โครงการด้านการศึกษาและศาสนาตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 78K views



 

การพัฒนาด้านการศึกษาและศาสนา 

 

โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนของไทยมิได้ขาดสติปัญญา หากแต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์สำหรับการศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อก่อตั้งกองทุนการศึกษาหลายขั้นหลายทุน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา


โครงการมูลนิธิพระดาบส
เป็นโครงการตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2518 เพื่อสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่มีอาชีพ และความรู้พื้นฐานที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นสูง แต่มีความใฝ่เรียนเพียรพยายามให้ได้มีโอกาสฝึกอาชีพ ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้เขาเหล่านั้นออกไปประกอบสัมมาอาชีวะ สร้างตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว สังคม และประเทศชาติต่อไปได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิพระดาบสจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการศึกษานอกระบบและไม่เป็นเชิงพาณิชย์ กล่าวคือ ผู้เรียนหรือ "ศิษย์พระดาบส" จะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการศึกษาเล่าเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ตลอดระยะเวลา 1 ปี แต่มีเงื่อนไขว่า ให้ปรนนิบัติครูอาจารย์ หรือ "ดาบสอาสา" และปฏิบัติตนเป็นคนดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ช่วยเหลือโรงเรียนเป็นการตอบแทน เพื่อปลูกฝังความกตัญญูรู้คุณให้แก่ศิษย์นั่นเอง

 

 

โรงเรียนราชประชาสมาสัย
โรงเรียนนี้ถือกำเนิดมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ผู้เป็นรองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชาสมาสัยในขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการจัดสร้างโรงเรียนสำหรับบุตรผู้ป่วยโรคเรื้อนที่เลี้ยงแยกจากบิดามารดาแต่แรกเกิด เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับเชื้อโรคเรื้อน แต่มีพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อ บังคับมิให้โรงเรียนใดรับเข้าเป็นนักเรียน ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรม เด็กเหล่านี้ควรมีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับเด็กอื่น ๆ

 

 

โครงการจัดสร้างโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์
โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชาวไทยภูเขาในพื้นที่ห่างไกลคมนาคมทางภาคเหนือ เมื่อแรกตั้งพุทธศักราช 2502 อยู่ในความดูแลของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ภายหลังโอนไปอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เด็กนักเรียนโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ได้รับพระราชทานการศึกษา เครื่องแบบนักเรียน หนังสือและอุปกรณ์การเรียน อาหารกลางวัน หากสนใจมุ่งมั่นเรียนต่อและมีความประพฤติดี ก็ได้ทุนพระราชทานการศึกษาสงเคราะห์ หรือทุนจากงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งในภาคเหนือ


มูลนิธิช่วยครูอาวุโสในพระบรมราชูปถัมภ์
ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 เพื่อช่วยครูที่เกษียณอายุราชการมีประวัติการทำงานและความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี มูลนิธิจะมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ และให้เงินช่วยเหลือในรายที่จำเป็น ตั้งแต่ พ.ศ.2510-2528 มีครูที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 985 รายเป็นเงิน 6,060,000 บาท

 

 

พระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาไว้เป็นอเนกประการ ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และในโอกาสที่คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าฯ เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาที่มีคุณค่ายิ่ง แต่ละคนสามารถนำไปเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติและรู้จักใช้ความรู้ ความสามารถเพื่อพัฒนาตนเอง และส่วนรวมให้เจริญก้าวหน้าได้

 

 

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่าง ๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด และความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคล สามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคม และบ้านเมือง อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์และกำลังความสามารถโดยทั่วกัน

ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้น บรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการ หรือพอใจจะเรียนรู้เรื่องใดก็สามารถค้นหาอ่านทราบโดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ เกื้อกูลการศึกษาเพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาการขาดแคลนครู และที่เล่าเรียนเช่นขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วย คลี่คลายให้บรรเทาเบาบางลงได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำรัสให้ตั้งโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เพื่อดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่อีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่าง ๆ ที่ควรศึกษาออกเผยแพร่แก่เยาวชนให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจักได้หาความรู้ช่วยตัวเองได้จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

 

นาคหลวง
ผู้ที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทภายในพระอุโบสถวัด “พระศรีรัตนศาสดาราม” โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบท ได้ส่งเสริมให้ประชาชนอุปสมบทเพื่อเป็นการสืบทอดศาสนา

 

 

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม 9 ต่อมาได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 และมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดตั้งวัดขึ้นในบริเวณชุมชนบึงพระราม 9 เพื่อเป็นทั้งพุทธสถานในการประกอบกิจของพระสงฆ์ในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 ร่วมกับทางโรงเรียนหรือส่วนราชการต่าง ๆ

 

 

โครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,472,900 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2534 ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎก และอรรถกถาต่อเนื่องจากโครงการพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์เดิม ที่มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาเสร็จแล้ว และได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสรัชมังคลาภิเษก 2 กรกฎาคม 2531 ทรงเห็นว่าโครงการนี้ควรได้รวบรวมเอาชุดอรรถกถาและฎีกาเข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นโครงการที่นำวิทยาการชั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเนื้อหาทางด้านพุทธศาสนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถาฉบับคอมพิวเตอร์นี้ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับใช้ในการสืบค้นข้อมูลในฐานะองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก การครั้งนี้กล่าวได้ว่า เป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานสืบไปในอนาคตกาล