พระอัจฉริยภาพด้านกีฬาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.7K views



พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา




“…การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกายเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปรารถนา…”

พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504

 

จากพระราชดำรัสแสดงถึงพระราชปณิธานในการส่งเสริมด้านกีฬาว่าเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกีฬาทุกประเภท หากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้นยังทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ทรงเล่นสกีน้ำแข็งบ่อยครั้ง ต่อมายังสนพระราชหฤทัยในกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ ทรงโปรดฮอกกี้น้ำแข็ง และสกีหิมะ ทั้งทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคารพกฎกติกาของการกีฬาที่ทรงเล่น และมักจะทรงเน้นย้ำให้นักกีฬาทั้งหลายมีวินัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญต่อการฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทรงสนพระราชหฤทัยกีฬาที่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ด้วยทรงเห็นว่าการจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้นต้องให้ความสนใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้านักกีฬาคนใดไม่ฝึกซ้อมก็จะเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ได้

 

“เรือใบ” เป็นทั้งกีฬาทรงโปรดและยังได้แสดงพระอัจฉริยภาพด้วยการต่อเรือจากฝีพระหัตถ์และทรงทดลองแล่นเรือในสระภายในสวนจิตรลดา เรือใบฝีพระหัตถ์ที่สำคัญมี 3 ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class), เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class) เรือใบลำแรกที่ทรงต่อเองเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เป็นเรือใบประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ ชื่อ "เรือราชปะแตน" และลำต่อมาชื่อ "เรือเอจี" โดยทรงต่อตามแบบสากล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแข่งขันแล่นใบหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศ เช่น ในปี 2508 ทรงใช้เรือราชปะแตนแข่งขันกับ ดยุค ออฟ เอดินเบอระ (The Duke of Edinburgh) พระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ โดยใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา – เกาะล้าน ในปี 2508 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบประเภทโอเค ตามแบบสากลลำแรกชื่อ "เรือนวฤกษ์" หลังจากนั้นทรงต่อเรือใบ ประเภทนี้อีกหลายลำ พระราชทานชื่อเรือว่า “VEGA” หรือ เวคา (เป็นชื่อดาวที่สุกใสดวงหนึ่ง) เมื่อ 19 เมษายน 2509 ทรงใช้เรือลำนี้เป็นพระราชพาหนะเสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล หัวหินไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 60 ไมล์ทะเล ทรงใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง นับว่าทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างสูง ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย

 

 

นอกจากนี้ ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติ ประวัติศาสตร์วงการกีฬาระดับโลกต้องจารึกไว้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงคว้าชัยการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 ที่ประเทศไทย ในการแข่งขันครั้งนี้ทรงใช้เรือใบประเภทโอเค ซึ่งทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองและทรงเป็นผู้ชนะเลิศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ต่อมารัฐบาลได้กำหนดวันนี้ของทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ

 

 

พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เอง เรือใบประเภทม็อธที่ทรงออกแบบและทรงต่อด้วยพระองค์เองในระหว่างปี พ.ศ. 2509 - 2510 มีอยู่ 3 แบบ ซึ่งได้พระราชทานชื่อดังนี้ “เรือใบแบบมด” ได้มีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย

 

 

- เรือใบมด มีขนาดตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 7 นิ้ว เสาเดี่ยว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต เป็นเรือใบขนาดเล็กเหมาะกับคนไทย น้ำหนักเบาสะดวกในการเคลื่อนย้ายเก็บ รักษาง่าย มีคุณสมบัติว่องไว แล่นได้เร็ว และมีราคาถูก ข้อดีต่าง ๆ นี้ทำให้เรือใบมดที่ทรงออกแบบได้มาตรฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจดลิขสิทธิ์เป็นสากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ

 

- เรือใบซูปเปอร์มด เป็นเรือใบมดที่ทรงปรับปรุงแบบใหม่ ทรงออกแบบตัวเรือยาว 11 ฟุต เท่าเรือมดแต่ความกว้างเพิ่มขึ้น คือกว้าง 4 ฟุต 11 นิ้ว ท้องแบน น้ำหนักประมาณ 34 กิโลกรัม เนื้อที่ใบโตเท่าเดิม การทรงตัวดี ความเร็วมีมากขึ้น ตัวเรือคงทนแข็งแรง สู้คลื่นลมได้ดี และมีความปลอดภัยสูง เรือใบซูปเปอร์มดนี้ใช้แข่งขันกีฬานานาชาติเป็นครั้งแรกในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 และใช้ในการแข่งขันกีฬานานาชาติทุก ๆ ครั้งที่แข่งในประเทศไทย ครั้งหลังสุดใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 13 ณ ประเทศไทย พ.ศ. 2528

 

 

- เรือใบไมโครมด เป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบโดยให้มีขนาดเล็กกว่าเรือมด คือ ตัวเรือยาว 7 ฟุต 9 นิ้ว กว้าง 3 ฟุต 4 นิ้ว เป็นเรือขนาดเล็กมาก เหมาะสำหรับเด็กและคนร่างเล็ก วิธีการสร้างเรือใบมดตามแบบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีวิธีการสร้างที่ง่าย ประหยัดและสะดวก ใช้เครื่องมือช่างไม้ธรรมดา ๆ ก็สามารถทำได้ วัสดุที่ใช้ล้วนหาได้ในประเทศทั้งสิ้น ขั้นตอนการสร้างเรือใบมดตามแบบของพระองค์ท่าน มีขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน คือ

1. เปลือกเรือทำด้วยไม้ยมหอมหนา 4 มิลลิเมตร จัดทำข้างขวา 1 แผ่น ข้างซ้าย 1 แผ่น รูปแบบและขนาดกำหนดไว้ในแบบแปลนก็จะได้เปลือกเรือตามต้องการ ส่วนนี้ทรงเรียกว่า "ปลาแห้ง"

2. ประกอบเปลือกเรือหรือปลาแห้งเข้ากับแผ่นปิดท้ายเรือ ขอบด้านล่างของปลาแห้งผูกติดกันด้วยลวด ตามรูที่เจาะไว้ ปลาแห้งก็จะห่อตัวเป็นรูปตัวเรือ แล้วทากาวหยอดทิ้งไว้กาวจะแห้งและติดแน่นแล้ว ตัดลวดที่ผูกไว้ชั่วคราวออก เสริมผ้าใยแก้วทับแนวให้แข็งขึ้น ไม่ต้องสร้างกงเรือ วิธีนี้เป็นวิธีใหม่ที่พระองค์ทรงคิดค้นเพื่อให้เรือแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา

3. ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ไม้กระดูกงู ทวนหัวเรือ อะเส ฝักมะขาม เต้ารองรับ เสา ฝากั้นภายในขอบที่นั่ง แล้วทาสีภายในให้ทั่ว ทา 2 ถึง 3 เที่ยวเพื่อรักษาเนื้อไม้ไม่ให้น้ำดูดซึมได้ ซึ่งจะทำให้เรือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

4. ปิดแผ่นดาดฟ้าเรือ แล้วขัดแต่งผิวเรือภายนอกให้เรียบ แล้วจึงพ่นสีเรือตามต้องการ เมื่อสีแห้งดีแล้ว จึงเริ่มประกอบอุปกรณ์แล่นใบ เช่น พุกผูกเชือก รอกต่าง ๆ เชือก เสา เพลา ใบ และชุดหางเสือเรือ เป็นอันเสร็จพิธี

 

เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 คือ "เรือโม้ก" (Moke) เป็นเรือที่ทรงทดลองสร้างโดยทรงออกแบบให้มีลักษณะผสมระหว่างเรือโอเค และเรือซุปเปอร์มด คือทรงออกแบบให้มีขนาดของลำเรือใหญ่กว่าเรือซุปเปอร์มด โดยให้มีขนาดใกล้เคียงเรือโอเค และใช้อุปกรณ์เสาและใบของเรือโอเค หลังจากทรงออกแบบเรือโม้กแล้ว พระองค์ก็มิได้ทรงออกแบบเรือใบอีก เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

 

 

นอกจากนั้นยังทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4, 8 และ 13 ซึ่งเป็นกีฬาระดับนานาชาติไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่นของไทยอีก 11 สมาคม โดยเฉพาะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สโมสรกรมอู่ทหารเรือสร้างเรือใบมดและเรือซุปเปอร์มดตามแบบของพระองค์จำหน่ายแก่มวลสมาชิกในราคาถูก และทรงตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ชื่อ "สโมสรหมวดเรือใบหลวงจิตรลดา" ในสวนจิตรลดา และมีสโมสรอื่น ๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์ ได้แก่ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย, สโมสรเรือใบราชวรุณ ที่เมืองพัทยา เป็นต้นปัจจุบัน แม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงเรือใบไม่มากเท่าแต่ก่อนอันเนื่องจากมีพระราชกรณียกิจมาก แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ก็ทรงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้วว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดหรือประมุขชาติใดในโลกที่ทรงเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมและให้ความสำคัญต่อการกีฬา ตลอดจนสนับสนุนการกีฬาเทียบเท่าพระองค์ท่านได้เลย

 

ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์และได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฏีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกคือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อ 14 ธันวาคม 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534

 

นอกจากกีฬาแข่งขันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสนพระราชหฤทัยในการออกกำลังพระวรกายเพื่อสุขภาพอีกด้วย เช่น วิ่งเหยาะและเดินเร็ว การออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ คือมีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังการทรงออกกำลังพระวรกาย รวมทั้งทรงกระตุ้นให้เกิดความอบอุ่นแก่พระวรกายก่อนเริ่ม และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังพระวรกาย โดยทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรเป็นแบบฉบับของนักกีฬาที่ดีและทำให้พระ วรกายของพระองค์แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่าง ๆ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ได้เสมอ

 

ภาพประกอบจาก https://www.v4king.in.th/index.php/

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www3.navy.mi.th/index.php/royal/detail/content_id/53 
https://king.ds.ac.th/index.php/s-t-u-genuis/119-s-t-u-sport 
https://school.obec.go.th/bkschool/act49/070949webkings/page1.1.html 
https://www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com/content/index.php?page=content&type=view&cat=3&id=113 
https://www.ku.ac.th/e-magazine/dec52/know/know4.htm