วันฉัตรมงคล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 1.9K views



วันฉัตรมงคล

ชาติไทยเรามีพิธีต้อนรับหรือรับรองฐานะความเป็นประมุขของชาติมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยแล้ว ดังศิลาจารึกเรื่องพ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์   จึงได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นให้ถูกต้องสมบูรณ์  ทั้งนี้เนื่องจากพระมหากษัตริย์ที่ยังไม่ได้รับพระบรมราชาภิเษกนั้น  ถือว่ายังเป็นแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  การขานพระนามก็จะใช้เพียง  “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”    ยังไม่ใช้คำว่า “พระบาท”นำหน้า   คำสั่งของพระองค์ก็จะยังไม่ใช้คำว่า “พระบรมราชโองการ”  และที่สำคัญคือพระเศวตฉัตรก็จะมีเพียง ๗ ชั้น   ต่อเมื่อใดทรงได้รับพระบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี   มีพิธีอัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว ๙ ชั้น)  ณ  พระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง  จึงจะถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์  วันบรมราชาภิเษกมีความสำคัญยิ่งโดยนัยนี้    เมื่อถึงรอบปีที่วันบรมราชาภิเษกเวียนมาถึง  ทางการจึงจัดให้มีพระราชพิธีฉลองวันดังกล่าว เรียกว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” แต่เราเรียกกันทั่วไปว่า “วันฉัตรมงคล”   วันฉัตรมงคลจึงย่อมต่างกันไปตามรัชกาลแห่งองค์พระมหากษัตริย์  ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงได้รับพระบรมราชาภิเษก เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ในวันที่  ๕  พฤษภาคม   ๒๔๙๓  จึงถือเอาวันที่  ๕ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวัน “ฉัตรมงคล”

ที่มาที่ควรทราบ
แต่เดิมมา  ไทยเรามีการจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคในเดือนหกทางจันทรคติ  โดยพนักงานฝ่ายหน้าและฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง  และไม่ได้ถือเป็นงานหลวง  ยังไม่มีพระราชพิธีฉัตรมงคล   จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  เสด็จขึ้นครองราชย์  จึงได้ทรงมีพระราชดำริว่า  วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย  ประเทศทั้งหลายที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือว่าวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล ต่างก็จัดงานขึ้นเป็นอนุสรณ์  ส่วนประเทศของเรายังไม่เคยมีจึงควรจัดขึ้น  แต่หากจะประกาศให้คนทั้งหลายว่าจะจัดงานวันฉัตรมงคลหรือวันบรมราชาภิเษก  ผู้คนขณะนั้นยังไม่คุ้นเคยและไม่เข้าใจจะต้องทรงอธิบายยืดยาว จึงโปรดให้เรียกตามชื่อเก่าไปก่อนว่า “งานสมโภชเครื่องราชูปโภค”  แต่ทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันขึ้น  ๑๓  ค่ำเดือน  ๖   รุ่งขึ้นอีกวันพระสงฆ์รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า มีการยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ   ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชและเวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์  (เครื่องหมายแสดงความเป็นราชาธิบดี มี ๕ อย่าง ได้แก่พระมหาพิชัยมงกุฏ  พระแสงขรรค์ชัย  ธารพระกร  วาลวิชนี และฉลองพระบาท  รวมเรียกว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์”)  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่  ๖  ได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน (การบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช)  ด้วย  ในรัชกาลปัจจุบัน  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน ๓ วัน  วันแรกตรงกับที่ ๓ พฤษภาคมจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย  วันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล  หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล  พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น  วันที่ ๕ พฤษภาคมอันเป็นวันฉัตรมงคลพระสงฆ์จะรับพระราชทานฉัน  มีการสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์  ทหารยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ  ๒๑ นัด  และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯ  ทั้งจะโปรดเกล้าฯให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปเข้ากราบถวายบังคมพระบรมรูปฯ ด้วย   

วันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครั้งใด  ควรที่เรา ชาวไทยทุกคนจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงตรากตรำพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขแก่เหล่าเรา “มหาชนชาวสยาม”  สมดังปฐมบรมราชโองการที่ได้ให้ไว้  ณ  วันที่ ๕ พฤษภาคม   ๒๔๙๓  นั้น ทุกประการ 




ที่มา  - วันฉัตรมงคล  :  ฝ่ายประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
          - ฉัตรมงคลรำลึก :  สโมสรไลออนส์สากล กรุงเทพ  แสงการพิมพ์  ๒๕๒๘
          - พระนิพนธ์เรื่อง “บรมราชาภิเษก” ของพระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร


บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันฉัตรมงคล" ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ