๒๔ กุมภาพันธ์ : วันศิลปินแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 3.1K views



๒๔ กุมภาพันธ์ : วันศิลปินแห่งชาติ

ยุคนี้เป็นยุคของการนำวัฒนธรรมชนชาติออกมาอวดกันนับตั้งแต่ในวงแคบๆ ระดับชุมชนไปจนกระทั่งเป็นวงกว้างระดับชาติ ถึงนานาชาติ     ชาติใดมีการสืบทอดทางวัฒนธรรมยาวนานไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการกิน การดนตรี หรือมีศิลปวัตถุสถานที่บ่งบอกความเก่าแก่ไว้อวดต่อชาวโลก นอกจากจะดูมีศักดิ์ศรีในแง่ของความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมมายาวนานแล้ว    ยังสามารถนำมาเป็นจุดขายในธุรกิจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เมืองไทยเราก็มีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ศิลปินรุ่นก่อนเก่าสร้างสรรค์ไว้มากมาย   แต่เพิ่งจะมีการพิจารณายกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้สร้างงานศิลปะอย่างเป็นทางการก็เมื่อปี ๒๕๒๗  โดย นายชวน  หลีกภัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของชาติ  จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติขึ้น  ซึ่งได้มีการระดมความคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านศิลปะทุกแขนงและทุกสาขา เพื่อกำหนดกฏเกณฑ์  กรอบกติกา   ไม่ว่าจะเป็นความหมาย  คำนิยาม  การสรรหาไปจนถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะมอบให้แก่ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ  จากนั้นได้มีการดำเนินการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติเป็นครั้งแรกและได้ประกาศยกย่องเชิดชูเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๘  ผู้ได้รับการคัดเลือกในสาขาวรรณศิลป์คือ มรว.คึกฤทธิ์  ปราโมช, สาขาดนตรีไทย คือ นายมนตรี ตราโมท, สาขานาฏศิลป์ คือท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี และสาขาทัศนศิลป์คือนายเฟื้อ หริพิทักษ์

การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติได้กระทำต่อเนื่องกันมาโดยตลอดพร้อมกับมีการปรับโครงการศิลปินแห่งชาติให้เข้าตามแผนพัฒนาวัฒนธรรมของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติไปด้วย  เราจึงมีศิลปินแห่งชาติจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น ๑๖๔ คน  แยกเป็นสาขาวรรณศิลป์ ๒๔ คน  สาขาทัศนศิลป์ ๔๒ คน  และสาขาศิลปะการแสดง ๙๘ คน  ในขณะที่ขอบข่ายและความหมายของสาขาศิลปะก็มีการปรับให้ตรงตามหลักสากล  โดยจำแนกไว้ ๓ สาขาด้วยกัน ได้แก่

          ๑. สาขาทัศนศิลป์ (Visual Art)  ประกอบด้วยจิตรกรรม  ประติมากรรม   ภาพพิมพ์   ภาพถ่าย  ภาพวาด   การออกแบบ   สื่อประสม   และสถาปัตยกรรม
          ๒. สาขาวรรณศิลป์  (Literature)  ประกอบด้วยกวีนิพนธ์  เรื่องสั้น  นวนิยาย  และบทละคร
          ๓. สาขาศิลปะการแสดง  (Performing Art) ประกอบด้วยการแสดง  ดนตรี  และการแสดงพื้นบ้าน 
     
    
และคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกก็ได้มีการปรับจากเดิมไปบ้างเล็กน้อย ได้แก่

          ๑. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน
          ๒. เป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะแขนงนั้น
          ๓. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน
          ๔. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น
          ๕. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน
          ๖. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน
          ๗. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ     นอกจากจะได้รับค่าครองชีพเป็นรายเดือนแล้ว ยังจะมีเกียรติประวัติสูงสุดในการได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อรับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติอันเป็นสิริมงคลยิ่งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ

บ้านเมืองใดมีงานศิลปะและวัฒนธรรมที่ยั่งยืนยาวนาน  เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นชนชาติที่เจริญและมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจฉันใด  การยกย่องเชิดชูผู้สร้างสรรค์งานศิลปะก็เท่ากับความยกย่องเชิดชูประเทศชาติให้มีเกียรติปรากฎด้วยฉันนั้น เมื่อใดได้พบเห็นหรือได้ยินได้ฟังผลงานศิลปะทุกแขนง   พวกเราจึงควรระลึกถึงคุณค่าความเป็นปราชญ์ของศิลปินแห่งชาติของเราด้วยความภาคภูมิใจ

เกร็ดเรื่อง
- เหตุที่กำหนดให้วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เป็นวันศิลปินแห่งชาติก็เนื่องมาจากเป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ร.๒ แห่งบรมราชจักรีวงศ์  องค์ปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ผู้ทรงฝากฝีพระหัตถ์และฝีพระโอษฐ์ยอดเยี่ยมไว้ในงาน ศิลปะมากมายหลายแขนง

- คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ ด้วยทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขาเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป


เรียบเรียงจาก   -  หนังสือวันสำคัญ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ : https://www.culture.go.th/


ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "๒๔ กุมภาพันธ์ : วันศิลปินแห่งชาติ"  ผลิตโดย   งานบริการการผลิต   ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ   ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ