แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 37.9K views



แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ประเทศไทยเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบครั้งแรกในพ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ คือ

1. แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (2504-2509)

เน้นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค น้ำประปา โทรศัพท์ การชลประทาน การพัฒนาขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค เป็นต้น


2. แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 2 (2510-2514)

เน้นการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 สนับสนุนให้เอกชนมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ นำทรัพยากรและทุนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ มีหน่วยงานรับผิดชอบ จากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519)

เน้นการพัฒนาคน พัฒนาสังคม ควบคู่กันไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ชนบท นำนโยบายประชากรมาใช้เป็นครั้งแรก คือ นโยบายลดอัตราการเพิ่มประชากร


4. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (2520-2524)

เน้นการส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม การกระจายรายได้ มุ่งขยายผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออก ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้น กำหนดเป้าหมายการลดอัตราเพิ่มประชากรให้เหลือร้อยละ 2.1 ต่อปี


5. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (2525-2529)

เน้นการลดค่าใช้จ่ายของประเทศ โดยลดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เร่งการส่งออกเพื่อรักษาดุลการค้า เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อม ลดอัตราการเพิ่มประชากรให้เหลือร้อยละ1.5 ต่อปี


6. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (2530-2534)

เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม เสริมสร้างความเป็นธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทั่วถึง เน้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5


7. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2535-2539)

เน้นการรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การกระจายรายได้และพัฒนาสู่ภูมิภาค มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาและดูแลเป็นพิเศษ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรยากจน กลุ่มแรงงานรับจ้างภาคเกษตร กลุ่มผู้ประกอบการอาชีพส่วนตัว กลุ่มลูกจ้างแรงงานผู้มีรายได้น้อย กลุ่มข้าราชการและพนักงานของรัฐ

ผลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไป มีการนิยมวัตถุมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะจิตใจและภาวะเจ็บป่วยของคนในสังคม


8. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (2540-2544)

เน้นการพัฒนาศักยภาพของประชากรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อปรับตนเอง พัฒนาเศรษฐกิจโดยปรับแผนบริหารจัดการที่ทำให้องค์กรเอกชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น


9. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2545-2549)

เป็นแผนที่ได้จัดทำขึ้นภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทย ที่ได้รวมพลังร่วมกันระดมความคิด กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมของสังคมไทย โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันให้อัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ

แผนพัฒนาฯฉบับนี้ เป็นแผนยุทธศาสตร์ชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ภายใต้การมีวิสัยทัศน์ร่วมของสังคมไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่ได้พัฒนาทั้งจากวิกฤติที่เกิดขึ้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่กำลังเป็นอยู่ และแนวโน้มกระแสโลกในอนาคต จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยการเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้อยู่ดีมีสุข รู้จักความพอประมาณอย่างมีเหตุผล และมีระบบคุ้มกันที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนาที่มุ่งสู่คุณภาพในทุกด้าน และการจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


 

Tag :