โครงการด้านทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 7.2K views



 

การพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ 

 

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อส. พระราชวังดุสิตประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ ห้าล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงาน ที่น่าปลื้มใจก็คือ งานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียนใน 6 จังหวัดภาคใต้และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1, 2, 3, 4, 5 ถึง 12 ตามลำดับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินสามล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน "พระบรมราชูปถัมภ์" กับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภ์แห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า "พระราชา" และ "ประชาชน" อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

 

 

มูลนิธิชัยพัฒนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิชัยพัฒนา" เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนในรูปของการดำเนินการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในกรณีที่การดำเนินงานนั้น ๆ ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขดังที่ได้กล่าวไว้แล้วหรือดำเนินงาน ในลักษณะอื่นใด ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วและไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องเงื่อนไขของเวลา กระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานครได้รับจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาให้เป็นนิติบุคคล ตามเลขทะเบียนลำดับที่ 3975 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2531 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 109 วันที่ 12 กรกฎาคม 2531

 

 

มูลนิธิราชประชาสมาสัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2501 พระองค์ได้ พระราชทานทุน "อานันทมหิดล" เพื่อจัดสร้างสถานฝึกอบรมและค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเรื้อน ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ นอกจากนื้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ข้าราชบริพาร พ่อค้า ประชาชน ร่วมเสด็จพระราชกุศลด้วย เมื่อสร้างเสร็จ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า สถาบัน "ราชประชาสมาสัย" และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดสถาบัน ในวันที่ 16 มกราคม 2503 ส่วนเงินที่เหลือได้พระราชทานเป็นกองทุนก่อตั้ง "มูลนิธิราชประชาสมาสัย" และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2504 คำว่า "ราชประชาสมาสัย" หมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนย่อมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

 

 

โครงการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ใน พ.ศ. 2503 ด้วยความริเริ่มของกรมประชาสงเคราะห์และองค์การเอกชนจำนวนหนึ่ง โดยมีความมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและให้การส่งเสริมองค์การสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์

วัตถุประสงค์ที่สำคัญของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คือ การส่งเสริมและการประสานงานการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งรวมทั้งการสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน การแก้ไขปัญหาสังคมและการพัฒนาสังคม