พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 13.3K views



พระอัจฉริยภาพด้านการศึกษา

 

 

“…ในประเทศไทยนี้ถ้าดูจากสถิติก็มีพลเมืองเพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพลเมืองของประเทศไทยนี้อยู่ในวัยเรียนอยู่เป็นส่วนมากทุก ๆ ปี การที่ส่วนรวมคือ ประชาชนทั้งประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีแล้ว จึงต้องช่วยกันจัดการให้เยาวชน ให้ประชาชนที่เกิดขึ้นมาใหม่นี้ได้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี เราจะไปอาศัยรัฐบาลหรืออาศัยทางราชการที่จะช่วยให้บ้านเมืองมีความเจริญด้านเดียวไม่ได้ เพราะว่าในสมัยนี้ถือว่าเป็นสมัยประชาธิปไตยทุกคนมีส่วนในงานของประเทศชาติ...” (พระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2512)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้มีคุณภาพด้วยการให้การศึกษากับประชาชนทุกช่วงวัย และทรงตระหนักดีว่าการพัฒนาการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศชาติ แต่ทรงเน้นหนักที่เยาวชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ สามารถค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะพระราชดำริในการก่อตั้ง ซึ่งส่งสัญญาณรายการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผ่านดาวเทียมไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิต

 

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุด เน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา อธิบายเรื่องต่าง ๆ แต่ละเรื่องเรียบเรียงให้เหมาะสมกับ 3 ระดับความรู้ คือ ระดับเด็กเล็กอ่าน ระดับเด็กรุ่นกลางอ่าน และระดับเด็กรุ่นใหญ่รวมถึงผู้ใหญ่อ่าน เนื้อหาในแต่ละระดับพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดต่างกัน ได้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งหมด 37 เล่ม มีรายละเอียดดังนี้

 

เล่มที่ 1 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2516 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ดวงอาทิตย์ อุปราคา ท้องฟ้ากลางคืน นก ปลา เครื่องจักรกล พลังงาน อากาศยาน และดนตรีไทย

เล่มที่ 2 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2518 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ เวลา บรรยากาศ การตรวจอากาศ อุตสาหกรรม อุปกรณ์ขยายขอบเขตของสัมผัส มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย การศึกษา กรุงเทพมหานคร และตราไปรษณียากรไทย

เล่มที่ 3 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2520 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ยางพารา ทรัพยากรป่าไม้ ผลิตผลป่าไม้ การทำไม้ วัชพืช วัวควาย และช้าง

เล่มที่ 4 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2521 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การเรืองแสงของสิ่งมีชีวิต การหายใจ ความสมดุลของของเหลวในร่างกาย ไวรัส ปรากฏการณ์ของอากาศ ภูมิอากาศ รถไฟ การศาสนา การต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ และลำดับพระมหากษัตริย์ไทย

เล่มที่ 5 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2523 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ผัก ไม้ผล อ้อย มันสำปะหลัง พืชหัว การขยายพันธุ์พืช เป็ดไก่ และพันธุ์ไม้ป่า

เล่มที่ 6 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2525 มีทั้งหมด 15 เรื่อง คือ คณิตศาสตร์เบื้องต้น ประวัติและพัฒนาการเกี่ยวกับจำนวน เซต ตรรกวิทยา ฟังก์ชัน สมการและอสมการ จุด เส้น และผิวโค้ง ระยะทาง พื้นที่ ปริมาตร สถิติ ความน่าจะเป็น เมตริก กราฟ และคณิตศาสตร์ธรรมชาติและศิลปะ

เล่มที่ 7 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2525 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ กล้วยไม้ ผีเสื้อในประเทศไทย การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โรคพืช ครั่ง การเลี้ยงปลา การชลประทาน บ้านเรือนของเรา และโทรคมนาคม (ภาคแรก)

เล่มที่ 8 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2526 มีทั้งหมด 7 เรื่อง คือ ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา การกำเนิดของโรค การบริบาลทารกและโรคทางกุมารเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์และวิสัญญีวิทยา เลือดและธนาคารเลือดในประเทศไทย และอุบัติเหตุและการปฐมพยาบาล

เล่มที่ 9 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2528 มีทั้งหมด 13 เรื่อง คือ เรื่องของยา สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา วิธีการทางการแพทย์ในการควบคุมการเจริญพันธุ์ การทำแท้ง การสาธารณสุข โรคมะเร็ง รังสีวิทยา ฟันและเหงือกของเรา เวชศาสตร์ชันสูตร เวชศาสตร์ฟื้นฟู นิติเวชศาสตร์ โภชนาการ และยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท

เล่มที่ 10 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2530 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือโรคทางอายุรศาสตร์ โรคติดต่อและโรคเขตร้อน โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนังที่พบบ่อยในประเทศไทย โรคตา โรคหู คอ จมูกจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิต สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และการปลูกกระดูกข้ามคน

เล่มที่ 11 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2531 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ ระบบการสั่งงานของคอมพิวเตอร์ การประยุกต์คอมพิวเตอร์ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ สิ่งประดิษฐ์จากพัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ผลของการใช้คอมพิวเตอร์ และพัฒนาการอักษรไทยในเครื่องคอมพิวเตอร์

เล่มที่ 12 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2531 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การแพทย์ การศึกษา การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง การพัฒนาการเกษตรในชนบท การศึกษาการพัฒนา การสหกรณ์ การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาปัจจัยการผลิต และแผนที่

เล่มที่ 13 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2532 มีทั้งหมด 11 เรื่อง คือ เรือนไทย ชีวิตชนบท หัตกรรมพื้นบ้าน จิตรกรรมไทย นาฏศิลป์ไทย ตุ๊กตาไทย การละเล่นของไทย อาหารไทย การประดิษฐ์ผักและผลไม้ การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และธนาคาร

เล่มที่ 14 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2533 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ พระราชวังในกรุงเทพมหานคร พระราชวังในส่วนภูมิภาค ประติมากรรมไทย อาหารสัตว์ พืชอาหารสัตว์ การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ข้าวฟ่าง เทคโนโลยีชีวภาพ สารพิษและสิ่งปนเปื้อนอาหาร และสมุนไพร

เล่มที่ 15 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2534 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ผึ้ง การเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ยาสูบ ไม้สัก ผ้าไทย ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ น้ำเสีย ขยะมูลฝอย มลพิษทางอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากล

เล่มที่ 16 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2535 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ศิลาจารึก และการอ่านจารึก สังคมและวัฒนธรรมไทย การผลิตหนังสือ การดนตรีสำหรับเยาวชน การช่างและหมู่บ้านช่าง ดาวเทียมเพื่อการเกษตร และการฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางด้านการศึกษา

เล่มที่ 17 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2536 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ช้างเผือก ฉันทลักษณ์ไทย ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต โรคตับอักเสบจากไวรัส ของเสียที่เป็นอันตราย การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ปอแก้วปอกระเจา พืชเส้นใย การปรับปรุงพันธุ์พืช และข้าวสาลี

เล่มที่ 18 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2537 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ สภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ การแต่งกายของคนไทย กฎหมายกับสังคมไทย ประวัติการพิมพ์ไทย ภาษาและอักษรไทย ยาฆ่าแมลง ดินและปุ๋ย การเลี้ยงหมู และระบบการค้าผลิตผลการเกษตร

เล่มที่ 19 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2538 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พืชน้ำมัน การถนอมผลิตผลการเกษตร ม้า แมลง เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ศิลปะการนับเบื้องต้น ภูมิปัญญาชาวบ้าน และสารกึ่งตัวนำ

เล่มที่ 20 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2538 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ศาสนาและระบบความเชื่อในประเทศไทย ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี เสียงและมลภาวะทางเสียง เลเซอร์ เซลล์แสงอาทิตย์ อัญมณี เวชศาสตร์การบิน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือโรคเอดส์ และการปลูกถ่ายอวัยวะ

เล่มที่ 21 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2539 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ขบวนพยุหยาตรา วีรสตรีไทย ศิลปะการทอผ้าไทย เครื่องถม เครื่องปั้น การตลาดและการส่งออกศิลปหัตถกรรม พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และองค์การสหประชาชาติและองค์การในเครือ

เล่มที่ 22 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2540 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ภาษาศาสตร์ เครื่องถ้วยไทย เครื่องจักสาน ไม้ดอกหอมของไทย เครื่องทุ่นแรงและเครื่องจักรกลเกษตร อาชีวอนามัย ครอบครัวไทย สัตว์ทะเลหน้าดิน และท่าอากาศยาน

เล่มที่ 23 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2541 มีทั้งหมด 10 เรื่อง คือ ภูมิปัญญาไทย วัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ) การละเล่นพื้นเมือง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ชาติพันธุ์ เฟิร์นไทย ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน1) การทำงานใต้น้ำ ระบบวิทยุ และการผลิตเบียร์

เล่มที่ 24 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2542 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วรรณคดีมรดก ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน2) เมืองหลวงเก่าของไทย การผลิตรถยนต์ การผลิตรถจักรยานยนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ปิโตรเลียมและการผลิต โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ และแผนพัฒนาประเทศ

เล่มที่ 25 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2544 มีทั้งหมด 8 เรื่อง คือ ซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับสำนักงาน ระบบฐานข้อมูล วิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์ การพัฒนาซอฟต์แวร์ โครงข่ายประสาทเทียม อินเทอร์เน็ต การประยุกต์ใช้ภาษาไทยบนคอมพิวเตอร์ และแนวโน้มของเทคโนโลยีสารสนเทศในต้นศตวรรษที่ 21

เล่มที่ 26 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2545 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ นิทานพื้นบ้านไทย ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทย ชุมชน การใช้สื่อประสมส่งเสริมการศึกษา เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผักและผลไม้ ส้ม สัตว์ในระบบนิเวศป่าชายเลน และหอยเป๋าฮื้อ

เล่มที่ 27 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2546 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ลิเก การบริหารราชการแผ่นดิน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เทคนิคการผลิตไม้ผลนอกฤดู ไฮโดรพอนิกส์ พิษภัยของแอลกอฮอล์ ผู้สูงอายุ พลังงานนิวเคลียร์ และการปฏิวัติทางพันธุกรรม

เล่มที่ 28 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2547 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ วัดไทย ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ตลาด ทุเรียน เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร พิษภัยของบุหรี่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน และแผ่นดินไหว

เล่มที่ 29 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2548 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ศิลปาชีพ พระพุทธรูป การผลิตทองรูปพรรณ อุทยานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย สวนพฤกษาศาสตร์ เงินตรา ปลาสวยงาม ธาลัสซีเมีย และการดูแลสุขภาพที่บ้าน

เล่มที่ 30 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2548 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ศิลปการเห่เรือ หอพระไตรปิฎก ปราสาทขอมในประเทศไทย กฎหมายตราสามดวง ไม้ดอกหอมของไทย กล้วย ปลากัด คลื่นสึนามิ และวัสดุการแพทย์

เล่มที่ 31 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2550 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ตู้พระธรรม วัดญวนในประเทศไทย วรรณคดีท้องถิ่น พรรคการเมืองไทย การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย ดาวหาง ระบบสุริยะ และอัลไซเมอร์

เล่มที่ 32 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2551 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ ตาลปัตร พัดยศ และสมณศักดิ์ หุ่นกระบอก หนังสือโบราณของไทย สิทธิมนุษยชน เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ ชีวสนเทศศาสตร์ กายศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี และโรคออทิซึม

เล่มที่ 33 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2551 มีทั้งหมด 8 เรื่อง คือ สุนทรภู่ เพลงลูกทุ่ง คลอง วิวัฒนาการของมนุษย์ เซลล์เชื้อเพลิง เปลือกโลกและหิน อาหารกับโรคเรื้อรัง และการแพทย์แผนไทย โรคออทิซึม

เล่มที่ 34 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2552 มีทั้งหมด 9 เรื่อง คือ เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เพลงพื้นบ้าน เครื่องประดับ หอยในประเทศไทย บริการธนาคารผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พายุและฝนในประเทศไทย โรคพาร์กินสัน และโรคฉี่หนู

เล่มที่ 35 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2553 มีเรื่อง 9 เรื่อง คือ วัดจีน สงกรานต์ มวยไทย โรคพืชและการจัดการด้วยวิธีชีวภาพ มาตรวิทยา การพยากรณ์อากาศ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน และโรคสะเก็ดเงิน

เล่มที่ 36 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2555 มีเรื่อง 9 เรื่อง คือ มัสยิด ละครชาตรี เกวียน ทองคำ มะคาเดเมีย หุ่นยนต์ แอนิเมชัน โรคมาลาเรีย และโรคไต

 

เล่มที่ 37 พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2555 มีเรื่อง 9 เรื่อง คือ พระเจดีย์ หอศิลป์ ศิลปินแห่งชาติ ว่าว หนังสือพิมพ์ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โรคเอสแอลอี และโรคไข้หวัดใหญ่

 

หมายเหตุ : สำหรับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 1-12 เลิกผลิตและไม่มีจำหน่ายแล้ว



มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี และได้ร่วมกับกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา และสังกัดหน่วยงานอื่น ๆ จำนวน 3,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ทางช่อง 11-16 (UBC) โดยกองทัพบก องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นการพระราชทานการศึกษาไปสู่ปวงชน และกำลังดำเนินการขยายไปสู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติตามลำดับ

รวมทั้งการออกอากาศรายการภาคภาษาอังกฤษทางช่อง 17 (UBC) สำหรับบุคคลที่สนใจ ประเทศเพื่อนบ้าน และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถานเอกอัครราชทูต ซึ่งเริ่มออกอากาศในต้นปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาเห็นว่า การจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิฯ จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียนที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้ตามอัธยาศัยสำหรับประชาชนทั่วไป นักศึกษาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ และมิตรประเทศได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เป็นการประหยัดในการค้นคว้าข้อมูลจากรายการการศึกษาทางไกลของมูลนิธิฯ ประหยัดเวลาในการบันทึกเทป ประหยัดเทปและงบประมาณ ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยได้พิจารณาให้ความเห็นว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม วังไกลกังวล มีความพร้อมและเหมาะสมกว่าที่อื่นในการเกื้อกูลระบบ e-Learning ให้ประสบผลสำเร็จได้ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) บริษัท แอ๊ดว้านซ์วิชั่นซิสเท็มส์ จำกัด บริษัท เทเลแซทคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมกันเฉลิมพระเกียรติ จัดทำระบบ e-Learning ให้แก่มูลนิธิฯ ในต้นปี พ.ศ. 2545 นี้ เท่ากับว่า ผู้ที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งในและต่างประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนการสอนจากการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โดยศึกษาผ่านอินเทอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องเนื้อหาวิชา (free-of-charge web-based information content) ทั้งในลักษณะ Live Broadcast และ On Demand ซึ่งได้เปิดให้บริการทั้ง 2 ระบบเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2545

ปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ปรับปรุงระบบใหม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพในการรับชม และเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสัญญาณ และเพิ่มความละเอียดของสัญญาณภาพรวมทั้งสัญญาณเสียงด้วย ความละเอียดสัญญาณปัจจุบันเริ่มที่ 128 kbps, 256 kbps และ 512 kbps ปรับปรุงอุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด ยังคงเหลืออุปกรณ์ในส่วนที่ยังสามารถใช้งานได้ ซึ่งในการปรับระบบใหม่ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และทางบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเปลี่ยนช่องรายการ โดยเริ่มที่ช่อง 186 ถึง ช่อง 200 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน

 

ด้านทุนการศึกษา

“…การให้การศึกษาแก่คนนี้เป็นปัญหาของคนทุกคน ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยเฉพาะต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ระหว่างผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีเจตนาดีต่อสังคม และผู้มีทุนทรัพย์...” (พระราชดำรัสแก่สมาชิกสโมสรไลออนส์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2513)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาขึ้นตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เพราะพระองค์ทรงทราบดีว่าเด็กไทยมีความสามารถในการเรียน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ดังนั้นพระองค์ทรงตั้งกองทุนพระราชทานให้แก่เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการเรียน ซึ่งแต่ละทุนมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันดังนี้

• ทุนมูลนิธิภูมิพล ในปี พ.ศ. 2495 ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดตั้งทุนภูมิพลขึ้น เพื่อพระราชทานเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่เรียนดี แต่ขาดทุนทรัพย์ และบัณฑิตที่สอบได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นประจำทุกปี ต่อมาได้พระราชทานทุนการศึกษาขยายไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ และพระราชทานทุนแก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมไปศึกษาต่อในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งนักศึกษาที่ได้รับพระราชทานทุนนี้ หลังสำเร็จการศึกษาได้นำความรู้มาพัฒนาในวิทยาการต่าง ๆ ของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

• ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยพระราชทานทุนนี้แก่นักศึกษาแพทย์ตามรอยพระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เพื่อให้ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วให้มาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เรียนมา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งทุน "อานันทมหิดล" เป็น "มูลนิธิอานันทมหิดล" เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 และเมื่อความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่น ๆ มีเพิ่มขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันการพระราชทานทุน แยกเป็นแผนกต่างๆ ดังนี้

1. แผนกแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อแรกตั้งทุน

2. แผนกวิทยาศาสตร์ (รวมแผนกวิศวกรรมศาสตร์ด้วย) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2502 และเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514

3. แผนกวิศวกรรมศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้แยกแผนกวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเคยรวมอยู่ในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกเป็นแผนกต่างหากตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2541

4. แผนกเกษตรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2504

5. แผนกธรรมศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506

6. แผนกอักษรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506

6. แผนกอักษรศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506

8. แผนกสัตวแพทยศาสตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2537

• ทุนเล่าเรียนหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มพระราชทาน “ ทุนเล่าเรียนหลวง ” (King's Scholarship) ให้นักเรียนไปเรียนต่อต่างประเทศต่อเนื่องกันมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2476 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟูทุนนี้ขึ้นใน พ.ศ. 2508 โดยพระราชทานแก่นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการได้คะแนนดีเยี่ยมปีละ 9 ทุน คือ แผนกศิลปะ 3 ทุน แผนกวิทยาศาสตร์ 3 ทุน และแผนกทั่วไป 3 ทุน

• ทุนการศึกษาสังเคราะห์ในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก่อตั้ง “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” เพื่อสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวประสบวาตภัยภาคใต้ และขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู รวมทั้งช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ

• ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย ใน พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสถาบันวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากว่าขณะนั้นโรคเรื้อนได้ระบาดในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกพยายามกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไปภายใน 10 ปี จึงต้องมีสถาบันค้นคว้าและวิจัย ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานเงินทุนในการก่อตั้งสถาบัน และเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดสถาบันเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503 พระราชทานนามว่า “ราชประชาสมาสัย” ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีข้อแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องจัดตั้งโรงเรียนสำหรับบุตรของผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อน ซึ่งแยกจากบิดามารดาตั้งแต่แรกเกิดดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานถึงการก่อตั้งโรงเรียน และพระราชดำรัสในพิธีเปิดโรงเรียนราชประชาสมาสัย เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2507

• ทุนนวฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาริเริ่มก่อตั้ง “ทุนนวฤกษ์” เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์แต่มีผลการเรียนดี ความประพฤติเรียบร้อย ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับต่างๆ รวมทั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และสมทบจากผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศล ก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท ปัจจุบันทุนการศึกษาพระราชทาน "นวฤกษ์" นี้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาตอนปลาย เพื่อสงเคราะห์เด็กยากจนและเด็กกำพร้าให้มีสถานศึกษาเล่าเรียน

• ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี ได้แก่ - ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา - ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา - รางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น

 

แหล่งที่มา

รายการ จากภาพของพ่อ

https://kanchanapisek.or.th

https://www.saranukromthai.or.th

https://www.dlf.ac.th

https://www.finansalife.com/king80/power4.html