โครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 14K views



  

การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

โครงการฝนหลวงพระราชทาน
"เงยหน้าดูท้องฟ้ามีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือเคยอ่านหนังสือ ทำได้..." พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่ห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปร และความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ

 

 

โครงการพระราชดำริเรื่องอุตุนิยมวิทยา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขยายผลและทรงปฏิบัติการค้นคว้าด้านอุตุนิยมวิทยา เพื่อดึงเมฆที่ปกคลุมท้องฟ้าให้ก่อตัวกันและตกลงมาเป็นเม็ดฝนในพื้นที่ทุรกันดารโดยบันทึกไว้ใน THE RAIN MAKING STORY


โครงการพระราชดำริด้านคอมพิวเตอร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุนการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ในด้านส่วนพระองค์นั้น ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอภาพคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชภารกิจต่าง ๆ ทั้งยังทรงเคยประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนเพื่อทรงอวยพรปวงชนชาวไทย

 

 

โครงการวิทยุกระจายเสียง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมากตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. 2495 พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ติดต่อกับพระองค์


โครงการหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเข้าพระทัยในเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่าหุ่นยนต์ก็คือสุดยอดของ “ไอที” นั่นเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปลูกฝังให้สร้าง “หุ่นยนต์” ขึ้นไนประเทศไทย เพื่อจะได้นำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ทั้งในการสื่อสาร การเรียนการสอน การอุตสาหกรรม การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งสถานที่ที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือ สถานศึกษา เพื่อให้คำแนะนำด้านการรักษาสุขภาพและตอบปัญหาทางจิตแก่ประชาชน