โครงการด้านคมนาคมตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 41.5K views



  

การพัฒนาด้านคมนาคม

 

โครงการก่อสร้างและปรับปรุงขยายผิวจราจรถนนราชดำเนินกลาง

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าปัญหาการจราจรมิใช่ปัญหาของคนเมืองหลวงเท่านั้น หากแต่พระวินิจฉัยว่าต้องเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการจราจร ทรงเป็นหลักชัยในการแก้ไขปัญหาย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อประเทศประสบปัญหาคับขันไม่ว่าเรื่องใด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยพระสติปัญญาอย่างเต็มกำลัง พระองค์จึงทรงประดุจดั่งศูนย์รวมและหลักชัยของประชาชนชาวไทย

สำหรับโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ทรงเป็นผู้ริเริ่มแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยพระราชทานแนวพระราชดำริอันเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องและให้หน่วยงานต่าง ๆ รับไปดำเนินงานอยู่เสมอ โดยมีผู้สนับสนุนการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริมากมาย นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 12 ล้านบาทเพื่อใช้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งหน่วยงานต่างรับไปเป็นทุนสำรองเบื้องต้นในการดำเนินงาน เช่น กรมตำรวจได้นำพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งไปจัดซื้อรถจักรยานยนต์ให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาการจราจร และอบรมเจ้าหน้าที่ เพื่อประสานการจราจรให้สะดวกรวดเร็วขึ้น หลังจากนั้นได้มีประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมือสนับสนุน ร่วมบริจาคเงินเพื่อสมทบการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริด้านการจราจรอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการแก้ไขและบรรเทาปัญหาจราจรที่กำลังวิกฤตอยู่ โครงการพระราชดำริของพระองค์ท่านอยู่บนพื้นฐานที่มีความเป็นไปได้ คือให้รถแล่น พอแล่นได้ ไม่คั่ง ไม่ศูนย์กิโลเมตรต่อชั่วโมงและไม่ใช่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้พอไปเช่นนี้ก็จะทำให้รถในท้องถนนเฉลี่ยไป


โครงการถนนหยดน้ำ
กรุงเทพมหานครรับสนองพระราชดำริ เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536 โดยประสานกับกรมธนารักษ์รับมอบพื้นที่สำหรับปรับปรุงเป็นเส้นทางเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรตามแนวพระราชดำริ เมื่อจัดทำร่างแบบปรับปรุงในครั้งแรก มีข้อระบุว่าต้องตัดต้นไม้ใหญ่ 9 ต้น ย้ายป้ายและเสาไฟฟ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานรูปแบบใหม่โดยไม่ต้องตัดต้นไม้หรือย้ายสายไฟ ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง ทั้งได้มีพระราชดำริว่าเส้นถนนตามแบบนั้นมีช่วงโค้งแคบ อาจเกิดปัญหากับรถโดยสารที่มีช่วงรถยาว กรุงเทพมหานครจึงได้แก้ไขแบบใหม่ให้โค้งกว้างขึ้น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ถนนหยดน้ำสามารถเปิดการจราจรให้รถเดินได้

นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเส้นทางจราจรบริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจาก 2 เป็น 4 ช่องทาง เพื่อให้รถที่ลงจากสะพานเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดเข้าถนนราชดำเนินกลางโดยไม่ต้องรอสัญญาณไฟจราจร ทำให้จุดตัดการจราจรบริเวณแยกสะพานผ่านพิภพลีลาเหลือ 3 จังหวะ คือรถที่มาจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเลี้ยวขวาเข้าถนนอัษฎางค์ รถจากถนนราชดำเนินกลางขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และรถจากสนามหลวงเข้าถนนราชดำเนินกลาง ต้องการไปสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมศิลปากร ฯลฯ เดิมต้องรอสัญญาณไฟจราจรเพื่อเลี้ยวขวาที่แยกผ่านพิภพลีลา ต่อมาได้มีการสร้างช่องทางกลับรถ 2 ช่องให้รถแล่นผ่านตลอดเข้าถนนเจ้าฟ้า วนลอดใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเข้าสู่สนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมศิลปากร ฯลฯ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นผิวจราจรถนนราชดำเนินอีกหลายจุด ได้แก่ การขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ การก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราดำเนินนอก และโครงการพัฒนาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเพิ่มพื้นที่จราจร เป็นต้น

 

 

การจราจรในโครงการพระราชดำริ
สภาพการจราจรในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีผลกระทบต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวแบบไทย โดยมีสาเหตุสำคัญจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ขาดระบบขนส่งมวลชนที่ดี ขาดระบบโครงข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ขาดวินัยและการไม่เคารพกฎจราจร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจความทุกข์ของราษฎรอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีโครงการแก้ไขปัญหาจราจร ตามแนวพระราชดำริขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรอย่างต่อเนื่องตลอดมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 23 ล้านบาท แก่กรมตำรวจ ในสมัยนั้น ให้จัดหารถนำขบวนให้แก่ประชาชน เพื่อแก้ปัญหาจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนนอกจากนี้ ตำรวจจราจรในโครงการพระราชดำรินี้ ต้องผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือ มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก่อนถึงโรงพยาบาลด้วย โดยโครงการจราจรพระราชดำริ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 พบว่า ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น มักมีผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ หรือหญิงใกล้คลอด ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล แต่มักพบกับปัญหารถติดขัดอย่างหนัก ทำให้บางครั้งต้องเกิดความสูญเสีย เนื่องจากส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ทันนับตั้งแต่มีโครงการเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจโครงการพระราชดำริ ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในกรณีต่าง ๆ ทั้งทำคลอด และช่วยผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จนสามารถลดอัตราการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

ที่ผ่านมา “ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ” ได้ปฏิบัติหน้าที่และทำการช่วยเหลือ ทั้งทำคลอดและนำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาลกว่า 60 ราย นำผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลกว่า 100 ราย รวมถึงการช่วยเหลือเกี่ยวกับรถยนต์อีกเกือบ 300 ครั้ง กลายเป็นภาพประทับใจแก่ผู้พบเห็น


โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก
เป็นโครงการแรกที่เกิดจากแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาการจราจรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อต้นปีพุทธศักราช 2514 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี และได้รับกระแสพระราชดำริเรื่องการจราจรติดขัด เห็นสมควรจัดสร้างถนนเพิ่มขึ้น อาจเป็นถนนวงแหวนรอบ (Ring Road) และถนนยกระดับ (Elevated Road) เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชนทั่วไป

 

 

โครงการวงแหวนอุตสาหกรรม
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และด้วยพระเมตตาต่อปวงประชาราษฎร์ ให้คลายทุกข์อันเนื่องจากวิกฤติจราจร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดอันเนื่องมาจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างเป็นถนนวงแหวนอุตสาหกรรม สำหรับรองรับรถบรรทุกให้วิ่งอยู่ในเส้นทางที่เป็นวงแหวน เชื่อมระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการทั้งสองฝั่งแม่นำเจ้าพระยากับบริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อมิให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งเข้าไปยังตัวเมืองหรือทิศทางอื่น ๆ ทำให้ปัญหาจราจรบรรเทาลงได้

 

 

โครงการถนนคร่อมคลองประปา
โครงการอเนกประสงค์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อให้ศึกษาสภาพคลองประปาในอนาคต เพราะหากชุมชนมีความหนาแน่น น้ำในคลองประปาคงสกปรก หรือขนาดของคลองอาจเล็กเกินไป สมควรศึกษาว่าตามแนวใต้คลองประปาจะสร้างเป็นท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ได้หรือไม่ หรืออาจย้ายโรงกรองน้ำสามเสนไปไว้ที่โรงสูบน้ำสำแล เพื่อผลิตน้ำประปาส่งเข้าระบบท่อลอดใต้คลองประปา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมว่า ถนนคร่อมคลองประปาควรเป็นลักษณะโครงสร้างคร่อมคลองประปา โดยทั้งหมดเป็นผิวจราจร ไม่จำเป็นต้องมีช่องแสง เพราะน้ำไหลจึงไม่เน่า มีหน้าต่างด้านข้างเปิดปิดได้ ภายในมีช่องทางให้เดินเข้าไปดูแลรักษาคลองประปาอาจทำเป็นลักษณะถนนคร่อมคลอง 2 ชั้น ช่วงจากโรงกรองน้ำสามเสนถึงบางซื่อมีทางด่วนอยู่ข้าง ๆ ต้องปิดให้คลองประปาเป็นอุโมงค์ส่งน้ำเหมือนทุกเมืองในโลก

 

 

โครงข่ายจตุรทิศตะวันออก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรโดยเฉพาะชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ต้องประสบกับปัญหาการเดินทาง จึงได้มีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกันจัดทำโครงข่ายให้ถนนสายต่าง ๆ ระหว่างฝั่งตะวันออก ฝั่งตะวันตก ฝั่งเหนือและฝั่งใต้ เชื่อมถึงกันอย่างเป็นระบบ ภายใต้ชื่อ โครงการจตุรทิศ

 

 

โครงการก่อสร้างสะพานพระราม 8
เป็นหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาจราจรตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาการจราจรแออัดบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งทำให้เกิดการคับคั่งของจราจรบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครชั้นในบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งเชื่อมต่อกับฝั่งธนบุรีผ่านทางสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และเข้าบรรจบกับถนนจรัญสนิทวงศ์ เพื่อคลี่คลายปัญหาพื้นผิวการจราจรไม่เพียงพอและปรับปรุงการไหลเวียนของการจราจรในบริเวณนี้

 

 

โครงการพระราชดำริถนนคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี
เนื่องจากปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกสิรินธรทำให้ช่องทางการจราจรที่มีอยู่ 8 ช่องทาง ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พื้นที่ถนนที่เพิ่มขึ้น วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องเพิ่มพื้นผิวการจราจรให้มากขึ้น แต่การเพิ่มพื้นที่ในระดับราบนั้นกระทำได้ยาก เนื่องจากริมถนนทั้งสองด้านเต็มไปด้วย ตึก อาคาร และสำนักงานต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือ การเพิ่มพื้นที่จราจรด้วยการสร้างทางยกระดับขึ้นช่วงหนึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการจราจรได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โครงการฯ นี้เป็นโครงการหนึ่งซึ่งสนองพระบรมราโชบาย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาคุณให้พสกนิกร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัด จากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงทางแยกสิรินธร ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินการตามพระราโชบายโดยรอบคอบและเร่งด่วน เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจราจรในจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งตามพระราชประสงค์

 

 

โครงการก่อสร้างถนนเลียบรถไฟสายใต้ (สายบางกอกน้อย)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ช่วงเวลาเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลศิริราชเพียงไม่นานได้ทรงงานและทรงศึกษาสภาพพื้นที่บริเวณโดยรอบอย่างละเอียดจึงมีพระราชดำริว่า สามารถขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี จากช่วงปลายถนนอิสรภาพถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งสภาพเดิมจากปลายถนนอิสรภาพเข้าไปประมาณ 230 เมตร เป็นถนนคอนกรีต ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 380 เมตร เป็นที่ลุ่ม มีบ้านเรือน เพิงพักอาศัย และมีทางเดินตามแนวทางรถไฟจนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงแนวพระราชดำริในการตัดถนนสายนี้ตอนหนึ่งว่า “ต่อไปโครงการที่ 3 คือ สร้างทางในที่ที่ยังไม่มีทาง อันนี้เกิดขึ้นที่ใกล้สถานีบางกอกน้อยระหว่างสถานีบางกอกน้อย คือ ปลายถนนอิสรภาพเชื่อมกับถนนจรัญสนิทวงศ์"