โครงการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 70.4K views



  

การพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข

 

โครงการแพทย์พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าหากประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีไปด้วย พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญกับงานด้านสาธารณสุขเป็นอย่างมาก ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์ที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน 

 

 

โครงการทันตกรรมพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปรารภว่า "เวลาพระองค์มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษาแล้วเวลาราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือเปล่า" ในเวลาต่อมาทรงทราบว่าทันตแพทย์นั้นมีน้อยและมีอยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น บางจังหวัดก็ไม่มี พระองค์ทรงรับสั่งว่า "การที่จะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนาทำไร่ เดินทางไปหาแพทย์นั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงกันข้ามหากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสแก่ทันตแพทย์สีสิริสิงห์ ทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

"ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่นักเรียนและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นกันดารห่างไกล และจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปโดยรถยนต์และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้าน ที่อยู่ ห่างไกลในชนบท"

 

 

โครงการหมอหมู่บ้าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิดในภูมิภาคต่าง ๆ และทรงตรัสว่า ราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและอาหารการกินจึงเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย เด็ก ๆ มักเป็นโรคขาดสารอาหาร ทั้งที่มีอาหารอันมีคุณค่าที่หาได้ง่ายอยู่ใกล้ตัว ทั้งนมมารดา กล้วยน้ำว้า และข้าวซ้อมมือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรนั้น จะมีแพทย์ตามเสด็จฯ ไปด้วยเสมอ แพทย์เหล่านั้นจะให้การรักษา ให้ยาและให้คำแนะนำแก่ราษฎรเกี่ยวกับการดูแลรักษาตนเอง

แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปแล้ว ราษฎรก็ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างเดิม ไม่นิยมไปพบกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ เนื่องจากระยะทางไกล หรือการคมนาคมไม่สะดวก เมื่อทรงประจักษ์ถึงปัญหานี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการหมอหมู่บ้านขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ชาวบ้านช่วยเหลือชาวบ้านด้วยกันเอง ด้วยการคัดเลือกชาวบ้านในหมู่บ้านที่พอมีความรู้อ่านออกเขียนได้ และสมัครใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนบ้าน ไปรับการอบรมหลักสูตรหมอหมู่บ้าน แล้วให้กลับมาเป็นผู้แนะนำเพื่อนบ้าน ให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านสุขภาพอนามัย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นตามที่ได้รับการอบรมมา

 

 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริชุดปฏิบัติการแพทย์หู คอ จมูก
โครงการแพทย์ หู คอ จมูก เกิดขึ้นจากพระราชดำริในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรและพบว่าประชาชนป่วยด้วยโรคทางหู คอ จมูก เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง โรครีดสีดวงจมูก

 

 

โครงการขาเทียมและแขนเทียมเคลื่อนที่
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ นั้น ได้ทรงพบว่ามีพสกนิกรของพระองค์ที่เป็นผู้พิการอยู่เป็นจำนวนมากมีฐานะยากจนและไม่มีความสามารถที่จะมีแขนขาเทียมหรือเครื่องช่วยความพิการชนิดต่าง ๆ ได้ ทำให้มีสภาพการดำรงชีวิตที่น่าสงสาร ต้องเป็นภาระในการเลี้ยงดูของครอบครัว อีกทั้งหน่วยงานที่ให้บริการแขนขาเทียมหรือเครื่องช่วยความพิการอื่น ๆ ก็มีอยู่แต่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ ๆ เท่านั้น ด้วยน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยพสกนิกรผู้ด้อยโอกาส ในชั้นแรกได้ทรงพระกรุณารับไว้เป็นผู้ป่วยในพระบรมราชานุเคราะห์เสมอ ๆ ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 ระหว่างแปรพระราชฐานยังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จึงได้มีพระราชดำริให้จัดชุดปฏิบัติการแขน-ขาเทียมเคลื่อนที่ กองออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก ร่วมตามเสด็จให้บริการต่อราษฎรผู้พิการถึงภูมิลำเนา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้เสด็จเป็นประธานในพิธีพระราชทานแขน-ขาเทียมแก่ผู้พิการด้วย จึงนับได้ว่ากองทัพบกได้สนองพระราชประสงค์ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสายแพทย์ด้านแขน-ขาเทียมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา

 

 

โครงการเรือเวชพาหน์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภว่า ราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำแม่น้ำในหลายตำบล ตั้งอยู่โดดเดี่ยวยังไม่มีทางหลวงเชื่อมต่อจังหวัด แม้ว่าจะมีการคมนาคมติดต่อกับจังหวัดทางน้ำได้ก็ห่างไกลโรงพยาบาลประจำจังหวัดมาก ถ้าเจ็บป่วยก็ต้องรักษาพยาบาลแผนโบราณ ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในโรคหลายอย่าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัท อู่เรือกรุงเทพฯ จำกัด ต่อเรือยนต์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทานให้สภากาชาดไทยใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาพยาบาลประชาชนตามลำน้ำต่าง ๆ โดยพระราชทานชื่อว่า "เวชพาหน์" (อ่านว่า เวด-ชะ-พา) และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพระราชทานเรือ ในวันที่ 19 มกราคม 2498 เวลา 12.00 น. ณ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมเรือและพระราชทานให้แล้วก็ออกปฎิบัติงานทันทีที่จังหวัดนนทบุรี

 

 

โครงการเส้นทางเกลือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบว่าปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกนั้นยังมีอยู่มากมายหลายพื้นที่ และยามที่เสด็จพระราชดำเนินไปในท้องที่ทุรกันดารนั้นมีผู้คนที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ และขอรับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระเมตตาและสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก ถึงกับเคยทรงนำเกลือผสมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดารมาแล้วหลายครั้ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจกรรมของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ซึ่งในการนี้ได้ทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ได้ผลิตขึ้นและน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้แก่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือที่ราษฎรประสบปัญหาของการขาดสารไอโอดีน