โครงการด้านวัฒนธรรมและการกีฬาตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.9K views



  

การพัฒนาด้านวัฒนธรรมและการกีฬา

 

เพลงพระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เคารพรักและเทิดทูนของปวงชนชาวไทย เช่นเดียวกับพระมหาบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรีที่ปกครองประเทศชาติให้ผ่านพ้นผองภัย นานาประการมากว่า 200 ปี ในช่วงปีพุทธศักราช 2503 บรรดาประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา มีปัญหาการปกครองภายในเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ ลัทธิการเมืองใหม่ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรง แต่ไทยเรารอดปลอดภัยมาได้เพราะพระองค์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกคน โครงการงานในพระราชดำริมากมายที่พระองค์ทรงริเริ่ม ได้สร้างประโยชน์สุขให้แก่พสกนิกร ทั่วราชอาณาจักร เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของนานาประเทศ ถึงกับมีผู้กล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงแต่งานเป็นกิจวัตรหลัก เป็นที่น่าพิศวงยิ่งนัก แม้พระองค์จะทรงมีภารกิจต่างๆ มากมาย แต่พระองค์ก็ยังทรงมีเวลาสร้างสรรค์พระราชนิพนธ์ทางดนตรี ที่มีความไพเราะไว้มาก ซึ่งยังติดตรึงใจปวงชนชาวไทยตลอดมา เช่น 1. แสงเทียน (Candlelight Blues) 2. ยามเย็น (Love At Sundown) 3. สายฝน (Falling Rain) 4. ใกล้รุ่ง (Near Dawn)


พระปรีชาสามารถในการทรงดนตรีหลายชนิด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า "อัครศิลปิน"

 

 

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและฝึกฝนงานด้านศิลปะมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาได้ทรงเริ่มการวาดภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในช่วงพุทธศักราช 2502 ทรงศึกษาการวาดภาพด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงแลกเปลี่ยนความรู้กับศิลปินที่มความสามารถทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เช่น เหม เวชกร เขียน ยิ้มศิริ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ จำรัส เกียรติก้อง พิริยะ ไกรฤกษ์ ระเด่น บาซูกิ และออสการ์ โคโคชกา เป็นต้น

 

 

งานพระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสรรค์พระราชนิพนธ์ไว้หลายประเภท ได้แก่ บันทึกประจำวัน พระราชนิพนธ์แปล พระราชนิพนธ์ร้อยแก้ว วรรณกรรมพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระราชนิพนธ์แปลนั้น วารสารภาษาปริทัศน์ฉบับพิเศษ 2530 ของสถาบันภาษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอบทความ เรื่อง พระอัจฉริยภาพด้านภาษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวบรวมรายชื่อพระราชนิพนธ์แปลไว้


ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จากกล้องธรรมดา
การถ่ายภาพเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยอย่างจริงจังมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าในสมัยก่อนนั้น อุปกรณ์การถ่ายภาพต่าง ๆ ยังไม่ทันสมัยอย่างในปัจจุบันนี้แต่พระองค์ก็ทรงศึกษาและทรงฝึกด้วยพระองค์เอง จนทรงเป็นนักถ่ายรูปที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ได้เริ่มทรงกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ และทรงใช้ฟิล์มตั้งแต่ขนาด 135 จนถึงขนาด 120 และขนาดพิเศษ กล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ในระยะเริ่มแรกเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว จึงต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน พร้อมทั้งพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ จึงทรงถ่ายภาพได้อย่างเชี่ยวชาญมั่นพระราชหฤทัย แม้ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพจะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อนก็มิทรงใช้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใช้แต่กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตรฐานอย่างที่นักเล่นกล้องทั้งหลายใช้กัน

 

 

การต่อเรือใบ
พระองค์ยังทรงต่อเรือประเภท "ม็อธ" (International Moth Class) อีกหลายลำ ซึ่งเรือใบ "ม็อธ" นี่เอง ที่เป็นที่มาของเรือใบฝีพระหัตถ์อันโด่งดังที่พระราชทานนามว่า "เรือมด" ทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี" เรือใบมดได้ทรงพัฒนาแบบขึ้นมาใหม่กลายเป็น "ซุปเปอร์มด" และ "ไมโครมด" เรือใบฝีพระหัตถ์ที่สำคัญมี ๓ ประเภท ได้แก่ เรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class), เรือใบประเภทโอเค (International OK Class) และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class)