ามเนื้อต่างๆ  เพื่อจะได้นำออกมาใช้ยามต้องการ  

 ทีนี้ประเด็นอยู่ที่ว่ากลูโคสนี้ไม่ใช่ว่าจะทำหน้าที่เผาผลาญอาหารได้สำเร็จโดยตรง  มันจะต้องถูกบังคับโดยฮอร์โมนจากเซลชนิดหนึ่งในตับอ่อนที่ชื่อ “อินซูลิน” ก่อน  และการที่ “อินซูลิน” จะมีมากหรือน้อย ก็ยังขึ้นกับการทำงานของตับอ่อน กับต่อมไร้ท่ออื่นๆ  ที่จะคอยทำหน้าที่บังคับซึ่งกันและกันให้มีการขับอินซูลินออกมามากหรือน้อยตามต้องการอีก  ดังนั้นถ้าอินซูลินถูกขับออกมาได้น้อย ร่างกายก็ย่อมไม่อาจใช้น้ำตาลในการเผาผลาญให้เกิดกำลังงานได้เต็มที่   ซึ่งต่อมาอาจทำให้น้ำตาลที่มีมากขึ้นนั้น  ถูกนำไปเก็บสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ  น้ำตาลในเลือดก็จะเพิ่มสูงขึ้น  ไตก็จะทำหน้าที่ขับน้ำตาลที่มีมากในเลือดนั้นออกมา  น้ำตาลก็จึงไปปรากฏในน้ำปัสสาวะ  ที่เรียกกันว่าเบาหวาน

แต่อย่างไรก็ตาม   ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่จะทำให้มีน้ำตาลในน้ำปัสสาวะได้อีกเหมือนกัน  เช่นตับอ่อนเกิดอักเสบเฉียบพลันและรุนแรง ทำให้เนื้อตับอ่อนบวม แต่พออาการอักเสบหายไป อาการเบาหวานหรือมีน้ำตาลในน้ำปัสสาวะก็จะหายไป  หรือการที่มีอารมณ์โกรธ ตกใจ ตื่นเต้น  เหล่านี้ก็สามารถทำให้เกิดอาการเบาหวานขึ้นได้เหมือนกัน แต่เป็นเพียงชั่วคราว  ดังนั้นการพบน้ำตาลในน้ำปัสสาวะก็ไม่ใช่จะเหมาทันทีว่าเป็นโรคเบาหวาน  การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะทำได้โดยการเจาะหาระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น โดยจะต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา ๘ ชั่วโมง  ถ้าพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า ๑๒๖ มก./ดล. (มิลลิกรัม ต่อ เดซิลิตร)  ยังต้องทำซ้ำอีกครั้งหนึ่ง  ถ้ายังพบว่าสูงกว่า ๑๒๖ มล. /ดล. จึงจะถือว่าเป็นเบาหวาน  แต่สำหรับคนที่มีอาการต่างๆ  ซึ่งส่อว่าอาจเป็นเบาหวานปรากฏอยู่ก่อนแล้วเช่น  ปัสสาวะบ่อยขึ้นโดยเฉพาะในตอนกลางคืน  กระหายน้ำ-ดื่มน้ำบ่อยขึ้น  กินเก่งขึ้นแต่น้ำหนักกลับลดแล้ว  ถ้าเจาะเลือดโดยไม่ต้องอดอาหารแล้วพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า ๒๐๐  มก./ ดล.ก็ถือว่าเป็นเบาหวาน  และสำหรับคนที่เป็นเบาหวาน ก็อาจมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยอีกนอกเหนือจากอาการสำคัญที่กล่าวข้างต้น เช่น คันตามผิวหนังโดยไม่มีผื่นคัน  ถ้าเป็นผู้หญิงอาจมีอาการคันอวัยวะเพศ   ตาผ้าฟางลง  มีต้อกระจกหรือม่านตาอักเสบ  อาจมีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หรือตามผิวหนังทั่วๆไปของร่างกายอันเนื่องจากปลายประสาทอักเสบ ความคิดอ่านต่างๆ อาจเสื่อมลง  และอาจมีอาการอ่อนเพลียลงทุกที


ใครบ้างมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน  ผู้ที่ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้แก่คนที่
          ๑. อ้วน
          ๒. มีคนในครอบครัวสายตรงเป็นเบาหวาน
          ๓. เคยคลอดบุตรตัวโต น้ำหนักกว่า ๔  กก.
          ๔. มีความดันโลหิตสูง
          ๕. ไขมันในเลือดชนิด  HDL น้อยกว่า ๓๕ มก./ดล.
          ๖. มีประวัติการตรวจความทนน้ำตาลกลูโคสแล้วผิดปกติ

สำหรับคนทั่วไป แม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง  เมื่ออายุเกิน ๔๕ ปีขึ้นไปก็ควรต้องตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเหมือนกัน  แต่ ๓ ปีตรวจครั้งหนึ่งก็ได้ ถือเป็นการป้องกันไว้ก่อน  เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไปหาหมอเรื่องอื่น แต่กลับตรวจพบเบาหวานโดยบังเอิญ

การบำบัดรักษา  การรักษาเบาหวานมีหลักๆ ๓ อย่าง การเลือกใช้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค 

- การควบคุมอาหาร เป็นสิ่งที่แพทย์จะแนะนำเสมอ  เช่น จำกัดอาหารจำพวกแป้ง เพราะแป้งจะทำให้เกิดน้ำตาลได้ทั้งหมด  ควรหลีกเลี่ยงของหวานให้มากๆ   การปรับสัดส่วนอาหารให้เหมาะสมจะทำให้การดูดซึมกลูโคสช้าลง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้
- การให้ยากินซึ่งจะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ทำให้มีการใช้กลูโคสมากขึ้น ลดการสร้างกลูโคสในร่างกายขึ้นใหม่ และยับยั้งการดูดซึมกลูโคสด้วย ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำลง  กับการให้ยาฉีดอินซูลิน เพื่อทดแทนอินซูลินที่ขาดไป  อินซูลินจะพากลูโคสเข้าไปใช้ในเนื้อเยื่อของร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลลดลงได้
- การออกกำลังกาย เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้มีการใช้พลังงานอย่างได้ผล ทำให้ระดับน้ำตาลลดลง  การควบคุมเบาหวานที่ดีคือสามารถควบคุมระดับน้ำตาลหลังงดอาหารได้ต่ำกว่า ๑๒๐ มก./ดล.

จุดประสงค์ของการรักษา  
๑. แก้ไขภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันที่เกิดจากระดับน้ำตาลสูงมากจนอาจหมดสติ
๒. แก้ไขอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด ฯลฯ
๓. ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดตีบตัน เช่น  อัมพาต โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคไตวาย แผลเรื้อรัง  หลอดเลือดแขนขาอุดตัน เบาหวานขึ้นตา และเป็นต้อกระจก

นำเรื่องโรคเบาหวานมาบอกกันนี้ก็เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจโรค และดูแลตัวเอง  แต่ก็อย่าวิตกกังวลจนมากเกินไป เพราะถึงแม้เบาหวานจะไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่ก็มีคนเป็นเบาหวานจำนวนไม่น้อย ที่เขาควบคุมตัวเองได้ดีในเรื่องอาหารการกิน  และการออกกำลังกาย แล้วก็สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนคนที่ไม่ได้เป็น

หมายเหตุ
เหตุที่ใช้วันที่  ๑๔ พฤศิกายน เป็น “วันเบาหวานโลก” ก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr. Frederick Banting  ผู้ค้นพบ “อินซูลิน” เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.๑๙๒๑ ( พ.ศ. ๒๔๖๔) ผู้ซึ่งเกิดในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน


ที่มา  
- google.com
- ThaiClinic.com I ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน
- บทความเรื่องโรคเบาหวานของ ศจ.นพ.เสนอ อินทรสุขศรี จากหนังสือราศรีอนุสรณ์

ภาพประกอบ :  https://www.healthcarethai.com/ และ https://www.siamhealth.net/ 

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง ไวันเบาหวานโลก"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ